นักเรียนกับการคุ้มครองตามกฎหมายอาญา


มาตรา 73 มาตรา 74
โรงเรียนประกอบกด้วยอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และที่สำคัญที่สุดคือ “นักเรียน” นักเรียนมีทั้งนักเรียนหญิงนักเรียนชาย ถ้าเป็นการศึกษาภาคบังคับก็เริ่มจากประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งจะเห็นได้ว่านักเรียนมีวัยต่างๆ กัน วัยหรืออายุของบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์กับประมวลกฎหมายอาญากล่าวคือ กฎหมายอาญามีบทบัญญัติที่ให้การคุ้มครองตามวัยตามอายุพอที่จะกล่าวโดยสังเขปดังนี้

                มาตรา 73  เด็กอายุไม่เกินเจ็ดปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
                มาตรา 74  เด็กอายุกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่เกินสิบสี่ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะกล่าวตักเตือนและถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดามารดา ผู้ปกครองมาว่ากล่าวตักเตือนก็ได้ จะเห็นได้ว่ากฎหมายอาญามีบทบัญญัติที่คุ้มครองนักเรียนที่จะไม่ต้องรับโทษแม้จะเป็นความผิด ซึ่งตามธรรมชาติแล้วนักเรียนในวัยอายุตามที่กล่าวข้างต้นมักจะซุกซน กระทำการต่างๆ ตามความคิดความต้องการ ยกตัวอย่าง เช่น มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท เด็กชายแดง (อายุ 6 ปี) ลักเอาปากกาของเด็กชายดำไป เด็กชายแดงมีความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ไม่ต้องรับโทษ หรือเด็กชายดำ อายุ 6 ปี 6 เดือน ลักนาฬิกาอาจารย์ฟ้าไป เด็กชายดำผิดฐานลักทรัพย์ แต่ไม่ต้องรับโทษเช่นกัน
                มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร่ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรเป็นการทำให้เสียทรัพย์ เช่น เอาสมุดเพื่อนมาฉีกทิ้ง, เอาปากกาเพื่อนมาโยนทิ้งน้ำเน่า หรือปล่อยลมล้อรถยนต์อาจารย์ ไม่ว่าจะปล่อยล้อเดียว สองล้อ หรือทั้งสี่ล้อ ก็ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ถือเป็นการกระทำครั้งเดียวกรรมเดียว มีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ
                มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า แม้กฎหมายคุ้มครองให้เด็กไม่ต้องรับโทษแต่หากเด็กนั้นถูกใช้, ถูกสั่งให้กระทำความผิด ถ้าผู้ใช้, ผู้สั่งนั้นเป็นผู้ใหญ่อายุเลยวัยดังกล่าวแล้ว ผู้ใช้, ผู้สั่งกลับต้องรับผิดรับโทษ เช่นใช้เด็กไปแอบปล่อยลมล้อรถยนต์ตามที่กล่าวยกตัวอย่าง ผู้ใช้, ผู้สั่งก็จะเป็นผู้ทำความผิดตามมาตรา 84 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำผิด
ถ้าผู้ถูกใช้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุผลอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า เด็กกระทำตามที่ใช้สั่ง โดยเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพราะมีความเคารพเชื่อฟังบุคคลที่ใช้สั่ง เด็กก็กลายเครื่องมือในการกระทำความผิดหรือที่เรียกว่า Innocent Agent เช่นนี้ ผู้ใช้ ผู้สั่งนั้นจะกลายเป็นผู้กระทำความผิดโดยตรง
นายสาโรช  บุตรเนียร นิติกร สพท.กทม.2   
หมายเลขบันทึก: 110915เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2007 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท