โรงพยาบาลบ้านหมี่
โรงพยาบาลบ้านหมี่ โรงพยาบาลบ้านหมี่ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี

โรคกระดูกพรุน


โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสตรีวัยหมดประจำเดือน ก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนที่สำคัญคือกระดูกหักเมื่อสูงอายุ

ภาวะกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสตรีวัยหมดประจำเดือน ก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนที่สำคัญคือกระดูกหักเมื่อสูงอายุ โรคกระดูกพรุนในคนไทยมีความแตกต่างจากโรคกระดูกพรุนทางตะวันตกอย่างน้อย 3 ด้าน คือ ขนาดของปัญหาของโรคกระดูกพรุน ปริมาณแคลเซียมจากอาหารที่เหมาะสม และพันธุกรรมของโรคกระดูกพรุน ขณะนี้นักวิจัยไทยได้ให้ความสนใจพัฒนาวิธีการตรวจลักษณะทางพันธุกรรมในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกในตัวอย่างคนไข้ไทย โดยคาดว่าจากการตรวจกรองหาความผิดปกติของยีนตั้งแต่ต้น จะช่วยให้วางแผนในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคตได้

สาเหตุ

  1. การเกิดโรคกระดูกพรุนมีส่วนเกี่ยวพันกับความผิดปกติของยีนถึงร้อยละ 80 จากการศึกษาพันธุศาสตร์ของคนไข้โรคกระดูกพรุนอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ที่ได้ทำการตรวจความหนาแน่นของกระดูก ยังพบว่ามีความผิดปกติของยีน 3 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน วิตามินดี และแคลเซียม
  2. สามารถยืนยันได้ว่า ความผิดปกติของยีนทั้ง 3 ชนิด เป็นความผิดปกติทางด้านพันธุกรรม ซึ่งการตรวจกรองหาความผิดปกติของยีนตั้งแต่ต้น
  3. ปัจจัยทางด้านโภชนาการ เป็นส่วนที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแคลเซี่ยมและโปรตีน
  4. ฮอร์โมนเพศหญิง โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งพบว่านอกจากจะช่วยพยุงเนื้อกระดูกเอาไว้ ป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูกแล้วยังสามารถช่วยเพิ่มเนื้อกระดูกได้ด้วย โดยเอสโตรเจรออกฤทธิ์ผ่านแคลซิโตนิน และสร้างสารซึ่งมีผลควบคุมการทำงานของเซลสลายกระดูก ซึ่งจะช่วยทำให้เซลสร้างกระดูกทำงานได้ดีขึ้น

อาการ

ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไร จนกระทั่งกระดูกพรุนและจางมากจึงจะเกิดอาการต่างๆ ได้แก่

  1. เมื่อเกิดการหกล้มที่ไม่รุนแรง ก็จะเกิดกระดูกหัก บริเวณกระดูกหักที่พบได้บ่อยได้แก่ กระดูกหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ
  2. ปวดกระดูกหลัง ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะมีปัญหาปวดหลัง กระดูกสันหลังยุบตัวลง
  3. น้ำหนักลดเนื่องจากเนื้อกระดูกลดลง
  4. ผู้ป่วยจะหลังโก่ง หลังค่อม ตัวเตี้ยลง เตี้ยลง ให้วัดส่วนสูงปีละครั้ง ถ้าหากเตี้ยลงแสดงว่าอาจมีโรคกระดูกโปร่งบาง และอาจสังเกตพบว่ากล้ามเนื้อลีบลง
  5. กระดูกแขนขาเปราะและหัก ได้แก่ กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการพิการเดินไม่ได้ ผลจากการที่กระดูกหักจะทำให้ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งเดินด้วยตัวเองไม่ได้ และจากรายงานการศึกษาวิจัยพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 15-20
  6. อาจมีอาการแทรกซ้อนจากกระดูกหัก เช่น ปอดบวม แผลกดทับ ติดเชื้อ แขนขาใช้งานไม่ได้ ทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตได้โดยง่าย

การตรวจยีน

การตรวจทางพันธุกรรมโดยใช้ marker สำหรับตรวจยีนปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนที่พัฒนาได้ร่วมกับลักษณะทางคลินิกเพื่อทำนายว่าสตรีรายใดจะเกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคต จะสามารถเพิ่มความแม่นยำและเกิดการป้องกันโรคกระดูกพรุนอย่างมีประสิทธิภาพ

การวัดความหนาแน่นของกระดูก

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนในระยะเริ่มแรกทำได้โดยการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก ซึ่งสามารถตรวจพบการลดลงของเนื้อกระดูกตั้งแต่ระยะเริ่มแรกได้ เป็นการตรวจที่สะดวก รวดเร็ว ตรวจที่กระดูกสันหลัง กระดูกต้นขา กระดูกข้อมือ หรือกระดูกหน้าแข้ง แล้วแต่การออกแบบของเครื่อง สามารถคำนวณความหนาแน่นของกระดูกโดยเปรียบเทียบกับค่ามาตราฐาน โดยค่าความหนาแน่นของกระดูก หมายถึงปริมาณของแคลเซี่ยมที่อยู่ภายในกระดูก ยิ่งความหนาแน่นมาก แสดงว่ากระดูกมีความแข็งแรงมาก ปัจจุบันแนะนำให้ทำการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกทุก 2-3 ปี เพื่อติดตามสภาพความแข็งแรงของกระดูกว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่

การรักษา

ปัจจุบันมีการใช้ยาหลายชนิดในการรักษาโรคกระดูกพรุน ได้แก่

  1. ฮอร์โมนเอสโตรเจน ใช้สำหรับสตรีที่มีความเสี่ยงสูง ผู้ที่ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ก่อนอายุ 50 ปี ผู้ที่ตรวจพบว่าความหนาแน่นของกระดูกผิดปกติ กลไกการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นการลดอัตราการทำลายเนื้อกระดูก ช่วยให้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้มากถึงร้อยละ 50-70 เมื่อใช้ยาไปนานสิบปี ขนาดที่ใช้วันละ 0.3-0.625 มิลลิกรัม ชนิดรับประทาน ได้แก่ Premarin, Estrace, Estratest ชนิดแผ่นแปะ ได้แก่ Estraderm, Vivelle
  2. Alendronate และ risedronate เป็นยาในกลุ่มไบฟอสโฟเนต ใช้รักษาภาวะกระดูกพรุนที่เกิดการใช้สเตียรอยด์ ออกฤทธิ์โดยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกและลดการทำลายเนื้อกระดูก ยาที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ alendronate (Fosamax) และ risedronate (Actonel) การใช้ยาทั้งสองนี้ต้องรับประทานตอนกระเพาะว่าง ไม่ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารก่อนกินยา 30 นาที และ 30 นาทีหลังกินยา
  3. Raloxifine (Evista) เป็นยาในกลุ่ม selective estrogen receptor modulator (SERM) ออกฤทธิ์เหมือนกับฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ไม่มีผลข้างเคียงเหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ใช้ได้ทั้งเพื่อรักษาและป้องกันโรคกระดูกพรุนในขนาดวันละ 60 มิลลกรัม
  4. Calcitonin-salmon (Calcimar, Miacalcin) เป็นยาที่สังเคราะห์ขึ้นให้มีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกับฮอร์โมนแคลซิโทนินที่พบในปลาแซลมอน รูปแบบฉีดในขนาดวันละ 50-100 หน่วย ส่วนชนิดยาพ่นจมูกใช้ในขนาด 200 หน่วยต่อวัน
  5. พาราธัยรอยด์ฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์ (Forteo) เป็นยาฉีดใช้ในสตรีวัยหมดประจำเดือนกลุ่มเสี่ยง ขนาดที่ใช้ 29 ไมโครกรัมวันละครั้งเป็นเวลานาน 24 เดือน ออกฤทธิ์กระตุ้นเซลล์สร้างกระดูกให้ทำหน้าที่ไดดียิ่งขึ้น สามารถใช้ร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนได้

การป้องกัน

  1. ป้องกันการสูญเสียความแข็งแรงของกระดูกลงได้ โดยรับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมมากร่วมกับวิตามินที่เร่งการดูดซึมคือ วิตามิน ดี และ ซี เช่น นม ผัก ผลไม้ใบเขียว น้ำส้ม และปลาต่างๆ ส่วนอาหารประจำวันซึ่งเป็นอาหารไทยๆ หาได้ง่ายๆ ราคาไม่แพง และมีสารอาหารแคลเซียมสูง ได้แก่ กุ้งแห้งตัวเล็ก กุ้งฝอย กะปิ ปลาสลิด งาดำคั่ว เต้าหู้ ถั่วเหลืองสุก ถั่วเขียวสุก ใบยอ มะขามฝักสด ผักคะน้า มะเขือพวง
  2. รับประทานแคลเซี่ยมที่อยู่ในรูปของยาเพิ่มเติม
  3. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยเพิ่มต้นทุนของเนื้อกระดูกให้หนาแน่นมากขึ้น และการทำกิจกรรมต่างๆ ในผู้สูงอายุจะช่วยรักษาสภาพของกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่นของข้อต่อต่างๆ ความแข็งแรงของกระดูก ล้วนแล้วแต่เป็นการป้องกันอันตรายที่อาจรุนแรงจากการหกล้ม ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
  4. เลิกสุราและบุหรี่ จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงและชลอการเกิดภาวะกระดูกพรุนลงได้ เนื่องจากสุรา กาแฟ และบุหรี่ เป็นสารที่ชะลอการดูดซึมแคลเซียม
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ    ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ  www.bangkokhealth.com
คำสำคัญ (Tags): #osteoporosis
หมายเลขบันทึก: 108466เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2007 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน นพ.วรวุฒิ เจริญศริ

ด้วยข้าพเจ้า นางจตุพร คำวิลัย อยากเรียนถามว่ายาพ่อจมูกเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสามารถเบิกราชการได้หรือไม่ เนื่องจากตอนนี้แม่ของข้าพเจ้าป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน ไปตรวจมวลกระดูกแล้ว ติด - 6 กว่า คุณหมอบอกว่ารุนแรงมาก

ต้องใช้ตัวยาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งราคาแพงมากและเบิกไม่ได้ ประมาณ 3,000 กว่า ต่อขวด ข้าพเจ้าได้พาแม่ไปรักษที่ศูนย์ศรีพัฒน์จังหวัดเชียงใหม่ หากพาแม่ไปรักษาโรงพยาบาลของรัฐจะเบิกได้หรือไม่ จึงรบกวนเรียนถามมา

ขอแสดงความนับถือ

นางจตุพร คำวิลัย

นางเรวดี พิทักษืมงคล

โรคกระดูกพรุนพบในสตรีมากกว่าชาย แต่การรักษาในโรงพยาบาลของรัฐมีปัญหาในเรื่องขั้นตอนของการวินิจฉัยเพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ดีมีคุณภาพ เนื่องจากกฎระเบียบที่ตั้งไว้ ดิฉันคิดว่าไม่ค่อยยุติธรรมนัก เพราะเมื่อมีอาการปวดเข่า ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดแขน แพทย์ได้ให้ยาแก้ปวด และยาเพิ่มน้ำในไขข้อมารับประทาน อาการดีขึ้น ต่อมาเบิกยาเพิ่มน้ำไขข้อไม่ได้ แพทย์ได้เปลี่ยนเป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนและเพิ่มแคลเซียมให้  แพทย์นัดให้ตรวจมวลกระดูก เพื่อจะได้จ่ายยาที่ถูกต้อง แต่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่มีเครื่องตรวจมวลกระดูกของตนเอง ต้องจ้างเอกชนดำเนินการแต่โรงพยาบาลไม่ยินยอมให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ จะวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์กระดูกสันหลังต้องอายุเกิน 65 ปี แต่ดิฉันอายุยังไม่ได้ตามเกณฑ์ อยากให้อาจารย์ช่วยแนะนำวิธีการดูแลตนเอง การรักษาที่ถูกต้อง (ดิฉันเป็นถุงน้ำที่รังไข่ รักษาโดยการตัดมดลูก รังไข่ออกมด เมื่ออายุ 45 ปี)

ขอแชร์ข้อมูลติดต่อยา Forteo ค่ะ เนื่องจากต้องเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศา C. ท่านใดใช้ยาตัวนี้และต้องพกพาไปข้างนอก สามารถโทรขอกระเป๋าเก็บยาพกพาได้ค่ะ อยู่ได้ประมาณ 6 ชม. (ระยะเวลาสอบถามพนง. ให้แน่ใจอีกครั้งนะคะ)เบอร์ 02-612-6266, 061-401-8100 เวลาทำการ 08.00-17.00 น.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท