HR Value Proposition : สร้างคุณค่าไปทำไม


  

                ปัจจุบันนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีอยู่มากมาย  แต่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จในหน้าที่และบทบาทของตน ทั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถส่งมอบคุณค่าผ่านผลงานของตนสู่มือของผู้รับผลงานได้  จึงเกิดคำถามขึ้นมามากมายว่าแล้วนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มืออาชีพนั้นควรมีบทบาทและความสามารถในเรื่องใดบ้าง

                จากการศึกษาพบว่าปัญหาของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือผู้บริหารมองไม่เห็นความสำคัญ ส่วนตัวนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เองก็ยังไม่ชัดเจนในภาพลักษณ์ของตน   (ผู้จัดการรายสัปดาห์, 2548)  เดฟ อัลริช  (Ulrich, D. อ้างถึงใน  เทอดทูน ไทศรีวิชัย, (ม.ป.ป.)  กล่าวว่า เหตุผลที่นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่สามารถเป็นมืออาชีพได้นั้นก็เพราะส่วนใหญ่จะเข้ามาทำงานด้านนี้เพราะ ชอบที่ได้ทำงานกับคน แต่ เดฟ อัลริช ให้มุมกลับไว้ว่า  จริงๆแล้วนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่องค์กรไม่ได้มีหน้าที่ในการมุ่งเน้นให้พนักงานได้รับความสะดวกสบายจากการเป็นพนักงานเท่านั้น   แต่นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องทำให้พนักงานเป็นผู้ที่มีความ สามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่ง เดฟ อัลริช  ได้เขียนไว้ใน “HR Champions” เมื่อปี 1997 ว่า  ความท้าทายอย่างหนึ่งที่นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องฝ่าฟันเพื่อประสบความสำเร็จในการเป็น “HR Champions”  คือ  “HR Value Proposition”  นั่นคือนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องสามารถสร้างคุณค่าให้กับองค์กรได้  สามารถเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานเข้ากับธุรกิจต่างๆขององค์กรได้  ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการลูกค้า การทำงานและธุรกิจทั้งหลายให้ทันตามที่กำหนด การทำกำไรให้กับองค์กร หรือการสร้างให้เกิดความพึงพอใจกับผู้ลงทุน  การที่นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะสร้างและส่งมอบคุณค่าได้นั้น  นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสถานะของตนเองไปตามแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมของโลกที่ให้มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้น้อยแต่หวังผลมาก ในขณะที่หน่วยงานก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสถานะของตนเองให้เป็นไปตามความคาดหวังของลูกค้าทั้งภายในและภายนอกองค์กร   วิธีการหลักในการเปลี่ยนสถานะเพื่อสร้างและเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง (create and add value) ก็โดยการเปลี่ยนวิธีจัดการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เปลี่ยนโครงสร้างของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และเปลี่ยนสมรรถนะหรือความสามารถของนักบริหารทรัพยากรบุคคลให้เอื้อต่อการส่งมอบคุณค่าให้กับผู้รับผลงาน และสิ่งที่ต้องระวังก็คือเมื่องานธุรการของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เริ่มถูกลดให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้หรือการให้หน่วยงานนอกมาทำแทน (outsourcing) สิ่งที่เหลือสำหรับนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องสรรสร้างขึ้นก็คือการเพิ่มคุณค่าดังกล่าวนั่นเอง   การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่สามารถสร้างและส่งมอบคุณค่าได้ก็จะเป็นงานที่ไร้ค่าไปโดยปริยาย 

...........

โดย คนึงนิจ อนุโรจน์

10 กลยุทธ์ก้าวขึ้นสู่ HR มืออาชีพก้าวขึ้นสู่ HR มืออาชีพ. (2547, พฤศจิกายน 26). ผู้จัดการรายสัปดาห์, หน้า ไม่ระบุ.

กูรูชี้ปัญหา 'เขาวงกต' HR มืออาชีพ. (2548,   กุมภาพันธ์ 4). ผู้จัดการรายสัปดาห์, หน้า ไม่ระบุ.

เทอดทูน ไทศรีวิชัย. (ม.ป.ป.). HR Champions ถึง The HR Value Proposition. ค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2550, จาก  http://terdtoon.com/hr_coffee_corner_ulrich.htm

หมายเลขบันทึก: 113425เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2007 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท