นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ยกเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางเลือกในการพัฒนา


 Amartya Sen

วานนี้ (12 กรกฎาคม) ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ Amartya Sen แทน อ.ปัทมาวดี ในโอกาสที่ท่านเดินทางมาเข้าร่วมประชุมนานาชาติในประเทศไทย เรื่อง “ทางเลือกในการพัฒนาและเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

เซน ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “Capability Approach” (แนวการพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับสมรรถภาพของมนุษย์) ด้วยข้อเท็จจริงที่มนุษย์แต่ละคนมีสมรรถภาพไม่เท่ากัน การมีชีวิตที่ดี (Well-Being) ของคนแต่ละคนในสังคมจึงมีขีดระดับที่แตกต่างกัน การให้ความสำคัญที่การพัฒนาความสามารถของมนุษย์เพื่อให้เขาเหล่านั้นบรรลุซึ่งสมฤทธิภาพ (Achievement) ในด้านต่างๆ จะเป็นหนทางที่ดีกว่าการมุ่งพัฒนาโดยให้ความสำคัญเรื่องผลผลิต รายได้ และความมั่งคั่ง หรือแม้กระทั่งเรื่องความพึงพอใจหรือความสุขที่ได้รับ ตัวอย่างเช่น การเสริมสร้างศักยภาพผู้พิการให้มีความสามารถในการทำงานบางอย่างได้เช่นคนปกติทั่วไป แทนที่จะเป็นการให้สวัสดิการหรือเงินยังชีพ หรือการสร้างความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคมด้วยการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในเชิงสร้างสรรค์ ที่จะเลือกกระทำในสิ่งต่างๆ ได้ตามความสามารถ แทนการให้คุณค่าแก่ความสุขด้วยการตอบสนองทางวัตถุ หรือความสุขที่เกิดจากการเบียดเบียนผู้อื่นและธรรมชาติ
 
เซนได้เน้นถึงประเด็นของมนุษย์ในเชิงของการให้คุณค่า (Valuation) ที่สะท้อนออกมาจากพฤติกรรมที่แตกต่างกันตามสมรรถภาพ และประเด็นของระบบในเชิงสถาบัน (Institution) ที่ต้องเอื้อต่อการพัฒนาสมรรถภาพของมนุษย์ การใช้ตัวชี้วัดของการพัฒนา เช่น ดัชนี GNP มิใช่เครื่องมือที่จะนำไปสู่จุดหมายของการพัฒนาได้

แนวการพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับความสามารถของแต่ละปัจเจกนี้ หากเทียบกับแนวคิดเรื่องความพอเพียงแล้ว เซนได้ขยายความว่า มิได้หมายถึงความเพียงพอในสิ่งต่างๆ ที่ตนเองได้รับเท่านั้น แต่เป็นความเพียงพอในความสามารถที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้ตามอัตภาพของตนด้วย พร้อมกับได้กล่าวเสริมว่า การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ จะต้องมีการแปลงให้เป็นกลยุทธ์ หรือวิธีการ ซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงในระดับปัจเจกเท่านั้น แต่บทบาทของรัฐในการเป็นผู้ปฏิบัติ ก็มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

ที่น่าสนใจคือการนำเสนอกลยุทธ์เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Strategy) ที่มีความข้องเกี่ยวกับ Capability Approach ซึ่งจะต้องกลับไปถอดเทปอย่างสมบูรณ์ ก่อนจะเล่าได้อย่างไม่ผิดเพี้ยนครับ

หมายเลขบันทึก: 111367เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2007 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 12:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท