การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว


เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ไม่เคยมีการดำเนินงานมาก่อน แต่หากเป็นนักวิชาการศึกษา และศึกษานิเทศก์ จะทราบว่าก่อนที่จะมีกฏกระทรวงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว มีครอบครัวจำนวนหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะให้ลูกเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีกฎเกณฑ์ให้เด็กปฏิบัติตามเหมือนกันหมดทุกคน
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ไม่เคยมีการดำเนินงานมาก่อน    แต่หากเป็นนักวิชาการศึกษา และศึกษานิเทศก์  จะทราบว่าก่อนที่จะมีกฏกระทรวงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว  มีครอบครัวจำนวนหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะให้ลูกเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีกฎเกณฑ์ให้เด็กปฏิบัติตามเหมือนกันหมดทุกคน 

เช่นต้องเข้าเรียน  เวลา  ๐๘.๐๐ น.  เรียนวิชาแรกคือคณิตศาสตร์ เหมือนกันฯลฯ  ครอบครัวดังกล่าวอยากให้ลูกได้เรียนเมื่อพร้อมและเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจก่อน  จึงมักจะส่งลูกเข้าเรียน  ณ  โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก  จังหวัดกาญจนบุรี  ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.๒๕๔๒  ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายการศึกษาชาติ ได้ระบุในมาตรา ๑๒ ว่า  นอกจากรัฐมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว  ครอบครัวก็มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกัน  แต่ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗  กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศกฏกระทรวง ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษา  ขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว  ในส่วนการดำเนินงานของ สพท.กทม.๒   เริ่มจากครอบครัวมาติดต่อขอจัดการศึกษา        จึงได้เริ่มศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.๒๕๔๒ ฯ  กฎกระทรวงข้างต้น       ซึ่งจากสาระที่ปรากฏในกฎกระทรวง  มีการกำหนดหน้าที่ให้เขตพื้นที่ดำเนินการ  ตั้งแต่พิจารณาแผนการจัดการศึกษาและส่งให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาอนุญาต  หรือไม่อนุญาตให้ครอบครัวจัดการศึกษา  การวัดและประเมินผล        การเรียนรู้  การเลิกจัดการศึกษาของครอบครัว  นอกจากนี้ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน เช่นแผนการจัดการศึกษาจะเขียนอย่างไร มีสาระครอบคลุมเพียงใด  แค่ไหน  อย่างไร  ได้มีการประสานกับผู้รับผิดชอบโดยตรงของสำนักนโยบายและแผน สพฐ. ซึ่งก็ได้ความชัดเจนระดับหนึ่ง  และถือว่าเป็นความโชคดีที่ สพฐ. ได้แต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานจัดทำเอกสาร แนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาทางเลือกที่จัดโดยครอบครัว  ทำให้มีความเข้าใจในรายละเอียดของกฏกระทรวงฯ ยิ่งขึ้น
เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปด้วยความราบรื่น มีประสิทธิภาพ  จึงได้มีการเรียนให้ผู้บริหารของเขตพื้นที่ได้รับทราบเรื่องที่ครอบครัวมาขออนุญาตจัดการศึกษา  รวมทั้งได้เสนอความเห็นกับหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษาว่า  งานดังกล่าวเป็นงานที่ต้องขอความร่วมมือจากหลายกลุ่ม  กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา คงไม่สามารถทำเพียงลำพังกลุ่มเดียวได้  เพราะมีเรื่องการดูแผนการจัดการศึกษา  เรื่องข้อกฎหมาย  เห็นควรมีศึกษานิเทศก์ และนิติกร ร่วมในการทำงาน  ทั้งนี้ได้มีการประสานกับหัวหน้ากลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา  หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาหลักสูตร  ช่วยคัดเลือกบุคลากรร่วมในการดำเนินการ  โดยมีบุคลากรกลุ่มส่งเสริม                การจัดการศึกษาทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ  จึงเป็นที่มาของการแต่งตั้งกรรมการ ๓ คณะ ณ ขณะนี้คือ
๑.   คณะกรรมการดำเนินการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว  มีหน้าที่พิจารณาแผนการจัดการศึกษาของครอบครัว  ให้สมบูรณ์  ก่อนเสนอคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาต่อไป
                                ๒.  คณะกรรมการนิเทศ  ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว
                                ๓.  คณะกรรมการวัด และประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว
                                จากผลการดำเนินงานของกรรมการ ทั้ง ๓ คณะ ดังกล่าว  มีครอบครัวที่ได้รับอนุญาตให้จัดการศึกษาได้รวม ๔ ครอบครัว  ๓ ครอบครัวแรก จัดการศึกษาช่วงชั้นที่ ๑ (ป.๑ – ๓)  อีก ๑ ครอบครัวจัดการศึกษาช่วงชั้นที่ ๒ (ป.๔ – ๖)  โดยแผนการจัดการศึกษาของแต่ละครอบครัวมีการเขียนที่หลากหลายเป็นไปตามบริบทของครอบครัว   แต่ทุกครอบครัวระบุว่า  จะยึดมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  ๒๕๔๔  เป็นหลักในการประเมินคุณภาพของผู้เรียน ณ  วันนี้ ผู้เรียน ๑ คน ที่ได้รับการวัดและประเมินผล จากสำนักงานเขตพื้นที่ ให้ผ่านการศึกษา   ช่วงชั้นที่ ๑ (ป.๓) แล้ว  และผู้เรียนอีก ๓ คน  กำลังรอรับการประเมินผลเช่นกัน
                                การดำเนินงานย่อมมีอุปสรรคบ้างไม่มากก็น้อย  แต่เมื่องานหยุดนิ่งไม่ได้ต้องเดินหน้าก็ต้องพยายามให้เกิดปัญหาในการทำงานให้น้อยที่สุด  หรือไม่มีเลยยิ่งดี  ในส่วนที่ต้องประสานกับศึกษานิเทศก์  นิติกร  ที่เป็นคณะกรรมการ  ราบรื่นดี  อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่คุ้นเคยกันมาก่อน  และพยายามทำงานให้เป็นระบบ  มีเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์  สามารถ  Present  ได้ถูกต้อง  ต้องสนุกกับการทำงาน  และสิ่งสำคัญมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อทุกคน  ในส่วนที่ต้องประสานกับครอบครัว  และศึกษานิเทศก์ให้มีความเข้าใจในประเด็นต่างๆตรงกัน  และถูกต้อง  และเป็นแบบกัลยาณมิตรกัน  ซึ่งจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างศึกษานิเทศก์  กับครอบครัวทั้ง ๔ ครอบครัวขึ้น  บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความเป็นมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน  ช่วยกันหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ เช่น การกำหนดค่าหน่วยน้ำหนัก  การตัดสินผลการเรียน  การจัดทำรายงานการวัดและประเมินผลฯ  ร่วมกันเสนอแนะแนวทางที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินงานต่อไป  ผลสะท้อนกลับจากครอบครัว  พอใจในการประชุมครั้งนี้มาก และอยากให้มีการประชุมลักษณะเช่นนี้อีกในปีต่อไป  สำหรับการดำเนินงานต่อไป  เพื่อให้ครอบครัวได้ทราบแนวทางการวัดและประเมินผลที่ชัดเจนของกลุ่มสาระการเรียนรู้  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  การอ่าน  คิด  วิเคราะห์  และ เขียน  และคุณลักษณะอันพึงประสงค์  จะจัดให้มีการประชุมจัดทำ  Rubric  การให้คะแนนขึ้นโดยศึกษานิเทศก์จะยกร่างขึ้นมาก่อน  และจะให้ครอบครัวร่วมให้ข้อคิดเห็นด้วย
                                ในกรณีที่มีครอบครัวอื่นๆ สนใจเรื่อง  การจัดการศึกษาโดยครอบครัวสามารถ  Download  เอกสารที่เกี่ยวข้องได้จาก  www.edubangkok2.org    และหากมีผู้มาติดต่อสอบถามที่เขตพื้นที่  ก็จะมีเอกสารให้ครอบครัว  เพื่อศึกษาทำความเข้าใจก่อน  ก่อนที่จะตัดสินใจจัดการศึกษาให้แก่บุตรของตนเอง
สิ่งที่ภูมิใจอย่างหนึ่งในการทำงานนี้ คือ  มีส่วนผลักดันให้เกิดการจัดทำเอกสารหลักฐานการศึกษาของผู้เรียนที่เรียนจากครอบครัวขึ้น  เพราะเล็งเห็นว่า  ผู้เรียนไม่ว่าจะเรียนจากรูปแบบใด  ต้องมีหลักฐานแสดงว่า  ได้รับการศึกษาจากรูปแบบนั้น  เพื่อการศึกษาต่อ  หรือ เป็นหลักฐานในการทำงานต่อไป  โดยได้มีการทำหนังสือ   จากเขตพื้นที่หารือเรื่องนี้ ไปยัง  สพฐ. ว่าเอกสารหลักฐานการศึกษาจบ  ชั้นปี  หรือ  ช่วงชั้น  มีรูปแบบอย่างไร                มีคำอธิบายอย่างไรบ้าง  ทั้งนี้ได้มีการติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องทราบว่า  สพฐ.  ได้จัดทำเอกสารเรียบร้อยแล้ว  และอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ที่คุรุสภา  เอกสารหลักฐานการศึกษาจะคล้ายคลึงกับการศึกษาในระบบ  คือมี ปพ.๑/ค  ปพ๒บ/ค  ปพ๒พ/ค  และ  ปพ๓/ค (ค  คือ ครอบครัว)

                                ผลงานที่เกิดจากการดำเนินงาน คือ  ได้เขียนบทความ “มารู้จักครอบครัว Home School กันเถอะ”  โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารเขตพื้นที่ให้เผยแพร่ในวารสารข่าว สพท.กทม.๒  ฉบับ เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์  ๒๕๕๐  จดหมายข่าวของสมาคมบ้านเรียน  และที่ประชุมผู้บริหารสถานศึกษา สพท.กทม.๒  เพื่อเป็นการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณชนได้รับทราบข้อมูลการดำเนินงาน ดังกล่าว
ผู้เล่า   นางอรุณี  เทพวรรณ นักวิชาการศึกษา ๘ ว  กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา  สพท.กทม.๒
คำสำคัญ (Tags): #home school
หมายเลขบันทึก: 110946เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2007 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท