เวทีเรียนรู้สู่ชุมชนอินทรีย์ หมู่ที่ 6 ตำบลมะม่วงสองต้น


ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเราต้องเร่งทำอีกอย่างหนึ่งคือ... การสร้างคุณอำนวย ผู้นำกระบวนการในระดับชุมชนหมู่บ้านให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง

เวทีเรียนรู้สู่ชุมชนอินทรีย์    หมู่ที่ 6  ตำบลมะม่วงสองต้น  เวทีนี้ทีมคุณอำนวยมาเหมือนเดิม  คือ ผม  จากหน่วยงาน  กศน.  พี่เชาวนะ จากหน่วยงานเกษตร  ส่วนพี่แขก  จากสำนักงานพัฒนาชุมชน ต้องวิ่งรอกไปที่ตำบลท่างิ้ว   เวทีของหมู่ที่  6   จัดที่ ใต้อาคารประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบลมะม่วงสองต้น  โดยเริ่มเวลา  บ่ายโมง  ซึ่งผู้ใหญ่ประกอบ  รับประสานงานในเรื่องของสถานที่

เวทีของหมู่ที่  6  ก็ยังคงมีผู้นำทั้ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะม่วงสองต้น  รองนายก  และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมะม่วงสองต้น หมู่ที่ 6  และคณะกรรมการหมู่บ้าน  รวมทั้ง  8  แกนนำ  และยังมี พี่โค  สมาชิกสภา อบต. หมู่ที่ 3  มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย   พี่โคบอกว่า  เตรียมความพร้อมเพื่อจัดเวทีในปีหน้า... ตอบซะผมชื่นใจเลยครับ...

เวทีแรกของหมู่ที่ 6  ผมยังใช้กระบวนการเดิมครับ... โอ่งรับ-จ่ายโดยชาวบ้านช่วยกันนำเสนอในเรื่องของรายได้ของแต่ละครัวเรือน และรายจ่ายของครอบครัวในภาพรวมของหมู่บ้าน  และให้ร่วมกันสรุป หาแนวทางในการลดรายจ่าย  เพิ่มรายได้  และนำไปสู่การออม   ซึ่งผลก็ยังคงเป็นการลดรายจ่ายเกี่ยวกับเรื่องของอาหารการกิน  ไม่พ้นการปลูกผักเลี้ยงสัตว์ ไว้กินเอง  โดยที่หมู่ที่ 6  มีการเสนอกิจกรรมของแต่ละครัวเรือนที่หลากหลายมาก  ผมก็เลยอยากลองให้ทำเป็นรายครัวเรือนว่าเมื่อทำแล้วได้ผลอย่างไร  โดยให้ทุกคนคิดกิจกรรมที่จะกลับไปทำที่บ้านของตัวเอง  แล้วนำผลการปฏิบัติมาแลกเปลี่ยนกันไปเวทีหน้า 

ผมคิดว่าการบ้านที่ให้ผู้เข้าร่วมเวทีหมู่ที่ 6  ในวันนี้ จะเกิดเป็นความรู้และมีตัวอย่างการเรียนรู้ของหมุ่บ้านที่หลากหลาย  แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นไปอย่างที่ทีมคุณอำนวยคิดหรือเปล่า...คงต้องรอดูกันครับ...

ปิดท้ายเวทีหมู่ที่ 6  ของตำบลมะม่วงสองต้นวันนี้ด้วยเวทีประชาคมเสนอโครงการ  พพพ.  เหมือนกัน ครับ...  จากที่ผ่านมาหลายๆ หมู่บ้าน ผมคิดว่าชาวบ้านสามารถที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้โดยมีผู้นำกระบวนการ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพียงแต่ตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ต้องมีให้เยอะและบ่อยครั้ง เช่น ที่ผ่านมามีโครงการอยู่ดีมีสุข  และโครงการ พพพ. เข้ามาเป็นตัวกระตุ้นให้มีกระบวนการ ซึ่งน่าจะมีโครงการลักษณะนี้บ่อยๆ ชาวบ้านจึงจะเกิดกระบวนการร่วมคิดร่วมทำมากขึ้น

ผมไม่ได้กลัวว่าทีมคุณอำนวย จะไม่มีความหมายในสายตาชาวบ้าน  แต่ผมคิดว่า หากเราจะพัฒนาวิธีการทำงานจากการมาร่วมเรียนรู้  เปลี่ยนจากผู้ทำกระบวนการกระตุ้นมาเป็นผู้ประสานให้เกิดกิจกรรมและเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลในยามที่ชาวบ้านมีปัญหาเจอทางตันก็สามารถที่จะ ทำหน้าที่ทำกระบวนการในการแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านเพื่อให้เดินกิจกรรมต่อไปได้

ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเราต้องเร่งทำอีกอย่างหนึ่งคือ... การสร้างคุณอำนวย ผู้นำกระบวนการในระดับชุมชนหมู่บ้านให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง  นอกจากที่ให้ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำเวทีประชาคมซึ่งเป็นคนเดิมๆ  ผมคิดว่ามันจะทำให้คนในชุมชนมีความกล้าที่จะแสดงออกกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุมีผล และมองเห็นคุณค่าของคนเองและคุณค่าของผู้อื่นพร้อมทั้งยอมรับฟังความคิดเห็น และพร้อมที่จะนำมติของเวทีที่ประชุม หรือมติประชาคมไปปฏิบัติ  ผมคิดว่าหากทำอย่างนี้ชุมชนหมู่บ้านจะเกิดการพัฒนาอย่างเข้มแข็งสมบูรณ์และยั่งยืน 
หมายเลขบันทึก: 108355เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2007 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 11:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท