"ความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่า" กับการก้าวเดินต่อไปในโลกปัจจุบัน


บางที ความลึกลับของความเชื่อตามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่อธิบายได้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ อาจเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจวิธีคิด เพื่อการก้าวเดินต่อในโลกปัจจุบันอย่างมี "ราก" ทางวัฒนธรรม

วันนี้ ได้มีโอกาสอ่านหนังสือของ อ.เกียรติวรรณ อมาตยกุล เรื่อง สอนให้เป็นอัจฉริยะ ตามแนวนีโอฮิวแมนนิส ทำให้ต้องสะดุดใจและขบคิดถึงบางประเด็นในวัฒนธรรมความเชื่อของชนเผ่าที่กำลังเรียนรู้

อาจารย์พูดถึงการศึกษาแนวนีโอฮิวแมนนิสและการพัฒนาส่วนต่างๆ ของชีวิต โดยอธิบายถึงส่วนต่างๆ ที่มีส่วนในพัฒนาการของเด็ก สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตั้งแต่ร่างกาย - จิตใจ อันประกอบด้วย

จิตสำนึก : ความรู้สึกของคนเรา 

จิตใต้สำนึก : ความจำ ความรู้ ความคิดต่างๆ

จิตเหนือสำนึกระดับแรก : แหล่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์

จิตเหนือสำนึกระดับที่สอง : การหยั่งรู้เอง

จิตเหนือสำนึกระดับที่สาม : ความรักและความเมตตาที่ยิ่งใหญ่

ฉันเคยสนใจศึกษาเรื่องราวของ Shaman  ในชนเผ่าอาข่า ที่มีบทบาทคล้ายคนทรงของคนไทย ในแง่การเชื่อมโยงกับโลกเหนือธรรมชาติ เพื่อเยียวยาความทุกข์ของคนที่มาขอความช่วยเหลือในแง่ต่างๆ ทั้งความเจ็บป่วย การพลัดพราก เป็นต้น

แต่สำหรับ Shaman ของชนเผ่าอาข่า หรือที่เรียกว่า "นี้ผะ" จะต่างกับคนทรงตรงที่ไม่ได้เป็นร่างทรงให้เจ้าองค์ใดๆ มาลง แต่จะทำพิธีกรรมคล้ายๆ กับถอดวิญญาณของตนออกจากร่าง เพื่อไปในอีกโลก ที่ภาษาอาข่าเรียกว่า "เมืองผี" เพื่อไปติดตามดูวิญญาณที่หายไป อันเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย และเจรจาต่อรองให้หายป่วย หรือดูว่าบุคคลอันเป็นที่รักที่ตายไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง สุขสบายดีไหม หรือดูสาเหตุและวิธีการแก้ไขการไม่มีบุตร เป็นต้น

จุดที่คล้ายคลึงกับที่ อ.เกียรติวรรณ อธิบายถึงจิตเหนือสำนึกระดับที่สอง หรือการหยั่งรู้เอง ที่อาจารย์ยกตัวอย่างถึงเด็กสี่ขวบ ที่เดินซื้อของอยู่กับแม่ที่หนึ่ง แต่รู้ได้ว่าพ่อกำลังอยู่ที่บ้านและกินแอปเปิ้ลอยู่ ซึ่งแม่ไม่เชื่อเพราะเป็นเวลาทำงาน แต่พอโทรกลับบ้านกลับพบว่าเป็นจริงดังที่เด็กบอก ซึ่งการหยั่งรู้ชนิดนี้ เป็นการทำงานของจิตเหนือสำนึกระดับที่สอง

อ.กล่าวถึงงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า เด็กเล็กๆ มีความหยั่งรู้เองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว โดยจะมีสูงสุดเมื่ออายุ 4 ขวบ และจะค่อยๆ จางหายไปตอนใกล้อายุ 8 ขวบ ซึ่งมักเนื่องมาจากการที่เด็กต้องใช้สมองซีกซ้าย อันได้แก่ด้านความจำ เหตุผล หรือวิชาการต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น

ในกรณี "นี้ผะ" หรือ shaman ของชาวอาข่า ซึ่งในอดีตชีวิตส่วนใหญ่ผูกพันกลมกลืนกับธรรมชาติบนดอยสูง โดยไม่มีโลกของวิชาการภายนอกเข้ามาทำให้สมองซีกซ้ายต้องทำงานหนัก คงจะมีส่วนทำให้พวกเขาบางคนที่ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นี้ มีความหยั่งรู้เองได้อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุดเพียงวัยเด็ก อันทำให้สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้ทั้งในโลกปกติและโลกเหนือธรรมชาติตามความเชื่อของพวกเขา

บางที ความลึกลับของความเชื่อตามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่อธิบายได้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ อาจเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจวิธีคิด เพื่อการก้าวเดินต่อในโลกปัจจุบันอย่างมี "ราก" ทางวัฒนธรรม

 

หมายเลขบันทึก: 106842เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2007 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณ อ.ปัทมาวดี ที่กรุณาส่งหนังสือ "เท่าทันทุนนิยม" มาให้ เลยได้ติดตามอ่านหนังสือของ อ.เกียรติวรรณต่ออีกหลายเล่มเลยค่ะ

สวัสดีครับคุณ pilgrim

  • อ่านบันทึกนี้แล้วทำให้เข้าใจชนเผ่ามากขึ้น
  • และได้รู้ว่าคุณ pilgrim อ่านหนังสือของอาจารย์เกียรติวรรณ อมาตกุล...
  • อาจารย์เกียรติวรรณ สอนผมตอนเรียน ป.โท และเป็นผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ ที่จุฬาฯครับ เรียนแนวทางการเรียนรู้ตามหลักการนีโอฮิวแมนนิสต์...ประทับใจครั้งหนึ่งอาจารย์ให้นิสิตโต้วาที ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายเสนอ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายค้าน ...ซึ่งก็พื้นๆ แต่พออาจารย์กลับขั้วกะทันหันหลังจากที่แต่ละฝ่ายได้ทำหน้าที่ไปพักหนึ่ง ก็ต้องตื่นเต้นไม่ธรรมดาขึ้นมาทันทีเมื่อเราต้องมาค้านกับความคิดของเราเอง และเห็นด้วยกับฝ่ายตรงข้าม...สอนให้เราคิดว่าอย่างยึดติดและสุดขั้วไปทางใดทางหนึ่งจนเกินไป....มันอาจจะพลาดได้ง่ายๆ....และในทางการเรียนรู้แล้วการคิดแบบนี้ทำให้เราได้คิดหลายแง่หลายมุม สร้างความรอบคอบครอบคลุมได้ ผมยังใช้เป็นประโยชน์จนทุกวันนี้ทั้งในชีวิตส่วนตัวและการงาน
  • ขอบคุณบทความนี้ที่ทำให้ผมได้ทบทวนอดีตเมื่อครั้งเรียนหนังสือ.....และก็ได้รู้ว่า อ.ปัทมาวดี แอบส่งหนังสือดีๆมาให้คุณ pilgrim อ่าน

ขอบคุณครูนง เช่นกันค่ะที่แวะเข้ามาแบ่งปัน

รู้สึกดีใจมากค่ะที่คนดังๆ ของ gotoknow แวะเข้ามาเยี่ยมเยียน แถมยังรู้จักหลายๆ ท่านที่เราแอบชื่นชมอยู่ด้วย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท