เมื่อโลกร้อน...ฤาจะสายเกิน


โลกร้อน
เมื่อโลกร้อน...ฤาจะสายเกิน  
  สุวรรณา  จิตรสิงห์  
     
  เมื่อต้นเดือน ธันวาคม 2549 ได้เห็นข่าวว่าแหล่งเล่นสกีบนเทือกเขาแอลป์ในยุโรป ปีนี้ไม่มีหิมะตก พื้นดินไม่ขาวโพลนเช่นทุกปี แต่กลับเป็นสีหญ้าแห้ง ข่าวแจ้งว่าเป็นสภาพที่แห้งแล้งที่สุดในรอบปี 1300 ปี  
     
  สภาพแวดล้อมผันแปร  ไปเช่นนี้ส่อเค้าที่น่าเป็นห่วงที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมวลมนุษย์ชาติ  นักวิทยาศาสตร์ต่างจับตามองหลักฐานหรือร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกเพื่อทำนายอนาคตของสภาวะแวดล้อมโลกอย่างใกล้ชิด  
     
 
 
 
พฤษภาคม  2549  ประชาคมจาก  165  ประเทศทั่วโลกได้ประชุมสมัชชาที่กรุงบอนน์  เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการปกป้องสภาวะแวดล้อมโลก  ที่ขณะนี้กำลังคุกคามทุกประเทศไม่ละเว้นเพราะผลพวงจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งจากประเทศที่พัฒนา  ประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา  เพราะเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม  เศรษฐกิจการค้า  เศรษฐกิจและอื่น ๆ  ในการประชุมครั้งนี้ต่างเรียกร้องและมีข้อตกลงให้มีการใช้เทคโนโลยีสะอาดมามาทดแทนเพื่อลดมลภาวะลง
 
 
     
  IPCC  (Internationnal Panel on Climate Change)  ทำนายว่าโลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น  1.5-4.5  องศาเซลเซียสหากมนุษย์ยังมีพฤติกรรมการบริโภคเช่นนี้  ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นเป็น  2  เท่าในบรรยากาศ  ในปี  ค.ศ.  2080  ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นจากระดับน้ำลงต่ำที่  9  เซนติเมตร  เป็น  48  เซนติเมตร  และระดับน้ำสูงขึ้นที่  16  เซนติเมตรเป็น  69  เซนติเมตร  ซึ่งจะทำให้น้ำทั่วชายฝั่ง  เกาะต่าง ๆจะจมน้ำมากขึ้น  
     
  ผลกระทบจากการที่อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเพราะฝีมือมนุษย์นั้นมาอย่างรวดเร็วมาก  ในความเป็นจริงแล้วต้องใช้เวลานาน  1000-2000 ปี  อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้น  1-2  องศาเท่านั้น  แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นเพราะภาวะเรือนกระจกที่เปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศ  เราอาจแบ่งผลกระทบโลกร้อนออกได้  6  ประเด็น  หลักๆดังนี้  
     
 
1. ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น (Sea Level Rises)
 
  เมื่ออุณหภูมิของอากาศร้อนขึ้น  ส่งผลให้น้ำทะเลอมความร้อนไว้และแผ่ความร้อนกระจายไปน้ำทะเลขั้วโลก  น้ำแข็งละลาย  น้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ  ในอดีต100ปี  ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น  1-2  เซนติเมตร  แต่ปัจจุบันระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  เพราะธารน้ำแข็งและภูเขาน้ำแข็งละลายเร็วมาก  จากการสำรวจในอลาสกาพื้นที่น้ำแข็ง  500  ตารางไมล์ละลายหมดสิ้นในเพียง  50  ปี  เท่านั้นเนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้น  2.5  องศาเซลเซียส  และที่เกาะ  Tuvaul  ในแปซิฟิกและเกาะใกล้เคียงกำลังจมน้ำ  เช่นเดียวกัน  บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาจังหวัดสมุทรปราการ  มีชุมชนที่อาศัยบริเวณปากแม่น้ำกำลังจมอยู่ใต้น้ำทะเล  หากน้ำแข็งขั้วโลกยังคงละลายในอัตราเช่นนี้ทำนายว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้น  5-6  เมตรในอนาคต
   
2. ชายฝั่งถูกกัดเซาะ (Erosion)
 
  เนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น  รุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินกัดเซาะชายฝั่งและส่งผลต่อสภาพดิน  ทำให้เพาะปลูกไม่ได้เพราะดินเค็ม
3. น้ำท่วม  (Flood)
 
  เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น  ย่อมทำให้น้ำทะเลระเหยมากขึ้น  ก่อให้เกิดเมฆจำนวนมากและฝนย่อมตกหนัก  พายุที่พัดจะมีความรุนแรงมากทวีคูณ  เช่นเหตุการณ์ที่เกิดในประเทศจีน  บังคลาเทศ  เวเนซูเอล่า  อเมริกา  ไทย  ฟิลิปปินส์  น้ำท่วมแต่ละแห่งรุนแรงกว่าในอดีตและทำนายว่าจะท่วมนานมากขึ้น  ทำลายชีวิต  ทรัพย์สินและทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น
   
4. ด้านการเกษตร  (Agriculture)
 
  โลกร้อนส่งผลให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตน้อยลง  ตัวอย่างเช่นข้าวที่เคยออกรวงเมื่อได้รับช่วงแสงที่เหมาะสม  ก็ไม่สามารถให้เมล็ดข้าวได้เต็มที่  ชาวนาที่เกี่ยวข้าวได้น้อยลง  ประชากรโลกจะอดอยากขาดแคลนอาหารมากขึ้นในอนาคต
 
5. ด้านสัตว์ป่า  (Wildlife)
 
  จากการศึกษาของ  WWW.  พบว่าภาวะโลกร้อนทำลายห่วงโซ่อาหารของสัตว์ป่าและสัตว์ทะเล  แพลงตอนลดลง  สัตว์ทะเล  เช่นแมวน้ำ  สิงโตทะเล  นกทะเล  นกเพ็นกวินลดจำนวนลง  สัตว์ป่าบางชนิดก็สูญพันธุ์ไป  เพราะวงจรชีวิตเปลี่ยนแปลงและปรับตัวไม่ได้
   
6. ด้านสุขภาพ  (Health)
 
  ผู้คนจะเจ็บป่วยมากขึ้นเพราะปัญหาอากาศอบอ้าว  ที่ร้อนขึ้น  ในปีที่ผ่านมาคนในยุโรป  และอินเดียล้มตายลงเป็นจำนวนมากเพราะคลื่นความร้อนที่พัดผ่าน  คนจะป่วยเป็นโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้น  และเจ็บป่วยจากสภาพที่อยู่อาศัยที่ไม่ถูกต้องกับสภาพแวดล้อม  การคัดเลือกหาวัสดุก่อสร้างบ้านต้องปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้เหมาะสม
 
     
  จะเห็นว่าปัจจุบัน  โลกร้อนไม่ใช่เรื่องธรรมดาเสียแล้วเป็นเรื่องระดับโลก  หลายทวีปฤดูกาลเปลี่ยนผันไป  ในออสเตรเลียปีนี้ร้อนมากที่สุดในรอบ  100  ปี  เกิดไฟป่ารุนแรงที่สุดในรอบ  70  ปี  ในยุโรปแล้งมากที่สุดในรอบ  1300  ปี  ประเทศไทยร้อนมากเกิน  43  องศาเซลเซียส  ในปีที่ผ่านมาซึ่งไม่เคยเกิด     มาก่อน  ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องตระหนก  ตระหนักร่วมกัน  นอกจากการปรับตัวให้ทนกับสภาพภูมิอากาศแล้ว  ยังจะต้องช่วยกันลดภาวะโลกร้อนลง  ต้องลด  ละ  เลิก  กิจกรรมในชีวิตประจำวันลง  เช่นการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างฟุ่มเฟือย  หันมาใช้พลังงานให้น้อยลง  ใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น  (พลังงานลม  แสงแดด  น้ำ  ความร้อนใต้พิภพ  นิวเคลียร์)  คิดค้นเทคโนโลยีสะอาดแทนที่เทคโนโลยีปัจจุบันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวันเสียใหม่  เช่น  เปิดเครื่องปรับอากาศเมื่อจำเป็นเท่านั้น  ต้มน้ำเท่าที่ต้องการใช้  ปิดทีวี  คอมพิวเตอร์  เครื่องเสียง  เครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้งาน  อย่าเปิดประตูห้องแอร์ทิ้งไว้  ทิ้งอาหารให้เย็นก่อนนำเข้าตู้เย็น  ปิดม่านเพื่อกันแสงแดดส่อง  ตากผ้าด้วยแสงแดดดีกว่าเข้าเครื่องอบผ้า  และปลูกต้นไม้รอบ ๆ  บ้าน  ฯลฯ  
     
 

โลกร้อน...จะสายเกินไปหรือไม่ ???  มันอาจจะสายเกิน  หากเราท่านทุกคนไม่ร่วมมือกันพิทักษ์โลกใบนี้

หมายเลขบันทึก: 112511เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2007 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น้ำป่าจากเขาใหญ่ ท่วมภาคอีสานเพราะฝนตกหนัก 4-5 วันติดต่อกัน (ต.ค.2553) สาเหตุมาจาก โลกร้อน หรืออิทธิพลของลานิลญ่า พวกเรา ควรที่จะช่วยกันปลูกต้นไม้ ลดโลกร้อน ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท