วัยวุฒิ และวิวัฒนาการขององค์กร


เวลาเราพูดคุยกับคนที่มาจากองค์กรอะไรก็แล้วแต่ เราสามารถเดาได้คร่าว ๆ ว่าองค์กรของเขา มีวัยวุฒิขนาดไหน

ใช้คำว่า วัยวุฒินี่ ฟังแล้วดูดีครับ

[...อย่างเช่น เจอนักศึกษาจบไปทำงานได้ปี-สองปี เจอหน้ากันแล้วผมรู้สึกว่าเขาชักจะมีการ "เทียบรุ่น" กับผมได้ เช่น เห็นริ้วลายหงสบาทบนหน้าชัด เริ่มมีหงอกแซม (กินเหล้าเยอะ) ผมก็จะชมว่าเขา ดูดี สุกงอมด้วยวัยวุฒิขึ้นจมเลย ส่วนใหญ่เขาฟังก็มักหัวเราะขวยเขินกัน ไม่ค่อยโกรธคนแก่อย่างผมเท่าไหร่..]

ที่เดาได้ เพราะวัยวุฒิ เกิดจากวิวัฒนาการ

องค์กรเอง มักมีลำดับวิวัฒนาการ ไม่ต่างจากคน สังคม หรือประเทศ ซึ่งผมลองประมวลดู ก็คงเห็นภาพทำนองนี้

  • ตอนก่อตั้งใหม่ ๆ คนน้อย รู้จักกันหมด ทำงานร่วมกัน กลมเกลียวกันดี
  • พอคนเริ่มมีอินทรีย์แก่กล้า ก็มักจะเริ่มเหินห่างกัน เริ่มสงวนท่าที มีอาณาเขตของตัวเอง แต่ขั้นนี้ ยังไม่ได้มีปัญหา
  • พออินทรีย์แก่กล้าได้ที่ ก็จะเริ่มมีการทะเลาะเบาะแว้ง ตอนนี้ จะเป็นระดับคนต่อคนก่อน
  • ถัดมา ก็จะเริ่มเกิดการรวมกลุ่ม เพื่อ minimize free energy ซึ่งตอนนี้ อาจเริ่มเกิดการทะเลาะระดับกลุ่มกันขึ้น
  • ช้าหรือเร็ว ต้องมีการทำสงครามระหว่างกลุ่ม โดยมีสเกลรุนแรงหลากหลาย เหมือนริคเตอร์สเกล ที่ใช้ประเมินความแรงแผ่นดินไหว คือเป็นไปตาม power law นั่นคือ ศึกใหญ่มีน้อย ศึกเล็กมีบ่อย
  • ในกรณีที่คนกลางที่กุมระดับนโยบายองค์กร ให้ความเป็นธรรมดี ศึกระหว่างก๊ก มักเป็นศึกเฉพาะกิจ จบแล้วก็จบเลย ไม่มีผลตกค้างมาก
  • แต่ถ้าไม่ จะเริ่มเกิดการแหกกฎ เกาะกลุ่มแย่งผลประโยชน์
  • ถ้ามีปัญหาเรื่องการเกาะกลุ่มเชิงผลประโยชน์แบบไม่เป็นธรรม ก็จะเกิดการประกาศอาณาเขต "ห้ามหมาผ่าน" คือมีการใช้ฟีโรโมนแบ่งอาณาเขต ซึ่งแบบนี้ ก็จะเกิดสงครามยืดเยื้อ แย่งอำนาจ ทั้งแบบลับหลังและซึ่งหน้า ถึงขั้นล่มสลายได้ในขั้นนี้
  • ผ่านขั้นนี้ไปอีกระยะ หลังจากคลี่คลายวิกฤติ จะเริ่มเกิดสันติภาพแบบคนที่โตเต็มที่ มีความสุกงอม จะย้อนกลับไปหนึ่งก้าว คืออาจเกาะกลุ่มกันหลวม ๆ แต่อยู่ตามกฎ ถือว่า โตเต็มวัย
  • ผ่านไปอีกขั้น ก็จะเป็นขั้นที่ถึงขั้น วิทยายุทธลึกล้ำ แต่บรรยากาศจะผ่อนคลาย

สิ่งเหล่านี้ เป็นพล็อตน้ำเน่าที่เราคงเลี่ยงไม่ได้ ขึ้นกับว่า เราดันไปอยู่ตรงลำดับขั้นไหนของวิวัฒนาการ

อยู่ตอนต้นไปเลย ตอนปลายไปเลย ถือว่าเป็นโชค

ตอนกลาง ๆ นี่ ลำบากหน่อย เพราะมี กฎของป่า ให้เรียนรู้เยอะ เรียนรู้เร็ว ก็จะอยู่ตรงยอดของห่วงโซ่อาหาร เรียนรู้ช้า ก็จะโดนทักทาย "Welcome to my food chain !"

แต่ในองค์กรนี่ เป็น recursive function คือมักมีองค์กรซ้อนองค์กร หลั่นเรียงชั้นลงไป และแต่ละชั้น ก็มีระดับวิวัฒนาการที่แตกแขนงแยกขาดออกไปจากกัน คืออาจมีองค์กร at war ที่ซ้อนอยู่ในองค์กร at peace หรือกลับกันก็ได้ โดยองค์กรระดับมหภาค ก็แสดงพฤติกรรมโดยเฉลี่ยของระบบออกมา

ปัจจัยเร่งข้อแรก คงอยู่ที่ความแฟร์ ความเป็นกลาง ของคนชี้กลางที่คอยชี้ขาด ที่จะคอยเกลี่ยความเป็นธรรม

และอีกข้อ คือตัวคนในองค์กรเองด้วย ว่ารู้จักคุมสติตนเองได้แค่ไหน

ถ้ามีคนกลางดี องค์กรอาจข้ามขั้น ไปโตสุกงอมได้ ...  ถ้าโชคดีถึงขนาดนั้นนะ

ใครฝันหวานว่าข้ามขั้นนี่ทำง่าย ระวังนะครับ ว่าตัวเองคิดแบบนกกระจอกเทศหลบพายุทรายหรือเปล่า

คำสำคัญ (Tags): #สังคม#องค์กร
หมายเลขบันทึก: 112634เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2007 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
รู้สึกเข้าใขถึงสภาพองค์กรที่เป็นแบนั้นอย่างดี เพราะที่องค์กรค์ของดิฉันก็มีคนประเภทนี้อยู่เหมือนกัน แต่โชคยังดีที่มีเป็นเพียงส่วนน้อย ตอนนี้ก็กำลังช่วยๆกัน ปรับคนส่วนน้อยให้เหมือนคนส่วนใหญ่ ก็อาจต้องใช้เวลาและทำได้ยากพอสมควร เพราะคนเหล่านี้ล้วนแต่แก่ซึ่งพรรษาแล้วทั้งนั้น...เฮ้อ!
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท