หลักพระพุทธศาสนา


ใช้ปัญญานำหน้าความเชื่อ คือจะสอนให้ผู้นับถือมีปัญญาอย่างแท้จริง
หลักความเชื่อ ๑. ใช้ปัญญานำหน้าความเชื่อ  ศาสนาคือหลักคำสอนให้ผู้คนปฏิบัติตาม โดยมีผลเป็นความทุกข์ลดน้อยลงและมีความสุขมากขึ้น ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ศาสนาจะต้องมีศรัทธาหรือความเชื่อมาประกอบอยู่ด้วยเสมอ คือผู้คนที่นับถือศาสนาใดก็จะต้องมีศรัทธาในหลักคำสอนของศาสนานั้นก่อน แล้วจึงมีการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนานั้น ศาสนาโดยทั่วไปจะสอนให้มีความเชื่อมั่นในหลักคำสอนในศาสนาก่อนเป็นอันดับแรก โดยไม่เน้นเรื่องปัญญา ซึ่งก็มีผลดีอยู่มากแก่ผู้ที่ยังไม่มีเวลามาศึกษาหลักคำสอนที่ลึกซึ้งให้เข้าอย่างแท้จริง รวมทั้งแก่ผู้ที่ยังมีปัญญาไม่สูงพออีกด้วย พุทธศาสนาจะต่างกับศาสนาอื่นตรงที่สอนให้ใช้ปัญญามานำหน้าความเชื่อ คือจะสอนให้เข้าใจด้วยเหตุด้วยผลก่อนแล้วจึงค่อยมีศรัทธาตามมาทีหลัง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่พอจะมีปัญญาอยู่บ้างแล้ว และรวมทั้งผู้ที่ยังมีปัญญาไม่มากนัก

๒. เชื่อถือธรรมชาติว่าเป็นสิ่งสูงสุด    สิ่งสูงสุด หมายถึง สิ่งที่มีอำนาจสูงสุดในเอกภพ ที่ดลบันดาลหรือควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไป โดยศาสนาคริสต์และอิสลามจะนับถือ พระเจ้า (GOD) ว่าเป็นสิ่งสูงสุด ที่เป็นผู้สร้าง ผู้รักษา และผู้ทำลาย พุทธศาสนาจะต่างกับศาสนาอื่นด้านสิ่งสูงสุดนี้ตรงที่ไม่ยอมรับเรื่องพระเจ้าหรือเทพเจ้าว่าเป็นสิ่งสูงสุด แต่จะนับถือกฎธรรมชาติว่าเป็นสิ่งสูงสุดแทน พุทธศาสนาจะสอนว่าทุกสิ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมันเองโดยไม่มีใครมาควบคุม หรือดลบันดาล คือไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ หรือความเจริญ ความเสื่อมทั้งหลายทั้งปวงของเราและของมวลมนุษย์ทั้งหลายล้วนเป็นไปตามเหตุตามผลของธรรมชาติ

๓. เชื่อว่าชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้   เรามักจะมีความเชื่อกันว่าชีวิตถูกกำหนดไว้แล้วจากดวงชะตาบ้าง จากเวรกรรมจากชาติปางก่อนบ้าง เป็นต้น ซึ่งจะไม่สามารถฝืนให้เป็นอย่างอื่นๆได้ เรียกว่าเห็นชีวิตเป็นสิ่งตายตัวหรือถูกกำหนดเอาไว้แล้ว ไม่มีใครจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นได้ ซึ่งนี่เป็นหลักของศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนาจะสอนว่าชีวิตของเรานี้สามารถพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ คือไม่ว่าใครจะเป็นคนมีนิสัยไม่ดีเพียงใดก็ตาม ถ้าเขาตั้งใจใหม่แล้วเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัวเองอย่างจริงจัง เขาก็สามารถกลับมาเป็นคนมีนิสัยที่ดีได้

๔. เชื่อตนเอง   พุทธศาสนาจะสอนให้ขยันศึกษาหาความรู้ แต่ไม่สอนให้เชื่อในสิ่งที่ได้รู้มาทันที จนกว่าจะได้ทดลองหรือพิสูจน์มาแล้วจนเห็นแจ้ง ซึ่งนี่ก็คือหลักสำคัญของวิทยาศาสตร์ แต่เรามักจะไม่ค่อยจะเชื่อตนเอง เพราะเชื่อกันว่ามีผู้วิเศษที่เขารู้ดีกว่าเรา ดังนั้นเราจึงมักจะเชื่อเขา โดยไม่รู้ตัวว่าจะถูกหลอก

๕. เชื่อกรรม   กรรมหรือการกระทำด้วยเจตนานั้นบางลัทธิจะสอนว่าไม่มีผลใดๆเลย ไม่ว่าใครจะทำดีหรือทำชั่วอย่างไรก็ไม่มีผล ซึ่งจะทำให้คนที่เชื่อเช่นนี้มักจะทำความชั่วกันมาก เพราะเชื่อว่าไม่ต้องรับผล แต่พุทธศาสนาจะสอนว่ากรรมนี้มีผล ซึ่งผลในที่นี้ก็คือความรู้สึกส่วนลึกของจิตใจ คือเมื่อทำความดีก็จะมีผลให้จิตใจเป็นสุขทันที แต่ถ้าทำชั่วก็จะมีผลให้จิตใจเป็นทุกข์ทันที

๖. เชื่อความเพียร   บางลัทธิจะเชื่อว่าความเพียรพยายามทั้งหลายจะไร้ผล เขาจะเชื่อว่าทุกสิ่งเป็นไปโดยไม่มีเหตุมีผล จึงทำให้เขาขาดความเพียรพยายามและความกระตือรือร้น เพราะเชื่อว่าทำไปก็ไม่ได้อะไร แต่พุทธศาสนาจะสอนว่าถ้าเรามีความพยายามอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ก็ย่อมที่จะมีผลที่เราปารถนาได้ ตัวอย่างเช่นคนที่เคยทำชั่วมาก่อนและเพียรพยายามที่จะละชั่ว แล้วพยายามที่จะทำแต่ความดี เขาก็สามารถเป็นคนดีได้ เป็นต้น

๗. ไม่เชื่อจากเขาว่ามา    พุทธศาสนาจะสอนไม่ให้เชื่อจากคนอื่น เพราะมันอาจจะผิดพลาดได้ทั้งสิ้น ถ้าเชื่อแล้วบังเอิญเกิดผลดีก็โชคดีไป แต่ถ้าบังเอิญโชคร้ายก็จะเกิดผลที่ไม่ดีได้ ดังนั้นพุทธศาสนาจังสอนว่าอย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะได้พิสูจน์ทดลองมาแล้วด้วยตนเอง

๘. ไม่มีการบังคับให้เชื่อ    พุทธศาสนาจะไม่บังคับว่าจะต้องเชื่อและปฏิบัติตาม แต่จะสอนให้เข้าใจว่าทำไมจึงต้องปฏิบัติเช่นนั้น แล้วจะเชื่อหรือไม่ก็ตามใจ อย่างเช่น จะสอนให้เข้าใจว่าถ้าทำความชั่วแล้วจะมีผลไม่ดีอย่างไร และถ้าทำความดีแล้วจะมีผลดีอย่างไร เป็นต้น เรียกว่าให้ความจริงมันสอน ซึ่งการสอนเช่นนี้จะใช้กับผู้ที่ค่อนข้างจะมีสติปัญญาอยู่สักหน่อย ส่วนคนที่มีปัญญาน้อยก็ต้องใช้การบังคับจึงจะดีที่สุด

๙. ไม่เชื่อเรื่องงมงาย    เรื่องงมงายก็คือเรื่องที่ขาดเหตุผล และขาดความจริงมารองรับ อย่างเช่นเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผู้วิเศษ เป็นต้น ซึ่งอย่างดีก็เพียงทำให้สบายใจขึ้นมาหน่อยเท่านั้น แต่พอจะเอาจริงก็พึ่งพาอะไรไม่ได้ มีแต่จะทำให้โง่ยิ่งขึ้นและเสียทรัพย์มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้พุทธศาสนาไม่สอนให้เชื่อ ไม่ว่ามันจะมีจริงหรือไม่ก็ตาม การเชื่อตนเองและพึ่งตนเองจึงเป็นสิ่งดีที่สุด  ๑๐. ไม่เชื่อเรื่องเวรกรรมจากชาติปางก่อน    เรื่องเวรกรรมจากชาติแล้วๆมานั้นเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่ปะปนอยู่ในพุทธศาสนามาช้านานแล้ว ถ้าเราเชื่อเรื่องนี้เราก็จะไม่พัฒนาเพราะเชื่อว่าไม่สามารถฝืนได้ แต่ถ้าเราไม่เชื่อเราก็จะเป็นอิสระทางความคิด สามารถคิด พูด และทำสิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและสังคมได้
หมายเลขบันทึก: 109253เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2007 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท