กระดูกสันหลังของชาติ


                ย่างเข้าช่วงฤดูฝนแล้วชาวนาก็เริ่มทำนากันบางคนกำลังหว่านกล้าบางคนกำลังจะไถต่างคนต่างทำงานของ           ตนเองฉันเองก็ต้องทำเหมือนคนอื่นเพราะเราทำเพียงไม่กี่วันเราก็จะมีข้าวไว้กินได้ทั้งปีแต่การทำนานั้นจะว่าเหนื่อยก็ยอมรับว่าเหนื่อยมากเพราะไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออกจะต้องทำเพราะถ้าหากทำช้ากว่าคนอื่นๆแล้วจะทำให้ข้าวเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆได้ง่าย

 

                วันที่  1  กรกฎาคม  2550 ฉัน ได้ไปร่วมเวทีบ้านถืมตอง ตำบลถืมตอง  อำเภอเมือง จังหวัดน่านกับคุณสุพัต  ขันตี เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบลถืมตอง คุณอนงค์  อินแสง  ผู้ประสานงานโครงการครอบครัวเข้มแข็ง น้องอู๋ อาสาสมัครจากศูนย์โจ้โก้ และคุณหมอคณิต  ตันติศิริวิทย์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่านและเป็นประธานโครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน ซึ่งพวกเราทั้งหมดก็เป็นคณะทำงานโครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน

 

                กิจกรรมดังกล่าวเป็นการพาน้องๆเยาวชนไปดูการทำนาตั้งแต่การหว่านกล้า การถอนต้นกล้า  การปลูก ว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างไรบ้าง

 

                แต่น่าเสียดายน้องเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมวันนั้นล้วนแต่เป็นลูกชาวนาทั้งนั้น แต่ไม่มีใครปลูกข้าวเป็นเลย ทำให้ฉันอดที่จะเป็นห่วงไม่ได้  จะเป็นเพราะว่าเยาวชนไม่สนใจหรือเพราะพ่อแม่ไม่เคยสอนหรือเปล่าก็ไม่รู้ ฉันเลยนึกย้อนดูตัวเองว่าฉันเองก็มีส่วนผิดอยู่เหมือนกันเพราะฉันก็เป็นชาวนาคนหนึ่งแต่ฉันไม่เคยสอนลูกเลยทั้งๆที่เป็นวิชาที่ไม่ต้องเสียเงินเพื่อลงทะเบียนเรียนเลยเรียนไปด้วยฝึกปฏิบัติไปด้วยโดยไม่ต้องไปจ้างครูที่ไหนเราต่างหากที่เป็นครูได้ดี

 

                ค่านิยมที่หวังอยากจะให้ลูกเรียนสูงๆมหาวิทยาลัยที่ดังๆ  จบออกมาแล้วมีงานทำไม่ต้องลำบากเหมือนตัวเอง  ฉันเองคิดว่าจะเป็นความคิดที่ผิดหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะบางคนเรียนจบแล้วต้องหางานทำตามบริษัทต่างๆในต่างจังหวัดจะเป็นงานอะไรก็ได้ และคนที่ตั้งใจทำงานก็พอจะมีเงินส่งมาให้ทางบ้านได้ใช้บ้าง แต่บางคนก็กลับสร้างหนี้สร้างสินมิหนำซ้ำยังเอาลูกมาให้ทางบ้านเลี้ยงอีกต่างหากหลายๆคนอยากกลับมาอยู่บ้านก็ไม่รู้ว่าจะมาทำอะไรถ้าจะทำไร่ทำนาตามบรรพบุรุษก็ทำไม่ได้เพราะตัวเองไม่เคยทำมาก่อนครั้นจะทำงานที่บริษัทตลอดก็ไม่ได้เพราะถ้าอายุมากแล้วก็จะถูกเลิกจ้างบ้านที่อยู่จะต้องเช่า ข้าวจะต้องซื้อและค่าครองชีพต่างจังหวัดกับบ้านเราจะแตกต่างกันมาก

 

                ฉันทำนาไปก็คิดไปด้วยว่าถ้าฉันมีนามากกว่านี้ฉันจะใช้นาของฉันเป็นที่ทำกิจกรรมสำหรับเยาวชน โดยชักชวนเยาวชนมาหัดทำนาตั้งแต่การเก็บเมล็ดพันธ์  การเตรียมแปลง การไถ การปลูก ตลอดจนการเก็บเกี่ยวโดยจะเน้นภูมิปัญญาดั้งเดิมและเพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกแก่เยาวชน ในอนาคตถ้าเรียนจบแล้วอยากจะให้เยาวชนเหล่านี้กลับมาแผ่นดินถิ่นเกิดไม่ได้ทำงานตามบริษัทหรือรับราชการก็สามารถกลับมาทำไร่ทำนาใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง กลับมาเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนรุ่นต่อๆไปด้วย

 

                คงจะเป็นทางออกที่ดีอีกแบบหนึ่งที่จะไม่ทำให้คนต้องไปแออัดอยู่ยังต่างจังหวัดและที่ดีไปกว่านั้นคือการได้อยู่กันแบบพี่แบบน้องมีความรักความอบอุ่นห่วงหาอาทรซึ่งกันและกันไม่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันแต่ ความฝันของฉันจะเป็นจริงได้หรือไม่ถ้าฉันยังเปลี่ยนความคิดของบรรดาพ่อแม่ที่ยังฝากความหวังลมๆ  แล้ง ๆ กับลูกๆของตนเองอยู่

 

                                                               เก็บมาฝากโดย

                                                                    ศุภรัตน์   เสาร์แดน   1 / 7 / 50
หมายเลขบันทึก: 113690เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2007 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท