เวทีเรียนรู้สู่ชุมชนอินทรีย์ หมู่ที่ 2 ตำบลมะม่วงสองต้น


อันที่จริง กระบวนการเรียนรู้นั้น ชาวบ้านเองก็สามารถทำกันเองได้ แต่ต้องมีตัวกระตุ้นให้เกิดกระบวนการ

เวทีเรียนรู้สู่ชุมชนอินทรีย์    หมู่ที่ 2  ตำบลมะม่วงสองต้น  เวทีนี้ทีมคุณอำนวยมาเหมือนเดิม  คือ ผม  และครูแต้ว  จากหน่วยงาน  กศน.  พี่เชาวนะ จากหน่วยงานเกษตร  พร้อมกับพี่แขก  จากสำนักงานพัฒนาชุมชน และเพื่อนครูจาก กศน. 4  ท่าน มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย   โดยจัด    ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2  ตำบลมะม่วงสองต้น เวลา  9  โมงเช้า  

เวทีของหมู่ที่  2  ตำบลมะม่วงสองต้น วันนี้ผมสบายใจเป็นพิเศษ  เพราะเคยเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการจัดการความรู้เรื่องสถาบันการเงิน  มีแกนนำที่มีความรู้ความสามารถ เช่นพี่สุเทพ  ซึ่งทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวการทำเวทีในวันนี้... ในส่วนของหมู่บ้าน  ผมมองหาน้องพร...  คุณกิจแกนนำคนเก่งตอนทำตำบลนำร่อง ผู้ใหญ่สุธรรม บอกให้ทราบว่า  น้องพรไปเป็นครูจ้างเสียแล้ว  ยังนึกเสียดายไม่เช่นนั้นเวทีวันนี้คงจะมี ความคึกคักมากขึ้น  ที่สำคัญคือ  ผู้นำชุมชนมากันอย่างคับคั่งทีเดียว  ตั้งแต่  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะม่วงสองต้น  รองนายก  และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมะม่วงสองต้น หมู่ที่ 2  ซึ่งทำให้เห็นถึงความร่วมมือ ทั้งระดับผู้นำและประชาชน

9  โมงเศษ  ผู้ที่มาเข้าร่วมเวทีวันนี้ลงชื่อเข้าร่วมเวที เมื่อพร้อม ผู้ใหญ่สุธรรม  สมทอง  ก็เริ่มเปิดรายการ ทักทายผู้ที่มาร่วมโครงการ และแนะนำตัว ทีมคุณอำนวย  และมอบหน้าที่ต่อให้พวกเรา  เวทีนี้มีคุณกิจ  2  คนคือ  พี่  สุเทพ  ในส่วนของหมู่บ้าน  และครูแต้ว  คู่หูของผม  ส่วนผมเหมือนเคย  ต้องทำในส่วนของกระบวนการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ...

เริ่มรายการกันที่ผม ชี้แจงความเป็นมาของโครงการและความสำคัญที่ประชาชนในหมู่ที่ 2 ต้องทำ ว่าด้วยเรื่อง แผนชุมชนพึ่งตนเอง  ที่ระดับ  บุคคล  ครัวเรือน  กลุ่ม  และระดับหมู่บ้านทำเองได้  โดยให้ชาวบ้านวิเคราะห์ตนเองและหมู่บ้าน โดยใช้กระบวนการ  โอ่งรับ-จ่าย  โดยชาวบ้านช่วยกันนำเสนอในเรื่องของรายได้ของแต่ละครัวเรือน และรายจ่ายของครอบครัวในภาพรวมของหมู่บ้าน  และให้ร่วมกันสรุป หาแนวทางในการลดรายจ่าย  เพิ่มรายได้  และนำไปสู่การออม

พี่จิราพรรณ  เป็นคณะกรรมการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรของตำบลมะม่วงสองต้น  ได้อภิปรายว่า  ประชาชนในพื้นที่ ประกอบอาชีพทางการเกษตร มีทั้งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์  ซึ่งการเพาะปลูกส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกพืชผัก  นอกจากไว้บริโภคเองแล้วยังส่งขายอีกด้วย  และเสนอแนวทางการลดรายจ่ายโดยวิธีการใช้ปุ๋ยหมักในการเพาะปลูกเป็นการลดต้นทุน  ทั้งปุ๋ยหมักแห้ง  และปุ๋ยน้ำชีวภาพ  ซึ่งสมาชิกผู้เข้าร่วมเวทีเห็นด้วยและพี่จิราพรรณ  พร้อมที่จะเป็นวิทยากรให้ความรู้ พร้อมกับพี่เชาวนะ  เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตร 

ผมถามว่าในการดำเนินการผู้เข้าร่วมโครงการจะเริ่มดำเนินการกันอย่างไร  ก็ได้คำตอบว่า  เริ่มกันที่บ้าน  คือทุกคนกลับไปพัฒนาแปลงผัก หรือพืชผักสวนครัวที่บ้านก่อนนำร่องไปสู่การทำเพื่อส่งขาย  โดยเน้นที่เป็นผักปลอดสารพิษ  สิ่งที่ชาวบ้านนำเสนอในวันนี้ก็เลยเป็นการบ้านที่ทุกครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการต้องกลับไปทำแล้วมาเล่าสู่กันฟังในเวทีต่อไป

หลังจากจบรายการของผมกับคณะแล้ว  พวกเรายังคงต้องนั่งเป็นพี่เลี้ยงในการทำเวทีประชาคมเพื่อจัดทำโครงการ  พพพ.  อีกด้วยซึ่งเรื่องนี้  ผู้ใหญ่สุธรรม  เป็นผู้นำกระบวนการในการหาความต้องการของชุมชนและร่วกันคิดโครงการที่จะนำเสนอให้ทางอำเภอพิจารณา ซึ่งก็ได้ผ่านไปอย่างเรียบร้อย  ผมมาคิดดูว่า... อันที่จริง กระบวนการเรียนรู้นั้น  ชาวบ้านเองก็สามารถทำกันเองได้  แต่ต้องมีตัวกระตุ้นให้เกิดกระบวนการ  เช่นตอนนี้มีโครงการ  อยู่ดีมีสุข  และโครงการ  พพพ.  เข้ามากระตุ้นคนในชุมชนให้มีการวิเคราะห์ตนเอง ชุมชน ว่ามีศักยภาพในการทำ หรือรองรับโครงการต่าง ๆ จากภาคส่วนต่าง ๆที่ลงมายังหมู่บ้านเพียงใด
หมายเลขบันทึก: 108351เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2007 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท