รูปแบบความร่วมมือการจัดการศึกษาในท้องถิ่น



                                การศึกษาคือการสืบทอดวัฒนธรรม

                                การศึกษาคือความเจริญงอกงาม

                                การศึกษาคือการพัฒนาคน

                                การศึกษาคือการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถเผชิญโลกเผชิญชีวิตได้

                                การศึกษาคือการสร้างคนให้มีความรู้คู่คุณธรรม

ฯลฯ

                                จะกล่าวว่าการศึกษาคืออะไร  ก็เป็นการถูกต้องทั้งนั้น  ที่แตกต่างก็อยู่ที่ว่าจะมองด้านใดของการศึกษาสิ่งสำคัญต่อชีวิตมนุษย์คือปัจจัยสี่  แต่จะถึงพร้อมซึ่งปัจจัยสี่ได้ต้องมีปัจจัยที่ห้าคือการศึกษา  กล่าวได้ว่า

                                การศึกษาคือปัจจัยที่ห้าของชีวิต

                                การศึกษามีความสำคัญ  จำเป็น  และยิ่งใหญ่ เวลานักการเมืองหาเสียงไม่ว่าจะเป็นประเทศใดในโลกรวมทั้งประเทศไทย  ก็มักยกประเด็นทางการศึกษามาอ้าง  เช่น  จะทำให้คนได้รับการศึกษาดีขึ้น  มากขึ้น จะมาลงทุนทางการศึกษา  เป็นต้น  เงินงบประมาณกว่า  20%  ก็ใช้ไปเพื่อการศึกษา  คิดเป็นมูลค่ากว่าปีละแสนล้านแต่การศึกษายังไม่ดีสมใจ  ไม่สามารถสร้างคนของชาติได้ที่ต้องการ

                                ในโลกยุคปัจจุบัน  ใคร ๆ ก็กล่าวถึงการศึกษาตลอดชีวิต  การศึกษาสำหรับทุกคนคนทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อย  ถ้าประชากรของชาติคือคน 60 ล้านคน  เป้าหมายการจัดการศึกษาคือการให้คน  60  ล้านคนได้รับโอกาสได้เรียนรู้

                                การจัดการศึกษาจึงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ และยุ่งยากและยิ่งต้องจัดให้สอดคล้องกับความต้องการของบุคคลของสังคมด้วยก็จะมีความซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น หลาย ๆ ครั้งจึงมีผู้ตั้งคำถามว่า  ใครควรเป็นผู้จัดการศึกษา

ดังที่มักกล่าวเป็นภาษาอังกฤษว่า

                                Education for all

                                All for Education

                                ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้  แนวคิดการจัดการศึกษาจึงส่งเสริมให้ประชาชน  องค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันจัดการศึกษา

                                การศึกษาเป็นของประชาชน  ประชาชนต้องมีส่วนร่วมจัดการศึกษา

                                คงเป็นด้วยความคิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม  จึงเกิด  พ.ร.บ.   กระจายอำนาจกำหนดให้ท้องถิ่น  คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดการศึกษาด้วย   พร้อมทั้งกำหนดวิธีการขั้นตอนการถ่ายโอนการศึกษา โดยเฉพาะระดับประถมศึกษา  และมัธยมศึกษาสู่ท้องถิ่น  แล้วก็เกิดการชุมนุมต่อต้านการโอนถ่ายกันอย่างรุนแรง ก็แปลกที่เวลามีกฎหมายออกมา  ไม่มีใครว่าอะไร  แต่พอจะมีการทำตามกฎหมายก็คัดค้าน  เหตุผลการคัดค้านก็คงเพราะความไม่มั่นใจสถานะภาพของบุคคลและของการศึกษา

 

 

                                ที่จริงกล่าวได้ว่าทุกคนเห็นด้วยกับการให้ทุกคนทุกฝ่าย  ทุกองค์กร  มีส่วนร่วมในการจัดการ ศึกษา  ทุกคนเห็นความสำคัญขององค์กรท้องถิ่น   ที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพราะเหล่านี้จะเป็นการระดมทรัพยากรและภูมิปัญญาที่หลากหลายช่วยกันจัดการศึกษา   ทำให้การศึกษามีคุณภาพสูงขึ้น   ดีขึ้น  และสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสังคมมากขึ้น

                                รูปแบบความร่วมมือในการจัดการศึกษาในท้องถิ่นน่าจะมีหลายรูปแบบ  และหลายวิธีการ

ไม่ใช่มีอยู่เพียงการโอนการศึกษาไปจัดเสียเลยเพียงวิธีเพียงเท่านั้น  การโอนหรือไม่โอนมิได้เป็นการแสดงว่าทุกคนทุกองค์กรมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา  แต่วิธีการที่ทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมมีความสำคัญมากกว่าเป็นไหน ๆ  ไม่ว่าจะเป็นการโอนหรือไม่มีการโอนการศึกษาสู่ท้องถิ่น  สิ่งสำคัญคือการทำให้ทุกคนทุกฝ่ายมาร่วมกันจัดการศึกษา  และไม่ว่ารัฐเป็นผู้จัดเองหรือไม่  รัฐก็ต้องเป็นฝ่ายสำคัญสนับสนุนการจัดการศึกษา

                                การจะเกิดความร่วมมือกันได้  ทุกฝ่ายจะต้องมีความเข้าใจตรงกันในเรื่องความสำคัญของการ ศึกษาและถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่จะต้องเข้าไปสนับสนุนส่งเสริมการมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ไม่จำเป็น

ต้องเป็นเจ้าของเสมอไป  เคยได้ยินบางคนกล่าวว่า  ถ้าโอนมาสังกัดก็พร้อมที่จะจัดสรรเงินให้..............ล้านบาท

ถ้าไม่มาก็คงทำไม่ได้   ซึ่งไม่น่าจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง  ถ้าเห็นความสำคัญแล้วต้องช่วยกัน   ไม่ว่าจะเป็น

เจ้าของหรือไม่ก็ตาม

                                การมีส่วนร่วมจัดการศึกษา   มิได้แปลความว่าจะต้องจัดสรรเงินอุดหนุนเท่านั้น   แต่การเอื้อ-อำนวยสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ การจัดแหล่งเรียนรู้  กิจกรรมการเรียนรู้  ภูมิปัญญาเพื่อการเรียนรู้  การเป็นวิทยากร

ให้ความสำคัญและร่วมจัดให้มาก  เพราะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาวิถีชีวิตของประชาชน

                                ได้ทราบข้อมูลว่ามีองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง  เช่น  องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี  ภูเก็ต  ชลบุรี  และแพร่  เป็นต้น  ได้ทุ่มเทจัดโครงการพิเศษต่าง ๆ เพื่อเสริมคุณภาพการศึกษา  เช่น

การเรียนรู้ผ่านระบบ  ICT  การเสริมความรู้  ด้านภาษาต่างประเทศ  การสนับสนุนสื่อและอุปกรณ์  เป็นต้น  และยังกล่าวด้วยว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับการถ่ายโอน  แต่สนใจการสร้างความเป็นเลิศให้กับการศึกษาในท้องถิ่น

ถ้าคนในท้องถิ่นได้รับการศึกษาดี  ก็จะมีอาชีพการงานที่ดี  มีชีวิตที่ดี  สังคมก็จะร่มเย็นเป็นสุข  เป็นความคิดที่

น่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง

 

                                ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการศึกษามากกว่าการถ่ายโอน  การศึกษาไทย จะก้าว

เร็วก้าวไกลกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

 

 


               

หมายเลขบันทึก: 110321เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2007 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท