จัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น :โปงลางกาฬสินธุ์


โปงลางกาฬสินธุ์ : ภูมิปัญญาที่ต้องจัดการความรู้

  ถ้าพูดถึงดนตรีพื้นบ้านในยุคนี้ ไม่มีใครจะไม่รู้จัก ดนตรีพื้นบ้านโปงลาง  และถ้าพูดถึงโปงลาง ทุกคนจะนึกถึง จังหวัดกาฬสินธุ์  ต้องขอขอบพระคุณ คุณพ่อเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติและภูมิปัญญาอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม มา ณ ที่นี้ โดยเฉพาะผู้นำไปเผยแพร่ จนมีชื่อเสียง โด่งดัง คือวงโปงลางสะออน ที่สามารถเข้าถึงคนทุก กลุ่ม   จนโกอินเตอร์ ไปแล้ว

      เมื่อดิฉันมีโอกาสไปฝึกอบรมศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ ที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อหลายปีก่อน( พย.2546- พค.2547) ก็ได้มีโอกาสนำไปเล่าให้เพื่อนๆนักเรียนต่างชาติฟัง โดยเฉพาะอาจารย์ที่สอนในโรงเรียน(TAFE) เขาเคยมาที่ประเทศไทย เขาชอบอาหารไทยและดนตรีไทย ดิฉันจึงเล่าให้ฟังว่ายังมี เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีกประเภทหนึ่งคือ โปงลาง ดิฉันจึงอธิบายให้เขาฟัง (เท่าที่จะพูดถ่ายทอดได้) และร้องโน้ต "ลายลมพัดพร้าว" ดิฉันก็แสดงการรำประกอบดนตรีให้เพื่อนๆชม ทั้งครูและนักเรียนทุกคนก็ร่วมทำตาม และสนุกสนานกัน เพราะจังหวะดนตรีมันเร้าใจ ภาษาของดนตรีเป็นสากล รู้สึกว่าทุกคนสามารถสัมผัสได้ ทำให้ดิฉันภาคภูมิใจมาก

     เมื่อเดินทางกลับมาเมืองไทยแล้วจึงมีแนวคิดว่าทำอย่างไร จึงจะสามารถนำ Local wisdom สู่ Global wisdom ได้ ก็ปรึกษาหารือศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 1 ท่านให้คำแนะนำดีมาก ช่วยนำเข้าร่วมเป็นคณะทำงานของจังหวัดในการทำหลักสูตรโปงลาง (สพท.กาฬสินธุ์ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์)และได้ปรึกษาคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้นำหมู่บ้านจึงทำโครงการของงบประมาณอบต.(เพราะขณะนั้น  สมศ.ประเมินรอบแรก ด้านดนตรีได้ระดับพอใช้)ได้งบประมาณมา จึงไปซื้อเครื่องดนตรีเท่าที่มีงบและเชิญภูมิปัญญาภายนอกมาสอน ขั้นแรกยังไม่ได้ผล ต่อมาใช้วิธีถ่ายโอนความรู้จากคนเก่ง (ภูมิปัญญาชาวบ้านและรุ่นพี่ที่เก่งๆ) และขอให้ผู้ปกครองที่เก่งดนตรีพื้นบ้านและการฟ้อนรำ ช่วยถ่ายทอดให้ลูกๆถือเป็นการให้มรดกแก่ลูก ก็ มี 2ครอบครัวที่มีความรู้ด้านนี้ ได้ถ่ายทอดให้ จึงขอชาวบ้านมาช่วยดูแลอีกแรงในวันเสาร์อาทิตย์ .ในที่สุดก็ไปขอความรู้กับศิลปินแห่งชาติให้แนวทางและช่วยเหลือให้คำปรึกษา  รวมทั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และที่สำคัญได้รับกำลังใจจากวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ช่วยสนับสนุนโครงการการแลกเปลี่ยนถ่ายโอนความรู้ จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่โรงเรียน และที่จะต้องขอบพระคุณอย่างสูงคือ คณะครูที่ทุ่มเท เป็นทีมงานที่เข้มแข็ง ที่ช่วยกันผลักดัน รวมทั้งนักการของโรงเรียนและผู้ปกครองนักเรียนที่ช่วยกันอย่างเต็มที่

     ที่สุดเมื่อเด็กสามารถแสดงสู่สาธารณชนได้ เด็กเหล่านี้กลายเป็นบุคคลที่กล้าแสดงออก มีแนวคิดที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์การแสดงต่างๆ สามารถทำโครงงาน สามารถพูดเป็นพิธีกร และการอ่านการเขียนดีขึ้น มีดนตรีฝังอยู่ในตัว(สังเกตจาก  มีเวลาว่างไม่ได้ จะต้องรีบมาตีโปงลาง หรือตีกลอง ขอให้ได้เดินมาแวะตี สักนิดหนึ่งก็เอา) และเมื่อมีการประเมินภายนอก รอบสองของสมศ. ก็ได้ระดับดีและดีมาก

       จึงทำให้คิดต่อไปว่า หากต่อไป ถ้าหมดจากคนรุ่นเก่า ที่คอยให้คำปรึกษาหรือช่วยถ่ายทอด ใครจะสืบทอด สิ่งล้ำค่าเหล่านี้ 

       ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องจัดการความรู้(Knowledge Management)ภูมิปัญญาท้องถิ่น สำหรับดนตรีพื้นบ้านโปงลาง

 ท่านคิดเห็นเป็นประการใด  ช่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท