เวทีการจัดการความรู้สู่ชุมชนอินทรีย์ หมู่ที่ 2 ตำบลมะม่วงสองต้น2


แต่ละหมู่บ้านน่าจะมีการประชุมลักษณะนี้ให้บ่อยๆ เพราะจะได้เรียนรู้ปัญหาและมาหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน อะไรที่จะเสนอเป็นโครงการให้ทาง อบต. ช่วยเหลือก็สามารถเสนอขึ้นไปได้

เวทีการจัดการความรู้สู่ชุมชนอินทรีย์ หมู่ที่ 2 ตำบลมะม่วงสองต้น2

                เวทีที่  2  ของหมู่ที่ 2  ตำบลมะม่วงสองต้น  เป็นการทบทวนเป้าหมายของเวที ครั้งที่ 1  เรื่องการปลูกผักสวนครัวของคุณกิจผู้เข้าร่วมโครงการ  ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงสิ่งที่ได้กลับไปทำแล้วที่บ้านของตัวเอง  สมาชิกบางคนบอกว่าได้นำกระสอบมาใส่ดินแล้วปลูกไว้ที่หน้าบ้าน  บางคนก็ปลูกไว้ในกาละมัง  บางคนก็ใส่กระถาง  สรุปแล้วทุกครัวที่เข้าร่วมเวทีปลูกผักไว้กินเองทุกบ้าน

                นอกจากจะเป็นเวทีทบทวนเป้าหมายแล้ว...ในส่วนของการประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ซึ่ง กศน. เรามีงบประมาณในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในการลงไปหนุนเสริม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเวทีส่วนหนึ่งเป็นผู้เรียน และจากการสำรวจผู้เข้าร่วมกิจกรรม  ซึ่งประกอบอาชีพเสริมในเรื่องการเลี้ยงโค ซึ่งที่ผ่านมาได้เรียนรู้กันในเรื่องของหญ้าพืชอาหารสัตว์  ซึ่งสมาชิกผู้เข้าร่วมได้ดำเนินการไปแล้ว  สำหรับเวทีที่จะเรียนรู้ต่อเนื่องก็คือเรื่องของโรคและยารักษาโรคโค  ซึ่งทาง  กศน.  ได้จัดงบประมาณสนับสนุน  6,000.-  บาท โดยสนับสนุนเป็นยาปฏิชีวนะสำหรับโค... ซึ่งทาง ผอ. กศน. เมืองนครศรีฯ ได้มอบให้กับกลุ่มด้วย...

                จากการทำเวทีได้เน้นถึงกระบวนการกลุ่มที่ชัดเจน  โดยผู้ใหญ่บ้านรับที่จะดำเนินการในการที่จะจัดคณะกรรมการกลุ่มให้ชัดเจนเพื่อบริหารงานและกิจกรรมของกลุ่ม  โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณที่หน่วยงานต่างๆ สนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเป็นเงิน  และวัสดุ  ต้องมาหาแนวคิดร่วมกันว่าทำอย่างไรให้มีเงินหรือวัสดุเหล่านั้นหมุนเวียนใช้อยุ่ในกลุ่มตลอดไป... ซึ่งจะเป็นผลดีกับสมาชิกในคราวที่เดือดร้อน  เช่น  โคป่วย หรือเป็นโรคต่าง ๆ ก็สามารถที่จะช่วยเหลือได้ทันท่วงที

                เวทีนี้ นายปราโมทย์  สวนประพัฒน์  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเข้าร่วมด้วย และได้พูดคุยทำความเข้าใจถึงกระบวนการและวิธีการสนับสนุนงบประมาณของ  อบต.  โดยบอกว่า ทุกโครงการต้องมาจากเวทีประชาคมของหมู่บ้าน และจะต้องผ่านระบบสภาเพื่อกำหนดข้อบัญญัติการใช้งบประมาณในแต่ละปี  เพราะฉะนั้นหมุ่บ้านจะต้องเป็นคนเสนอโครงการขึ้นไป เพราะคนที่รู้ว่าในหมู่บ้านมีปัญหาอะไรก็คือชาวบ้านที่อยุ่ในหมู่บ้านนั้นๆ เมื่อโครงการเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนา  3  ปีแล้วก็เป็นหน้าที่ของสภา อบต. ในการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่าง ๆ เพื่อทยอยทำไปตามแผนพัฒนาของ อบต.                  นายก ฯ  ได้พูดต่ออีกว่า  แต่ละหมู่บ้านน่าจะมีการประชุมลักษณะนี้ให้บ่อยๆ  เพราะจะได้เรียนรู้ปัญหาและมาหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน  อะไรที่จะเสนอเป็นโครงการให้ทาง  อบต.  ช่วยเหลือก็สามารถเสนอขึ้นไปได้ หรือจะเป็นโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ก็ดี  การประชุมทำเวทีแบบนี้จะทำให้เรามีโครงการที่จะเสนอเยอะ  และจะส่งผลต่อการพัฒนาหมู่บ้านตำบลต่อไป
หมายเลขบันทึก: 109707เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2007 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท