สำนักวัดเขาอ้อ เมืองพัทลุง : มหาวิชชาไลยพุทธาคม แบบพราหมณ์-ฮินดู พุทธมหายานศรีวิไชยในอดีตกับปัจจุบันที่คงอยู่ในความไหวเปลี่ยน ตอน ๑


หลักฐานทางโบราณคดีภายในวัดเขาอ้อภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ คือ ถ้ำฉัททันต์ พระพุทธรูปภายในถ้ำ ซากเจดีย์ ซากรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ๑ องค์ และหล่อด้วยเงิน ๑ องค์ ชาวบ้านขนานพระนามเรียกกันว่า “เจ้าฟ้าอิ่ม เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ”

(ทุ) เขาอ้อคดีศึกษา ๑

: ประวัติศาสตร์และโบราณคดี

          วัดเขาอ้อ เป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่ง ที่มีความสำคัญทางด้านศิลปะและโบราณคดี ตั้งอยู่ หมู่ที่ ๓ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ชาวพัทลุงเชื่อกันว่าเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีชื่อเสียงทางด้านความเชื่อทางไสยศาสตร์มาตั้งแต่โบราณกาล

          นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ท่านเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อหลายต่อหลายรูป ล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไสยศาสตร์ วิชาการ เวทมนตร์ และคาถาต่างๆ จึงได้รับการรักษาถ่ายทอดสืบต่อกันมามิได้ขาดสาย จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ

ความเชื่อทางไสยศาสตร์ของวัดเขาอ้อที่นิยมใช้ประกอบพิธีกรรม ที่สำคัญมีอยู่ ๔ พิธี คือ

๑. พิธีเสกว่านให้กิน ทำโดยการนำว่านที่เชื่อว่ามีสรรพคุณทางด้านอยู่ยง คงกระพัน มาลงอักขระเลขยันต์ แล้วนำไปปลุกเสกด้วยอาคมตามหลักไสยศาสตร์ หลังเสร็จพิธีจะนำมาแจกจ่ายให้กิน

๒. พิธีหุงข้าวเหนียวดำ ทำโดยนำเครื่องยาสมุนไพร หรือว่านต่างๆ ไม่น้อยกว่า ๑๐๘ ชนิด มาต้มเอาน้ำยาใช้หุงกับข้าวเหนียวดำ เมื่อข้าวเหนียวสุกแล้วนำไปเข้าพิธีปลุกเสก ก่อนนำมาป้อนให้กิน

          ๓. พิธีเสกน้ำมันงาดิบ ทำโดยใช้นำน้ำมันงาดิบหรือน้ำมันยางแดงผสมว่าน พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีนั่งบริกรรมคาถาจนน้ำมันแห้ง แล้วจึงนำมาป้อนให้กิน

๔. พิธีแช่ว่านยา ทำโดยให้ผู้ต้องการเข้าประกอบพิธีกรรม ลงไปนอนแช่ในน้ำว่านยา ที่ได้ปลุกเสกตามหลักไสยศาสตร์ จากพระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีกรรมมาแล้ว

เชื่อกันว่าศิษย์จากสำนักวัดเขาอ้อที่ได้เล่าเรียนวิชา และผ่านพิธีกรรมต่างๆ ทางไสยศาสตร์ที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมมีพลังร่างกายที่คงกระพัน

          สำนักวัดเขาอ้อ ตามตำนานกล่าวว่า  ภูเขาอ้อเป็นบรรพตแห่งพราหมณ์หรือฤาษีผู้ทรงวิทยาคุณใช้เป็นที่พำนักเพื่อบำเพ็ญพรตและตั้งสำนักถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ผู้แสวงหาวิชาเพื่อใช้ในการปกครองและเลี้ยงชีพ ตามตำราพระธรรมศาสตร์ ตำราอาถรรพเวท ตำราพิชัยสงครามและอายุรเวท  ต่อมาเมื่ออิทธิพลของพราหมณ์ลดบทบาทลง วิชาของเขาอ้อได้ถูกถ่ายทอดสู่พระภิกษุ

          หลักฐานทางประวัติศาสตร์วัดเขาอ้อ มีปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุง ในเรื่องการตั้งเมืองพัทลุง ต่อมาอาจารย์ชุม ไชยคีรี ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ พระครูสังฆวิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (อาจารย์ทองเฒ่า) อาจารย์ผู้เฒ่าเขาอ้อ  และมีกล่าวถึงวีรกรรมของท่านมหาช่วย คราวสงครามเก้าทัพต้นรัตนโกสินทร์ ในหนังสือ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๕, จดหมายเหตุของหลวงอุดมสมบัติ  ต่อมาได้มีการจัดทำหลักฐานล่าสุดในสารานุกรมวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ โดยสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

          หลักฐานทางโบราณคดีภายในวัดเขาอ้อภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ คือ ถ้ำฉัททันต์ พระพุทธรูปภายในถ้ำ ซากเจดีย์ ซากรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ๑ องค์ และหล่อด้วยเงิน ๑ องค์ ชาวบ้านขนานพระนามเรียกกันว่า เจ้าฟ้าอิ่ม เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ อุโบสถมหาอุด รูปปั้นพระอาจารย์ทองหูยานภายในถ้ำ และ เต้พ่อท่าน (กุฏิเจ้าอาวาส) กับ "บัว" (เจดีย์บรรจุกระดูกอดีตเจ้าอาวาส)  ซึ่งมาในสมัยหลวงพ่อกลั่น เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด

หมายเลขบันทึก: 110128เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2007 06:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท