BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ขมนียํ ยาปนียํ


ขมนียํ ยาปนียํ

คำทักทายในแต่ละชนชาติศาสนา หรือแต่ละท้องถิ่นย่อมแตกต่างกันไป ถ้าเป็นแบบธรรมเนียมไทยก็มักจะทักท้ายว่า สวัสดีค๋ะ หวัดดีคับ  เป็นยังไง ? สบายดีหรือ ? กินข้าวหรือยัง ? ...

ฟังว่าผู้ดีอังกฤษ เมื่อเจอกันมักจะบ่นถึงดินฟ้าอากาศในวันนั้น เช่น วันนี้อากาศดีนะ หรือ วันนี้อากาศชุ่ยสุดๆ .... ประมาณนี้ แต่ผู้เขียนก็ไม่เคยไปอยู่อังกฤษจึงไม่กล้ายืนยันว่าจริงหรือไม่...

.......

ในสำนวนบาลีมีคำทักทายเช่นเดียวกัน ซึ่งสำนวนหนึ่งก็คือชื่อของบันทึกนี้ อาทิเช่น เมื่อพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จจาริกไป ทรงเจอพระภิกษุสงฆ์ในระหว่างทางก็ตรัสทักทายว่า ขมนียํ ยาปนียํ ภิกฺขเว และพระภิกษุสงฆ์ก็ทูลตอบว่า ขมนียํ ยาปนียํ ภนฺเต ....

เวลาแปลเป็นสำนวนไทยในบาลีประโยคสูงๆ อาจแปลว่า ภิกษุทั้งหลาย สบายดีหรือ ? แล้วก็ตอบว่า สบายดี พระเจ้าข้า ... แปลเพียงแค่นี้ก็ผ่านแล้ว ... แต่ในคราวแรกเรียนบาลี เวลาแปลยกศัพท์ จะต้องขึ้นมาให้เต็ม และเห็นรูปประโยค ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในครั้งนี้...

  • ขมนียํ ยาปนียํ ภิกฺขเว แปลยกศัพท์ว่า...

ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย สรีรยนฺตํ อันว่ายนต์คือสรีระ จตุจกฺกํ มีสี่ล้อ นวทฺวารํ มีเก้าทวาร ตุมฺเหหิ อันเธอทั้งหลาย ขมนียํ พึงอดทนได้หรือ ? ยาปนียํ พึงให้เป็นไปได้หรือ ?

  • ขมนียํ ยาปนียํ ภนฺเต แปลยกศัพท์ว่า...

ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สรีรยนฺตํ อันว่ายนต์คือสรีระ จตุจกฺกํ มีสี่ล้อ นวทฺวารํ มีเก้าทวาร อมฺเหหิ อันข้าพระองค์ทั้งหลาย ขมนียํ พึงอดทนได้ ยาปนียํ พึงให้เป็นไปได้อยู่

ดังนั้น นักเรียนบาลีชั้นต้นๆ เมื่อถึงประโยคนี้ก็ต้องขุดศัพท์ขึ้นมาแปลให้ได้ และบางคนก็ใช้วิธีท่องจำ แต่แม้จะไม่ท่องจำ เมื่อเจอหลายๆ ครั้งก็จำได้ไปเอง... แต่พอเรียนประโยคสูงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องแปลอย่างนี้ แปลตามสำนวนไทยๆ ว่า สบายดีหรือ พอทนได้หรือ พออยู่ได้หรือ ... ทำนองนี้ก็ได้แล้ว เพราะถือว่าผู้เรียนมีความรู้เรื่องนี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องขุดศัพท์มาให้ยุ่งยาก....

.........

ขยายความเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย.... 

สรีรยนฺตํ ยนต์คือสรีระ นั่นคือ ร่างกายของคนเรานี้เปรียบเหมือนเครื่องยนต์

จตุจกฺกํ มีสี่ล้อ นั่นคือ ต้องบริหารให้เป็นไปด้วยอิริยาบท ๔ ประการ กล่าวคือ เดิน ยืน นั่ง และนอน

นวทฺวารํ มีเก้าทวาร นั่นคือ มีประตูทางเข้าทางออกอยู่ ๙ ช่อง ได้แก่ หู ๒ ตา ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ทวารเบา ๑ และทวารหนัก ๑

ขมนียํ พึงอดทน ยาปนียํ พึงให้เป็นไป นั่นคือ การบริหารร่างกายนี้เป็นสิ่งลำบากและเหน็ดเหนื่อย เราจึงต้องอดทน เพื่อให้มันยังคงเป็นอยู่ต่อไปได้... ประมาณนี้

.......

ขมนียํ ยาปนียํ สองคำนี้ ผู้เขียนมักจะนำมาถามตัวเองอยู่เสมอ ในคราวที่มีความทุกข์ด้านร่างกายอันเกิดจากความเจ็บไข้ เป็นต้น... หรือในคราวที่รู้สึกเบื่อ เหนื่อยหน่าย เกิดความเหือดแห้งภายใน เป็นต้น

ก่อนจบบันทึกนี้ก็ใคร่จะถามชาวโกทูโน และผู้ที่ผ่านมาเยือนทุกท่านว่า...

.....ขมนียํ ยาปนียํ....

คำสำคัญ (Tags): #ขมนียํ#ยาปนียํ
หมายเลขบันทึก: 110657เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2007 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สวัสดีครับท่าน  ผม  พธ.บ. รุ่น 46 ครับ  อยู่หนองคายครับ
P
แวะไปเยี่ยมที่บล็อกของท่านมหาฯ แล้วครับ
อามนฺตา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท