เรื่องเล่า จากผู้ป่วยเบาหวานที่พิการเท้า


“การจะอยู่กับเบาหวานอย่างมีความสูข ก็ต่อเมื่อรู้จักทำใจให้ได้ และรู้จักการปล่อยวางบ้าง”


          นภา เป็นผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีประวัติตัดเท้า รับการดูแลอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ตั้งแต่ปี 2547 สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ไม่มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆเพิ่ม และดำเนินชิวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข รวมทั้งเป็นตัวอย่างในการเล่าการปฏิตัวตัว ทัศนคติที่ดีต่อโรคให้กับผู้เป็นเบาหวานคนอื่นๆ
         นภา รู้จักกับเบาหวานครั้งแรกพร้อมๆกับรู้ว่าต้องตัดเท้า เมื่อต้นปี 2547 โดยครั้งแรกแผลที่ฝ่าเท้าเกิดจากการเหยียบหนามระหว่างการดำนา แต่ด้วยภาระที่เร่งรีบ นภายังคงลงดำนาต่อ และทำแผลด้วยตนเองทุกวัน จนกระทั่งเท้ามีลักษณะบวมแดง มีหนองไหลออกมา จึงตัดสินใจไป ร.พ.หลังจากนั้นอีก 5 วัน เพื่อให้แพทย์กรีดเอาหนองออกและให้ยาปฏิชีวนะ  แต่ความสะเทือนใจอย่างที่สุดก็เกิดขึ้นในเช้าวันต่อมา  พร้อมๆกับการให้ข้อมูลของแพทย์ ว่าแผลที่เท้ามีการติดเชื้ออย่างรุนแรง มีการเน่าตายของเนื้อเยื่อ ที่เห็นได้ชัดคือ นิ้วทั้ง 5 มีสีดำคล้ำ จำเป็นต้องตัดนิ้วเท้าทั้งหมด 4 นิ้ว(Ray amputation)  การต่อรองเริ่มเกิดขึ้นระหว่างนภา และแพทย์ว่าถ้าไม่ตัดจะเกิดอะไรขึ้น เพราะจากประสบการณ์ของนภา พบว่าคนเป็นเบาหวานที่ตัดเท้าจะต้องตัดต่อไปเรื่อยๆ จนตาย แต่แพทย์ก็ยืนยันว่าถ้าไม่รีบตัด การติดเชื้อจะรุนแรงและถ้าติดเชื้อในกระแสเลือดอาจถึงตายได้  นภาจึงต้องตัดสินใจให้แพทย์ตัดนิ้วพร้อมกับความกลัวอย่างที่สุด และคิดในตอนนั้นว่า “ตายดีกว่า ที่จะพิการตัดขา”  แต่แล้วความกลัวของนภา ว่าจะมีการตัดสูงไปเรื่อยๆก็เป็นจริงหลังจากนั้นอีกเพียง 2 วัน เมื่อแผลไม่ดีขึ้น มีรอยดำทั้งเท้า แพทย์จำเป้นต้องตัดเพิ่ม(Syme amputation) ครั้งนี้แพทย์ให้ความมั่นใจกับนภา ว่าเราจะต้องสู้ร่วมกัน หมอจะทำให้ดีที่สุด ถึงจะตัดมากหน่อยก็ยังเหลือส้นเท้าไว้เพื่อที่สามารถเดินได้อีก ในวันนั้นท่ามกลางความคิดที่สับสนของนภา ยังมีสามีและลูกที่ใกล้ชิดตลอดเวลา พร้อมๆกับคำพูดของลูกสาวที่ว่า “รักษาชีวิตไว้ดีกว่าแม่ ยังไงก็ยังอยู่ด้วยกัน”  นับจากวันนั้น นภานอนในโรงพยาบาลอีก 3 เดือน พร้อมกับกำลังใจที่ถดถอย มีความท้อแท้ เครียด นึกถึงแต่อดีตที่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก นึกถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน
         นภาเล่าว่า การทำใจให้ได้กับความพิการ กับโรคเบาหวานที่ต้องรักษาตลอดไป ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตอนนั้น นภาน้ำหนักตัวลด จาก 65 กิโลกรัม เหลือเพียง 44 กิโลกรัม ในเวลาเพียง 2 เดือน ทั้งๆที่ปากก็ตอบกับแพทย์พยาบาลว่าไม่ได้เครียดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามพร้อมๆกันนั้นกำลังใจจากเพื่อน จากครอบครัวก็ทำให้นภามีจิตใจที่เข้มเข็งเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆเช่นกัน สังคมรอบข้างที่ให้โอกาสไม่มีใครดูถูกความพิการ โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนสนิทที่ยังชวนไปเที่ยว ไปงานบุญงานเลี้ยง ที่สำคัญยังได้ขึ้นเวทีร้องเพลง ซึ่งนภารักมากที่สุดได้เหมือนเดิม
      
ปัจจุบันนภามีความสุขกับการดำเนินชิวิต สามารถทำงานได้ สามารถไปไหนมาไหนได้ตามต้องการ แต่ต้องปรับตัวบ้างนิดหน่อย เช่น ระมัดระวังมากขึ้น ไม่ลงลุยน้ำ ที่บ้านปรับไปทำนาหว่านแทนนาดำ ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามนัด ความคุมอาหาร กายบริหารออกกำลังกายทุกวัน ตรวจดูเท้าตนเองอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ ต้องไม่เครียด ขนาดมีคนเรียกนภาว่า “อีด้วน” นภายังไม่โกรธเลย เพราะคนที่เรียกก็คือเพื่อนที่เรียกด้วยเข้าใจ ไม่ได้เรียกแบบดูถูก นอกจากนี้ความพิการยังทำให้นภามีโอกาสทำกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ  ช่วยโรงพยาบาลในการไปสอนผู้ป่วยเบาหวานคนอื่นๆ ว่าถ้าดูแลตนเองไม่ดีจะเป็นอย่างไร  รวมทั้งช่วยเจาะน้ำตาลในเลือดให้กับสมาชิกชมรมผู้ป่วยเบาหวานในหมู่บ้าน และเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมต่างๆของชมรมอย่างสม่ำเสมออีกด้วย  นภายังบอกอีกด้วยว่า “การจะอยู่กับเบาหวานอย่างมีความสูข ก็ต่อเมื่อรู้จักทำใจให้ได้ และรู้จักการปล่อยวางบ้าง” เท่านั้นเอง


          ทุกวันนี้ นภายังทำสิ่งที่นภารักอย่างสม่ำเสมอ ก็คือการได้ขึ้นเวที ร้องเพลง ถึงขนาดแจ้งนักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลไว้ว่า รองเท้าที่จะตัดให้คู่ต่อไป ขอแบบสวยๆ คล้ายๆรองเท้าบู๊ท เพื่อที่ว่าเวลาอยู่บนเวทีจะได้สวยๆ เหมือนนักร้องทั่วไป  สำหรับคู่เดิมที่ทำให้แข็งแรงพร้อมลุยนา คงไม่จำเป็นอีกต่อไป  ซึ่งก็ต้องเป็นโจทย์ของทีมดูแลที่จะปรับตามบริบทที่เปลี่ยนไปของคนไข้ด้วยเช่นกัน

ผู้เล่าเรื่อง  ภก.เอนก  ทนงหาญ สรุปจากการพูดคุยกับผู้ป่วย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550

หมายเลขบันทึก: 107348เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2007 18:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เบาหวานฟังทางนี้ ตอยนนี้มีโภชนาบำบัดทางธรรมชาติที่สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้โดยไม่ต้องพึ่งยาอีกต่อไป  มีตัวอย่างจากญาติตัวเองที่ใช้แล้วไม่ต้องทานยาอีกต่อไป สนใจติดต่อได้ที่ 086-3384153 (ติอต่อได้ที่ แม็กกี้ค่ะ) ห่วงใยคนที่คุณรัก บอกต่อด้วยค๊า

ประภาพรรณ สุวุฒิกุล

ขอรายละเอียดเกี่ยวกับโภชนาบำบัดทางธรรมชาติด้วยค่ะ

เป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ที่ดีของผู้ป่วยเบาหวาน .....ทำอย่างไรคนไข้เบาหวานถึงจะได้อ่านเรื่องนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท