เรื่องเล่า ใครคิดว่าไม่สำคัญ


ครูผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนเจตคติของนักเรียนที่มีต่อวิชาสังคมศึกษาฯในเชิงลบได้ด้วยตัวครูเอง โดยการเล่าเรื่อง
                   เมื่อโรงเรียนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษาใหม่   ดิฉันต้องรับช่วงนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ผ่านการเลื่อนชั้นมาเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบ  เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อนักเรียนผ่านการเลื่อนชั้นเรียนขึ้นมา  จาก ป. 1 ป. 6  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของวิชาสังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรมจะค่อยๆลดลงๆทุกทีๆ  ถ้าหากผู้สอนลองสำรวจเจตคติของนักเรียนในวิชาสังคมศึกษาฯ  จะพบว่ามีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่หาญกล้าแสดงตนออกมาว่าไม่ชอบเรียนวิชานี้  โดยให้เหตุผลต่างๆนานา  เช่น เนื้อหามากเกินไป  เนื้อหาซ้ำซ้อนซ้ำซาก นักเรียนขี้เกียจอ่าน  งานเยอะแยะทำไม่ไหว  เรียนไม่สนุก น่าเบื่อ นักเรียนไม่เห็นความสำคัญ  ครูดุ  ครูจู้จี้ขี้บ่น ไม่ชอบครูผู้สอน ฯลฯ  ถึงแม้ครูผู้สอนจะพยายามจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ถึงขั้นพลิกตำราครูมืออาชีพ งัดทฤษฎีต่างๆเข้ามาจัดการเรียนรู้  เพื่อพัฒนาผู้เรียน แต่ก็ไม่ทำให้เกิดการพัฒนาด้านการเรียนดีขึ้นกว่าเดิมมากนัก                      แล้ววันหนึ่งดิฉันก็ค้นพบโดยบังเอิญว่า  ครูผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนเจตคติของนักเรียนที่มีต่อวิชาสังคมศึกษาฯในเชิงลบได้ด้วยตัวครูเอง โดยการเล่าเรื่อง  เมื่อจบการเรียนการสอนในแต่ละภาคเรียน  ดิฉันจะให้นักเรียนรวบรวมผลงานทำแฟ้มสะสมงาน และให้นักเรียนประเมินผลงานโดยตนเอง - เพื่อน  - ผู้ปกครอง  ครูผู้สอนแล้ว  ดิฉันให้นักเรียนแสดงความรู้สึกที่มีต่อวิชาสังคมศึกษาฯอย่างเปิดกว้างเต็มที่ ( ครู/ การเรียนการสอน ) มีนักเรียนจำนวนมากเขียนแสดงความรู้สึกว่าชอบเรียนวิชาสังคมศึกษาฯมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม  โดยให้เหตุผลว่า เมื่อครูผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ การให้สืบค้นผู้สอนมีเรื่องเล่า เกร็ดความรู้ ข้อมูล ตำนาน ประสบการณ์ตรงของครูสอดแทรก เพิ่มเติม และเชื่อมโยงสู่เนื้อหาสาระในบทเรียนทำให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจที่คงทน การเล่าเรื่องกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนทำให้ อยากรู้ อยากฟัง อยากเรียน อยากสืบค้นเพิ่มเติม ผู้เรียนรู้สึกมีความสุขและสนุกในขณะเรียน ไม่เครียด ดังนั้นเรื่องเล่ายังนำไปสู่การซักถาม  อภิปราย แสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ เพื่อประมวลเชื่อมโยงไปสู่เนื้อหาสาระการเรียนรู้                      ผู้สอนจึงได้แนวคิดว่าในการจัดการเรียนรู้ครูผู้สอนเป็นสื่อที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ครูต้องทำตนให้มีชีวิตชีวา เป็นผู้สร้างบรรยากาศ สร้างสีสัน เป็นขุมข้อมูลความรู้ให้แก่นักเรียน ไม่ใช่ป้อนความรู้ให้เพียงอย่างเดียว การให้นักเรียนสืบค้นแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และมีครูช่างเล่าที่มีเทคนิคการเล่าที่ดี เป็นแหล่งข้อมูล เกร็ดความรู้   สอดแทรก  เพิ่มเติม  เชื่อมโยงสู่เนื้อหาในการเรียนรู้ทำให้นักเรียนรู้ลึกรู้กว้าง รู้คงทนมากยิ่งขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้นและมีเจตคติที่ดีต่อวิชาสังคมศึกษาฯ

                       ครูผู้สอนต้องไม่กลัวการวิจารณ์ของนักเรียน   การสำรวจเจตคติหรือการแสดงความรู้สึกที่เปิดกว้าง  จะทำให้ครูรับรู้ถึงความต้องการซึ่งจะได้นำไปใช้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนของครูและกระบวนการเรียนการสอนซึ่งนับว่าเป็นการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนพึงพอใจในการรับบริการ ก่อให้เกิดเจตคติที่ดีในการเรียน เมื่อนั้นผลสัมฤทธิ์ในการเรียนที่ดีจะตามมาในภายหลัง

                                                                                                                      พรทิพา   คำแหง

โรงเรียนพระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง  สิงหเสนี)
หมายเลขบันทึก: 111905เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท