สอนลูกให้จับปลา


เมื่อปี 2545 โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน  ด้วยนวตกรรม การสอนด้วยกระบวนการวิจัย  การดำเนินงานในครั้งนั้นได้เกิดบรรยากาศใหม่และจุดประกายความคิดของครูในการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้  ครูในรุ่นแรก ที่นำนวตกรรมนี้ไปใช้  เราต่างเรียนรู้ไปพร้อมกัน  มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานเป็นระยะๆ  มาถึงวันนี้ครูของเราก็ยังคงใช้นวตกรรมนี้พัฒนาผู้เรียน  จากการทำงานร่วมกันหลายปีทำให้พบว่า  ครูของเรามีเทคนิคในการทำงานของตนให้สำเร็จในรูปแบบที่ต่างกัน  เนื่องจากผู้เรียนที่ครูคลุกคลีด้วยเป็นบุคคลที่มีวัยต่างๆ กัน  แต่ส่วนที่เหมือนกันเกี่ยวกับการสอนด้วยกระบวนการวิจัย  หรือการสอนให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ด้วยกระบวนการวิจัย  คือ

          ประการแรก  การเร้าความสนใจให้ผู้เรียนมีความอยากรู้  อยากหาคำตอบ  ลำดับต่อไปเป็นบทบาทที่สำคัญของครู  คือ  การใช้คำถามอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการคิดของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ จนสามารถเห็นแนวทางในการไปแสวงหาคำตอบ  เช่น 

-         นักเรียนต้องการรู้อะไร-         รู้เพื่ออะไร

-         จะไปทำอะไร  ที่ไหน  และอย่างไร

-         ถ้าทำตามวิธีที่คิดไว้แล้วไม่ได้คำตอบ  นักเรียนจะทำอย่างไรต่อไป  หรือถ้าจะพัฒนา

-         ให้งานค้นคว้าชิ้นนี้สมบูรณ์ขึ้น จะสามารถเพิ่มเติมหรือดัดแปลงอย่างไรได้บ้างคำถามต่อเนื่องเหล่านี้  จะกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดอย่างเป็นระบบ   ครูไม่ควรนำเรื่องของรูปแบบการเขียนรายงานหรือการจัดทำเอกสารมาทำให้ผู้เรียนขาดจินตนาการและสะดุดความคิดสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ  การชี้ประเด็นให้ผู้เรียนเห็นว่า งานวิจัย ไม่ใช่การเขียนข้อมูลขึ้นเอง  ข้อมูลต้องเชื่อถือได้  กล่าวคือ  ต้องเป็นข้อมูลจริง  มาจากแหล่งข้อมูลที่สืบค้นได้  มีจำนวนข้อมูลมากพอที่จะสรุปได้  เป็นต้น  บทบาทของครูนอกจากช่างซักช่างถามให้ผู้เรียนคิดอย่างต่อเนื่องแล้ว   ครูต้องติดตามการทำงานของผู้เรียนอย่างใกล้ชิด  มีการเสริมแรงหรือกระตุ้นเป็นระยะๆการฝึกให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ด้วยกระบวนการวิจัย  ไม่ใช่เรื่องที่จะบอกวิธีทำเป็นข้อๆ 1-2-3  แล้วนักเรียนจะทำได้เลย  แต่ครูต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์  ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ ความเป็นครู อีกบทหนึ่ง  ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการสอนด้วยกระบวนการวิจัย  ไม่ใช่ชิ้นงานหรือรูปเล่มที่ผู้เรียนนำส่ง  แต่คือกระบวนการที่ถูกปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก  ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ว่าแฝงอยู่ส่วนใดของร่างกาย  แต่กระบวนการดังกล่าวจะซ่อนอยู่ในตัวเด็กและสามารถถูกดึงออกมาใช้ได้ตลอดชีวิตไม่มีวันหมด  ยิ่งถูกดึงออกมาใช้มาก  ก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น  และเป็นการสนับสนุนคำกล่าวที่ว่า

 ถ้าท่านสอนวิธีจับปลาให้เขา  เขาจะมีปลากินตลอดชีวิต

ครูนันทา  ชุติแพทย์วิภา

โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ 
 
หมายเลขบันทึก: 111972เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท