ขยะยิ้ม....คนยิ้ม


ตลาดนัดสีเขียว

            ประมาณ 8 โมงเช้าของทุกวันเสาร์ จะต้องไปส่งลูกสาวคนโต (10ปี) ไปเรียนพิเศษที่โรงเรียน วันนี้ก็เช่นเดียวกันใช้พาหนะมอเตอร์ไซค์คู่ชีพ ข้างหน้ามีลูกชายคนเล็ก (6 ปี) นั่งไปด้วย  หลังจากส่งลูกสาวแล้ว ถามลูกชายว่าไปเที่ยวตลาดนัดสีเขียวกับแม่ไหม๊  ลูกชายบอกแล้วแต่แม่   ตลาดนัดสีเขียวจะจัดขึ้นเฉพาะวันเสาร์ ที่ริมสระน้ำข้างวัดจุมพลสุทธาวาส ใกล้อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง  บรรยากาศดีมาก ด้านหนึ่งติดสระน้ำ ด้านหนึ่งติดถนนใหญ่ ผู้คนสัญจรไปมาก็มองเห็นได้สะดวก  ตลาดนัดสีเขียวเป็นที่ที่ดิฉันชอบไปมาก (ตื่นเช้าวันเสาร์ เหมือนมีนัดกับใครแล้วไม่อยากผิดนัด ต้องไปให้ได้)

            ขอขยายแนวคิดของตลาดก่อน  "ตลาดนัดสีเขียว"  หมายถึงการที่ชาวบ้านนำผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกหรือเลี้ยงไว้ตามธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี มารวมตัวกันขาย เคยถามแม่ค้าว่าจะรู้ได้อย่างไรว่า ผักผลไม้ที่มาขายนั้น ปลอดสารจริง เขาบอกว่าพวกเราจะเป็นหูเป็นตากันเอง หากมีคนอื่นเข้ามาขายแล้วไม่ใช่แนวคิดเดียวกับพวกเรา เราจะรู้ทันทีแล้วผลักดันไม่ให้ขาย อืม ฟังดูแล้ว ถ้ากลุ่มสีเขียวเข็มแข็งอย่างนี้ก็ดีซินะ  ตลาดนัดสีเขียวเริ่มก่อตัวขึ้นมาประมาณ ปี 2545  เริ่มขยายจำนวนร้านค้าขึ้นเรื่อย ๆ หลัง ๆ ไม่ใช่มีแต่ผัก ผลไม้ หากแต่มีอาหารสำเร็จ ขนมพื้นเมือง สมุนไพร ฯลฯ มาขายเพิ่มขึ้น  ซึ่งทำให้เป็นบรรยากาศของตลาดมากขึ้น ด้วยความหลากหลายของสินค้านั่นเอง  ดิฉันเองชอบซื้อกล้วยน้ำว้า  มะพร้าวเผา ขนมพื้นเมือง (ชื่อแปลก ๆ ออกเสียงไม่ค่อยถูก)  โดยเฉพาะขนมที่เอามาทำให้ดูกันเห็น ๆ  มีเสน่ห์มาก สะท้อนความเป็นภูมิปัญญา คุณค่าของธรรมชาติได้อย่างน่าชื่นชม  ของที่ว่านี้ ซื้อทุกครั้งที่ไป บางทีซื้อมาก็ทานไม่หมด แต่ไม่รู้ด้วยเหตุใด ต้องซื้อ....งง..ตัวเองเหมือนกัน

             วันเสาร์นี้ที่ตลาดนัดสีเขียว มีมุมแปลกจากที่เคยเห็น มองไปเห็นป้ายเขียนว่า  "ขยะยิ้ม"  ดิฉันรี่เข้าไปอย่างไม่รอช้า ยืนอ่านข้อความ ดูภาพ แล้วก็ทำให้พอเข้าใจว่ามีกลุ่มคนที่กำลังทำงานเพื่อสาธารณะ เรื่องการลดขยะ  นำเอาขยะมาเป็นประโยชน์ สักพักมีน้องผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาถามว่า "พี่สนใจขยะยิ้มไหม๊คะ"   จึงได้มีโอกาสซักถามความเป็นมาได้ความว่า เป็นการทำงานของกลุ่ม "เครือข่ายเกษตรทางเลือก"  ที่ต้องการนำขยะซึ่งกำลังจะล้นเมือง  มาทำให้เกิดประโยชน์โดยการแยกขยะ เน้นไปที่ขยะสด หรือขยะเปียก ที่ย่อยสลายได้ ที่ได้จากเศษอาหาร ผัก ผลไม้ หรืออาหารสดอื่น ๆ ชักชวนคนที่สนใจมาเป็นเครือข่าย โดยแจกถังพลาสติกสีดำพร้อมหัวเชื้อกากน้ำตาล 1 ขวด  อธิบายการแยกขยะสด ใส่ไว้ในถังดำ แล้วหยอดหัวเชื้อข้น ๆ เหมือนราดนมข้น (จะช่วยให้ย่อยสลายได้เร็ว) ปิดฝา  จากนั้นดิฉันก็วาดแผนที่บ้านไว้ให้ เขาบอกว่าทุกวันเสาร์จะมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บแล้วเปลี่ยนถังให้ใหม่  ดิฉันถามว่าขยะที่ได้เอาไปไหน เขาบอกว่าเอาไปให้แม่ค้าพ่อค้าในตลาดนัดสี่เขียวไปใส่แปลงผัก 

               คุยกันสักพัก ดิฉันยินดีเป็นเครือข่ายด้วย เพราะปกติที่บ้านก็แยกขยะอยู่แล้ว เพียงแต่ขยะสดมักจะถูกสาดเท ไปตามต้นไม้บ้าง ซึ่งบางทีย่อยไม่ทัน ฝนตกมาก็มีปัญหาเรื่องกลิ่นไม่โสภา   ลูกชายยืนฟังแม่คุยกับเจ้าหน้าที่แล้ว ถามว่าแม่เป็นสมาชิกทำไม แม่จะไปทำงานกับเขาเหรอ หนูไม่อยากให้แม่ไปทำงานที่อื่น  ดิฉันต้องอธิบายให้ลูกฟังว่า ไม่ใช่อย่างที่ลูกเข้าใจ เรากำลังจะเอาขยะไปทำปุ๋ยให้ต้นไม้โตเร็วไง  ลูกชายพยักหน้า ว่าแล้วก็ช่วยแม่หิ้วถังดำที่เขาแจกให้ใส่มอเตอร์ไซค์ขี่กลับบ้าน  ระหว่างทางก็ชวนลูกคุยเรื่องขยะที่บ้านเรามีทุกวัน ว่าเราจะทำขยะให้เป็นปุ๋ยกันนะลูก ทำง่าย ๆ หนูก็ทำได้ เมื่อรถจอดถึงบ้าน ลูกชายกระวีกระวาดยกถังวิ่งไปหลังบ้านพร้อมตะโกนถามว่า " แม่....ตั้งไว้ตรงไหนดี"  ดิฉันเดินตามไปพร้อมบอกที่วาง แล้วช่วยกันเทเศษอาหารที่เหลือจากกินเมือวานและเมื่อเช้า เทใส่ถัง พร้อมให้ลูกเป็นคนราดหัวเชื้อ ลูกชอบใจ บอกแม่ "เหมือนราดช็อคโกแลตบนไอติม"  พร้อมวิ่งไปหาเศษใบตองหลังบ้านมาใส่อีกอย่างสนุกสนุน

         เช้าวันเสาร์นี้ก็เป็นอีกวันที่มีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้น การมีส่วนร่วมในการทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ทำประโยชน์เพื่อคนอืน ขณะเดียวกันก็เกิดกิจกรรมความสัมพันธ์แม่ ลูก...... มีหรือใจเราจะไม่เบิกบาน ขอบคุณเช้าวัน(สุข)เสาร์

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 107672เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2007 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณสำหรับกระแสตอบรับดีๆค่ะ

ขอบคุณนะค่ะสำหรับความคิดเห็นดีๆและการเข้าร่วมในโครงการ หากมีเพื่อบ้านสนใจก็สมัครเพิ่มได้นะค่ะ

ธัญญา(ผู้ประสานงานโครงการ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท