การรู้จักมุ่งอนาคต


การพัฒนาเด็กและเยาวชน "การรู้จักมุ่งอนาคต"

การพัฒนาเด็กเยาวชนให้รู้จักการมุ่งอนาคต
**โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ฯ กรณีปัญหายาเสพติด
ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่


 

    ในกลุ่มเด็กเยาวชนที่มีความคิดกว้างไกล รู้จักการมองอนาคต มักจะเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการพัฒนาตนเองไปได้ดี ดังนั้น การพัฒนาเด็กเยาวชนให้รู้จักการมุ่งอนาคตย่อมเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ควรให้ความสนใจ

 

ความหมาย
     มิสเซล (Mischel, 1974 อ้างใน จักรวาล ภูวพันธ์, 2537) ได้ให้ความหมายของลักษณะมุ่งอนาคตว่า หมายถึง ความสามารถในการคาดการณ์ไกล และเล็งเห็นผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีความต้องการได้รับผลในอนาคตที่ดีกว่า หรือมากกว่าที่จะได้รับในปัจจุบัน มีการวางแผนเพื่อปฏิบัติ ตลอดจนควบคุมตนเองให้ปฏิบัติเป็นขั้นตอนตามาแผนที่วางไว้ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตนต้องการในอนาคต


   สำหรับลักษณะของการมุ่งอนาคตนั้น ซีกูร่า (Segura, 1991) กล่าวว่า ลักษณะมุ่งอนาคตเป็นความสามารถของแต่ละบุคคลในการมองอนาคต ในการวางแผน และการจัดการเกี่ยวกับอนาคตที่เป็นไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับ ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2524) กล่าวว่า ลักษณะมุ่งอนาคต หมายถึง ความสามารถในการควบคุมตนเองของบุคคล ซึ่งแสดงออกเป็นพฤติกรรมการอดได้


     รอได้ ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การรอรับรางวัลที่ใหญ่กว่าในอนาคต แทนรางวัลเล็กน้อยที่จะได้รับในทันที หรืองดบำบัดความต้องการในปัจจุบันของตน เพราะเล็งเห็นผลร้ายที่จะเกิดตามมา หรือการเพียรพยายามในปัจจุบันเพื่อจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต


   ทำนองเดียวกับ อุบล เลี้ยววาริณ (2534) กล่าวว่า ลักษณะมุ่งอนาคตเป็นการรู้จักคิดถึงอนาคต เล็งเห็นผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล ทั้งที่จะเกิดกับตนเองและสังคมในอนาคต และสามารถควบคุมตนเองให้กระทำ หรืองดเว้นการกระทำบางอย่างได้อย่างเหมาะสม เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ต้องการได้ และสอดคล้องกับ กนกวรรณ อุ่นใจ (2535) กล่าวว่า ลักษณะมุ่งอนาคต คือการมองสู่อนาคตของบุคคล โดยที่ผู้ที่มีลักษณะมุ่งอนาคตจะสามารถคาดการณ์ไกล และตัดสินใจเลือกกระทำอย่างเหมาะสม หาแนวทางแก้ปัญหา และวางแผนดำเนินการเพื่อจะประสบความสำเร็จในอนาคต


พัฒนาการของการมุ่งอนาคต
เนอมิ (Nurmi, 1991) กล่าวว่า ลักษณะมุ่งอนาคตเป็นลักษณะที่ซับซ้อนที่พัฒนาขึ้นในตัวบุคคลอย่างเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วย ขั้นตอนต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. การตั้งเป้าหมาย (Future-oriented motives, interests and goals)
ในขั้นนี้บุคคลจะมีการตั้งเป้าหมาย หรือสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งบุคคลมีอยู่

2. การวางแผน ( Future-oriented planning )

ในขั้นนี้บุคคลจะมีการวางแผนปฏิบัติการ เพื่อที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในขั้นตอนแรก มีการตัดสินใจเลือกวิธีการ หรือแนวทางที่เหมาะสม ตลอดจนมีการตรวจสอบว่าวิธีการหรือแนวทางนั้นจะนำไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่ หากพบว่าแผนหรือวิธีการที่เลือกไว้ไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายได้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเสียใหม่

3. การดูความเป็นไปได้ (Evaluation of the future)

เป็นขั้นการประเมินถึงความเป็นไปได้ของจุดมุ่งหมายหรือความต้องการในอนาคต ตลอดจนแผนปฏิบัติการทีได้วางไว้ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ผลตอบแทนที่ได้รับจากกระบวนการนี้จะส่งผลต่อการมีลักษณะมุ่งอนาคตของบุคคล กล่าวคือ หากสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลเป็นไปตามที่คาดหวังหรือต้องการ บุคคลก็จะมีลักษณะมุ่งอนาคตเพิ่มมากขึ้น แต่หากว่าสิ่งที่คาดหวังไว้ไม่เกิดขึ้น บุคคลก็จะขาดความเชื่อมั่นในอนาคต



     ลักษณะมุ่งอนาคตจะเกิดจากการสะสมการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตของบุคคล ทั้งจากการอบรมเลี้ยงดู การศึกษา การเลียนแบบ ตลอดจนสื่อมวลชน และลักษณะมุ่งอนาคตมีความสัมพันธ์กับสภาวะทางสังคมของบุคคล ตลอดจนวัฒนธรรมและครอบครัว รวมทั้งต้องอาศัยความสามารถทางด้านสติปัญญาและการรู้การคิดประกอบด้วย

คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาเด็ก
หมายเลขบันทึก: 106971เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2007 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท