เพื่อนช่วยเพื่อน...เวทีจัดการความรู้ที่ตำบลบางจาก


การวิเคราะห์ ตนเอง ครอบครัว ชุมชน เพื่อนำไปสู่วิถีการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยวิธีการเดิม “โอ่งรับ-จ่าย”

ผมเดินทางจากโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช  ตอนเที่ยงเศษ  ด้วยมอเตอร์ไซด์คู่ชีพ ไปถึงที่ทำผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลบางจาก  มีชาวบ้านนั่งกันอยู่ส่วนหนึ่งกำลังลงชื่อเข้าร่วมเวที  สักครู่ครูสุธาสินี  (ครู ศรช.) ก็มาถึง ตามด้วยครูแต้ว  น้องกนธ์ธร  (น้องจักร์) เจ้าพนักงานเกษตร ของ อบต.บางจาก  และปิดท้ายรายการที่ พี่จุรีย์  นักพัฒนาชุมชน 

ครูแต้วเป็นคนเริ่มรายการเวทีนี้  โดยได้แนะนำทีมคุณอำนวย  และมอบหมายหน้าที่ให้ผมเป็นคนนำกระบวนการ ส่วนครูแต้ว  ก็ทำหน้าที่คุณลิขิต  พี่จุรีย์  น้องจักร์  ช่วยบริการอุปกรณ์  ผมเริ่มกระบวนการเวทีด้วยการชี้แจงความเป็นมาของโครงการ  ตามด้วย การวิเคราะห์ ตนเอง  ครอบครัว  ชุมชน  เพื่อนำไปสู่วิถีการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง  ด้วยวิธีการเดิม  โอ่งรับ-จ่าย  ซึ่งได้ผลครับ...

ชาวบ้านวิเคราะห์ตนเอง  ครอบครัว ในเรื่องของรายรับ รายจ่าย  และวิธีการที่จะลดรายจ่ายในครัวเรือนของหมู่ที่  2  บ้านท่าสะท้อน  ตำบลบางจาก  ในเรื่อง  ของ การปลูกผักสวนครัว  เลี้ยงสัตว์  โดยได้แบ่งพื้นที่การปฏิบัติเป็น  3  โซน  แต่ละโซนต้องกลับไปดำเนินการในพื้นที่ของตนเองตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในวันนี้  คือ 

  • คัดเลือกคณะกรรมการโซน
  • ปฏิบัติกิจกรรม การลดรายจ่าย ตามที่แต่ละโซนกำหนด

โดย ในเวทีหน้า แต่ละโซนจะต้องมานำเสนอตามที่ได้ไปปฏิบัติมาแล้วเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโซน  เวทีนี้ครูแต้วเขียนกันเมื่อยมือ  ส่วนผม สบาย เพียงแต่กระตุ้นเท่านั้นกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชาวบ้านอยากทำก็ออกมาเอง  ที่น่าสงสารกว่าคนอื่นก็คือ  ผู้ใหญ่มล  เพราะชาวบ้านบอกว่าเพื่อไม่เป็นการลำเอียง  ผู้ใหญ่บ้านต้องรับเป็นประธานโซน ทั้ง  3  โซน  ผมนึกชอบกุสโลบาย ของชาวบ้าน  ที่ทำอย่างนั้นเพราะหากผู้ใหญ่พูดสมาชิกของแต่ละโซนจะฟังและทำได้  หากให้คณะกรรมการไปชี้แจง กลัวว่าคนอื่นจะไม่ทำตาม  เยี่ยมจริงๆ ครับ...

                หลังจากที่กระบวนการเวที และการมอบการบ้านให้ผู้เข้าร่วมเสร็จสิ้น พวกเราก็ช่วยกันสรุปเวที  เริ่มตั้งแต่  ผม  พี่จุรีย์  น้องจักร์  ครูสุธาสินี  ปิดท้ายที่ ครูแต้ว ส่วนคนที่ปิดเวทีวันนี้คือ อดีตผู้ใหญ่บ้าน  ผมขอตัวแยกกับทีมงาน  เดินทางกลับ   อยากรู้รายละเอียดเวทีของบ้านท่าสะท้อน หมู่ที่ 7 ตำบลบางจาก ก็ให้ติดตามบันทึกของครูแต้วเมืองคอนนะครับ...  คราวหน้า จะเล่าวิธีการกระตุ้นให้ชาวบ้านวิเคราะห์ตนเอง   และครอบครัวด้วย  โอ่งรับ-จ่าย คอยติดตามนะครับ...
หมายเลขบันทึก: 108359เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2007 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท