ถอดความรู้จากการทำงานช่วง Tsunami: เกริ่นนำ และข้อตกลงในการอ่าน


“คุณหมอ ผมไปรบมาทั่ว ล่าสุดก็ที่อัฟกานิสถาน หนักที่สุดก็มีคนบาดเจ็บหลักร้อย แต่ที่นี่หลักพันและยังสามารถจัดการได้ใน 5วัน เราจึงต้องมาคุยกับหมอไง”
โดย นพ. ก้องกียรติ เกษเพ็ชร์

 

จากประสบการณ์บริหารจัดการการรักษาพยาบาลในช่วงเกิดเหตุการณ์ Tsunami ที่ภูเก็ต ซึ่งจะเข้าปีที่ 3 แล้ว มานึกทบทวน ก็เลยเกิดความคิดว่า ควรจะเขียนเป็นบันทึกไว้ เพื่อไว้ให้ตัวเองได้ทบทวนสิ่งทำ และอาจจะเป็นประโยชน์กับคนอ่าน

 

อ้นที่จริงการทบทวนนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ประมาณ 1 เดือน ผมได้มีโอกาสพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกองทัพอิสราเอล เป็นถึงนายพล และอีกสองท่านท่านหนึ่งเป็นศัลย์แพทย์ที่ได้รับแต่ตั้งให้ศึกษาเรื่องการจัดการ Tsunami และอีกท่านเป็นหมอชาวอังกฤษ สอนการจัดการกับวิกฤติ ทั้งสามท่านติดต่อมาขอพบกับผมและบอกว่าจะขอรบกวนเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อจะสอถาม ตอนนั้นบอกตรงๆว่านึกอะไรไม่ออก พอเขาให้นามบัตรก็เกิดอาการงง และถามกลับไปว่า

ท่านทั้งหลายครับ ดูจากนามบัตร อายุ และตำแหน่งของท่านแล้ว ผมควรจะเป็นผู้ถามจากท่านมากกว่าครับ

ท่านที่เป็นนายพลตอบว่า

คุณหมอ ผมไปรบมาทั่ว ล่าสุดก็ที่อัฟกานิสถาน หนักที่สุดก็มีคนบาดเจ็บหลักร้อย แต่ที่นี่หลักพันและยังสามารถจัดการได้ใน 5วัน เราจึงต้องมาคุยกับหมอไง

หมอไปศึกษาและอบรมมาจากที่ไหน จึงสามารถจัดการเรื่องนี้ได้

 

ก่อนที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ ผมมีคำเตือนดังต่อไปนี้

  1. นี่เป็นเรื่องเล่าจากการทำงาน ไม่มีทฤษฎี หรือ องค์ความรู้ใดมาอ้างอิง
  2. อย่าได้หลงคิดว่าผมเก่ง (อ้าว ชิงยอตัวเอง) ผมแค่ทำงานของผมไปเท่านั้น
  3. อย่าได้คิดว่าสิ่งที่ทำนี่ถูกต้อง สามารถเอาไปอ้างอิง เป็นหลักฐานทางวิชาการ
  4. อ่าน "เอาความคิด" อย่า "อ่านเอาเรื่อง"

 

ไม่ทราบว่าเข้าใจเจตนาผมหรือไม่ ผมเก็บเรื่องนี้มานานพอที่จะให้มันตกผลึกและนิ่งโดยที่ไม่มีอารมณ์ หรือความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมอยากเสนอว่า ผมใช้แนวคิดของผมตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ที่ผมมักถามอาจารย์ว่า คิดได้อย่างไร มากกว่าต้องการคำตอบ เช่น อาจารย์ผมบอกคนไข้คนนี้เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ผมไม่สนใจคำตอบ แต่ผมสนใจ วิธี ได้มาซึ่งคำตอบว่าอาจารย์คิดอย่างไร ประมวลข้อมูลอย่างไร ตัดสินใจอย่างไร เพราะเรื่องที่จะเขียนต่อจากนี้ เป็นเรื่องเล่าสิ่งที่เกิด ไม่ต่างอะไรที่เป็นบันทึกหรือประวัติ คุณค่ามีเท่านั้น แต่จะมีประโยชน์มากขึ้นหาก ผู้อ่านตั้งคำถามตลอดว่าทำไมคิดอย่างนั้น ซึ่งผมจะขยายความเพิ่มเติมในจุดหักเห และข้อถกเถียงที่เกิดในหัวผม เหมือนเป็นการเล่าว่าผมคิดอะไรในช่วงขณะ และเวลานั้น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า

        ที่บอกแบบนี้เพราะมีหลายครั้งที่คุยกับใครเรื่องนี้ แม้แต่ผู้รู้ทั้งสามท่านข้างบน มักจะจบลงด้วยบอกว่าผมน่าไปเขียนตำรา ผมเองก็คิดว่า เขียนไปเป็นเชื้อไฟหรือไง เพราะผมไม่ได้เก่งอะไร อาศัย เฮงที่คิดและเลือกการจัดการแบบต่างๆในช่วงเวลานั้น และด้วยเหตุนี้ เลยไม่มีนักวิชาการไทยท่านใดมาถามผมเหมือนกับผู้รู้ทั้งสามที่บินข้ามฟ้ามาเพื่อคุย 3 ชัวโมง

 


ผมเกริ่นไว้เท่านี้ก่อนให้ท่านทำความเข้าใจกับการนำเสนอ และเรื่องราวต่างๆจะทะยอยมาอย่างต่อเนื่องครับ

คำสำคัญ (Tags): #tsunami#crisis mamangement
หมายเลขบันทึก: 113566เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2007 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จำได้ว่า ตอนที่ได้ฟังวิธีการคิด การจัดการของคุณหมอวันที่ได้พบกันก็คิดเหมือนกันค่ะว่า อยากให้คุณหมอก้องเขียนเล่าเอง เพราะวิธีคิด วิธีการจัดการ ควบคุมสถานการณ์จนกระทั่งได้ผลออกมาอย่างที่เห็นนั้น น่าทึ่งมากนะคะ ตอนเอามาเขียนบันทึกก็ยังจำได้ถึงความรู้สึกนั้นค่ะ ดีใจที่คุณหมอก้องจะเอามาเล่าเองแบบนี้ จะรออ่านต่อค่ะ

เรื่องนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่หาไม่ได้อีกแล้วสำหรับเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งเป็นไปได้แน่นอนว่า อาจจะเกิดขึ้นอีก ณ.ที่ใดๆก็ได้ในโลก โดยเฉพาะในสภาพที่เราเห็นๆกันอยู่แล้วว่าโลกแปรปรวนเพราะสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายในปัจจุบัน ไม่น่าแปลกหรอกค่ะที่คุณหมอโดนติดตามมาข้ามประเทศแบบนี้

มาช่วยยืนยันอีกคนค่ะว่า กระบวนการคิด การวางแผน การแก้ปัญหาที่คุณหมอทำไปในเหตุการณ์นั้น มีคุณค่ามหาศาลค่ะ จะเป็นบทเรียนที่สอนอะไรๆให้กับทุกๆคนได้อย่างมากมายทีเดียวล่ะค่ะ 

จะรอติดตามอ่านเพื่อเรียนรู้วิธีคิด วิธีมองปัญหาต่อไปแน่นอนค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท