บทเรียนราคาแพง


 

          วันที่    15  มิถุนายน  2550  ฉันและทีมงานซึ่งประกอบด้วย คุณสำรวย  ผัดผล  ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน  คุณถนัด  ใบยา  นักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดน่าน  คุณสุภาพ  สิริบรรสพ นักวิชาการสาธารณสุขโรงพยาบาลน่าน  คุณพยอม     วุฒิสวัสดิ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจังหวัดน่าน คุณภาคภูมิ  พรมสาร นักวิชาการเกษตรอำเภอเมืองน่าน คุณอนงค์  ตันติตระการวัฒนา  หัวหน้าศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีตำบลน้ำเกี๋ยน  คุณทัศนพงษ์  ระพีทัศนพันธ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาสังคมที่  25 คุณเพียรพิศ    ยะวิญชาญ  อาสาสมัครมูลนิธิฮักเมืองน่าน คุณอนงค์  อินแสง อาสาสมัครมูลนิธิฮักเมืองน่าน คุณพัชรี  กันละนนท์   อาสาสมัครมูลนิธิฮักเมืองน่าน  และคุณบัวตอง  จินะหล้า  อาสาสมัครศูนย์โจ้โก้ ซึ่งทั้งหมดเป็นคณะทำงานครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่านได้จัดการอบรมเพื่อถวายความรู้แด่พระวิทยากรตามแผนงานที่วางไว้

 

                วัตถุประสงค์ของการจัดการอบรมพระวิทยากรก็เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันปัญหาต่างๆมักจะมาจากครอบครัวเพราะสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยสังคมพื้นฐานกำลังประสบกับปัญหาจากการถูกกระทบด้วยปัจจัยสำคัญๆหลายๆประการถ้าหากว่าไม่ช่วยกันแก้ไขต่อไปความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวจะเสื่อมถอยลงก่อให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวในทางลบ และพระก็เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่มีศักยภาพในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้สังเกตได้จากการยอมรับของประชาชนที่เวลาพระเทศน์หรือให้ทำอะไรจะไม่มีการต่อต้านหรือปฏิเสธแต่อย่างใด

 

                การเรียนรู้ในวันแรกได้รับเกียรติจากอาจารย์สมเดช  อภิชยกุล   อาจารย์ใหญ่โรงเรียนนันทบุรีวิทยาเป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งท่านก็ให้ข้อคิดกับพระวิทยากรว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวและครอบครัวของพระก็คือวัดนั่นเอง ท่านจะต้องดูวัดของท่านก่อนว่าดีหรือเปล่าและการออกไปเป็นวิทยากรนั้นจะต้องขวนขวายหาความรู้อยู่ตลอดเพราะถ้าไม่ทำอะไรเลยก็จะเป็นวิทยากรที่ดีไม่ได้การเรียนรู้ในโรงเรียนเป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้นการจะให้ความรู้หรือข้อคิดกับคนอื่นถ้ามีทักษะหรือเทคนิคในตัวเองแล้ว ก็จะสามารถเป็นวิทยากรที่ดีได้ เพราะวัดก็เป็นที่พึ่งสำหรับคนที่มีปัญหาอยู่แล้ว

                 การทำกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของพระวิทยากร เพราะหลายๆรูปเป็นวิทยากรที่เก่งอยู่แล้วเพียงแต่เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ครอบครัวในปัจจุบันและการมีส่วนร่วมของพระกับชุมชนอีกเล็กน้อยเท่านั้น

                พระวิทยากรที่เข้ามาเรียนรู้ครั้งนี้มาจากหลายๆวัด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากวัดในพื้นที่โครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่านและจากจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยจำนวน  64  รูป

 

                กระบวนการเรียนรู้ตามกำหนดเรากำหนดไว้ 2 วันแต่เนื่องจากพระวิทยากรจากจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยมีภารกิจที่จะต้องเรียนหนังสือจึงลดเหลือเพียงวันเดียวและเดือนกรกฎาคม จะจัดทบทวนอีกครั้ง

                 ความคาดหวังของพระวิทยากรที่เข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้คือ                 ร้อยละ  80  %  ต้องการความรู้ใหม่ๆเพื่อนำไปปรับใช้กับชุมชน

                ร้อยละ  20  %  ต้องการได้เทคนิคและทักษะการเป็นวิทยากร

                 1   วันกับการทำงานกับพระนอกจากจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีแล้วฉันและทีมงานได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนคือเวลาพระฉันน้ำปานะหรือฉันเพลเสร็จแล้วทุกรูปจะนำภาชนะของตนเองไปล้างและเก็บไว้เรียบร้อย ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ฉันละอายแก่ใจมากเพราะที่ผ่านมาฉันไม่เคยทำแบบนั้นเลยและก็เปลี่ยนแนวคิดของตนเองที่เคยคิดว่าคนที่มาบวชเป็นพระ(ส่วนมาก) ไม่มีปัญหา ก็คงจะอกหักหรือขี้เกียจเท่านั้น แต่หลังจากฉันได้เห็นด้วยตาของตัวเองแล้วก็จะขอตั้งปฏิธานกับตัวเองว่าตั้งแต่นี้ไปจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่เพราะที่ผ่านๆมาฉันไม่เคยทำเป็นตัวอย่างที่ดีไม่สมกับเป็นวิทยากรกระบวนการเลย

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ฉันได้ฉุกคิดว่าการที่เราจะสอนให้คนอื่นทำตัวเราเองจะต้องทำเป็นตัวอย่างก่อน

  ศุภรัตน์    เสาร์แดน    คนเล่าเรื่อง

15  มิถุนายน  2550

หมายเลขบันทึก: 113702เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2007 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท