ตลาดข้าวของโลก


หากแบ่งตลาดข้าวของโลกจากชนิดของข้าวจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ตลาดหลักตามลำดับดังนี้ คือข้าวเม็ดยาว (Indica Rice) มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดถึงร้อยละ 80 รองลงมาคือ ข้าวเม็ดสั้น (Japonica Rice) มีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 16-18 และสุดท้ายคือ ข้าวพื้นเมือง (Local Rice) ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 2-4 เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลของตลาดข้าวเม็ดยาวที่มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุด พบว่าจากปริมาณการซื้อขายข้าวในตลาดโลกที่มีอยู่ประมาณ 26-27 ล้านตันต่อปีนั้น เป็นการส่งออกของประเทศไทยเสีย 6-7 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 25-30ของขนาดตลาดโดยรวม ซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก
 นอกจากนี้ข้อมูลการส่งออก ที่จำแนกส่วนแบ่งทางการตลาดของข้าวไทย โดยใช้คุณภาพของข้าวเป็นเกณฑ์ยังชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยครองตลาดข้าวคุณภาพดี (ข้าวหอม ข้าวขาว 5% และข้าวขาว 100%)มากที่สุดโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดข้าวคุณภาพดีสูงถึงร้อยละ 45.7 และยังมีการส่งออกข้าวคุณภาพต่ำ (ข้าวแข็งหรือข้าวขาว20-35% และปลายข้าว) ข้าวนึ่ง (Parboil Rice) และข้าวคุณภาพปานกลาง (ข้าวขาว 10-15%) รองลงมาเป็นลำดับ ได้แก่ ร้อยละ 22.51 ร้อยละ 20.4 และร้อยละ 12.21ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวนั้นมีการส่งออกเพียงร้อยละ 0.1-0.2 ล้านตันข้าวสารต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด อีกทั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวมีอัตราการส่งออกลดลงเฉลี่ยร้อยละ0.75 ดังนั้นการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวจึงมีนัยยะสำคัญต่อการส่งออกน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบการส่งออกข้าวประเภทอื่นๆ
 ทั้งนี้หากแยกปริมาณการส่งออกที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆทั่วโลกจะพบว่าประเทศที่นำเข้าข้าวจากไทยส่วนใหญ่อยู่ในเขตเอเชียมีสัดส่วนถึงร้อยละ 47 ตามด้วยเขตแอฟริการ้อยละ 24 เขตตะวันออกกลางร้อยละ 16 เขตอเมริการ้อยละ 7 เขตยุโรปร้อยละ 5และเขตโอเชียเนีย ซึ่งความต้องการข้าวของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไม่พียงแต่ด้านปริมาณการสั่งซื้อ แต่ยังรวมถึงคุณภาพของข้าวด้วยซึ่งสามารถแยกวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้
 ประเทศในเขตเอเชียที่มีการซื้อข้าวจากไทยเป็นประจำในปริมาณที่ค่อนข้างแน่นอนทุกปี และเป็นข้าวคุณภาพดีเกือบทั้งหมด ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และบูรไนส่วนประเทศที่ซื้อข้าวจากไทยไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตภายในประเทศของตนเองและนโยบายของรัฐในแต่ละยุค ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์และบังคลาเทศซึ่งโดยส่วนใหญ่มักซื้อข้าวคุณภาพต่ำ ประเทศในเขตตะวันออกกลางนับเป็นตลาดข้าวคุณภาพดีและข้าวนึ่งที่สำคัญของประเทศไทยมาโดยตลอด
 ประเทศในเขตแอฟริกาเป็นตลาดข้าวคุณภาพต่ำที่สำคัญ เพราะแต่ละปีจะมีความต้องการข้าวที่ค่อนข้างสูง แต่ส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจน จึงมุ่งซื้อข้าวจากแหล่งที่มีราคาถูกหรือแหล่งที่ขายเงินเชื่อระยะยาวเป็นหลัก ซึ่งหลังจากที่ประเทศไทยปรับกลยุทธในการส่งออกแล้วทำให้จำนวนการส่งออกข้าวไปยังแอฟริกามีแนวโน้มสูงขึ้นประเทศในเขตทวีปอเมริกาเหนือเป็นตลาดข้าวคุณภาพดีของไทยที่มีแนวโน้มจะพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีคู่แข่งสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา แต่ยังสามารถส่งออกได้อีกมาก เนื่องจากจำนวนเอเชียที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตนี้มีมาก และชื่นชอบรสชาติของข้าวหอมคุณภาพดีของไทย
 ส่วนประเทศในเขตอเมริกาใต้ อย่างประเทศคิวบา บราซิล และเปรู ถึงแม้จะมีความต้องการข้าวไทยมาก แต่มีปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ จึงทำให้ปริมาณนำเข้ายังน้อย
 ประเทศในยุโรปเป็นตลาดข้าวคุณภาพดีเช่นเดียวกันแต่ประเทศไทยยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างต่ำ เพราะเสียเปรียบสหรัฐอเมริกาในด้านค่าขนส่งประเทศในเขตโอเชียเนีย ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฟิจิ เป็นตลาดข้าวคุณภาพดีที่ยังมีปริมาณการนำเข้าต่ำเพียง 8-9 หมื่นตันต่อปี แต่ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นโดยรูปแบบการส่งออกข้าวของประเทศไทยมี 2 ลักษณะคือ
 1. การส่งออกโดยภาคเอกชน หลังการยกเลิกกฎหมายควบคุมการส่งออกข้าวในปี พ.ศ.2498 ทำให้เอกชนเข้ามาดำเนินธุรกิจการส่งออกข้าวได้อย่างเสรี โดยปัจจุบันการส่งออกโดยภาคเอกชนมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดซึ่งลักษณะการส่งออกมีทั้งแบบที่เป็นการค้าโดยทางตรงและการค้าโดยทางอ้อม ทั้งนี้การค้าโดยทางตรง คือการที่ผู้ส่งออกติดต่อทำการค้ากับลูกค้าประจำของตนในแต่ละประเทศและส่วนการค้าโดยทางอ้อม คือการติดต่อโดยผ่านนายหน้าระหว่างประเทศ หรือ Brokersซึ่งโดยส่วนใหญ่ในระยะแรกของการประกอบการของบริษัทผู้ส่งออกรายใหม่มักจะขายข้าวในรูปแบบนี้เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าถึงผู้ซื้อได้โดยตรง
 นอกจากการค้าข้าวระหว่างเอกชนกับเอกชนแล้ว ยังมีการค้าข้าวผ่านโครงการอาหารโลก (World Food Program) โดยในแต่ละปีสหประชาชาติจะเปิดประมูลซื้อข้าวเพื่อนำ ไปช่วยเหลือประเทศที่ยากจนหรือประสบภัยธรรมชาติ ซึ่งผู้ส่งออกของไทยสามารถเข้าไปร่วมการประมูลขององค์การสหประชาชาติได้
 2. การส่งออกโดยภาครัฐต่อรัฐ หรือเรียกว่าการส่งออกแบบ G – G มีสัดส่วนในการส่งออกเพียงร้อยละ 10 ของการส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินงานส่งออกโดยรัฐบาลคือเร่งระบายข้าวออกต่างประเทศให้มากที่สุด เพื่อยกระดับราคาข้าวภายในประเทศ โดยปัจจุบันการค้าข้าวของรัฐบาลได้กลายเป็นมาตรการหลักอย่างหนึ่งในการแทรกแซงตลาดข้าวและดึงราคาข้าวภายในประเทศให้สูงขึ้นตามที่รัฐบาลกำหนดแต่ในอนาคตแนวโน้มการส่งออกโดยรัฐจะมีบทบาทลดลง เนื่องจากรัฐมีนโยบายไม่ต้องการขายแข่งขันกับภาคเอกชน โดยที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ทำสัญญาซื้อขายกับรัฐบาลหลายประเทศ ในลักษณะเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป เช่น
 2.1 การส่งออกหรือขายในรูปเงินสดหรือสินเชื่อ ได้แก่ การขายข้าวให้บรูไน ฟิลิปปินส์ รัสเซีย เกาหลีเหนือ อินโดนีเซีย และอิหร่าน
 2.2 การส่งออกผ่านการค้าต่างตอบแทน หรือเรียกว่า Counter trade หรือ Bartertrade เพื่อช่วยหรือเสริมการระบายข้าวในสต็อกของไทย เนื่องจากในแต่ละปีรัฐบาลจะเข้าแทรกแซงตลาดข้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยซื้อข้าวเก็บไว้อยู่แล้วและประกอบกับความต้องการสั่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องมือ เครื่องจักรหรือยุทธภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงจากต่างประเทศจึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะนำข้าวไปแลกสินค้ามูลค่าสูงเหล่านั้นแทนการชำระเงินสด
 2.3 การส่งออกในรูปการให้ความช่วยเหลือ โดยรัฐบาลจะส่งออกข้าวในลักษณะการบริจาคข้าวให้แก่ประเทศผู้นำเข้าแบบให้เปล่า เพื่อเสริมสร้างหรือขยายความสัมพันธ์กับประเทศผู้นำเข้าข้าวที่ได้รับภัยธรรมชาติหรือเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจถึงแม้ว่าข้าวจะเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถส่งออกได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลกมายาวนาน แต่ข้อเท็จจริงคือ สัดส่วนข้าวที่มีการซื้อขายกันในตลาดโลกนั้นมีเพียงประมาณร้อยละ 4 ของปริมาณผลผลิตข้าวทั้งหมดในโลก ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่เล็กมาก นอกจากนี้ประเทศส่วนใหญ่ที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักจะมีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวให้พอเพียงมากกว่าการพึ่งพาการนำเข้า ประกอบกับตลาดข้าวระหว่างประเทศเป็นตลาดที่มีผู้ซื้อผู้ขายอยู่ทั่วทุกมุมโลกดังนั้นปริมาณการส่งออกข้าวและราคาข้าวในตลาดโลกจึงถูกกำหนดด้วยกลไกตลาดเป็นสำคัญ


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท