การพัฒนาที่ยั่งยืน : มุมมองที่นักพัฒนาไม่ควรมองข้าม


  

           ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น  จำเป็นต้องพัฒนาอย่างเป็นระบบควบคู่กันไปทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจและปัญญา  (พัฒนาทั้งศิล สมาธิและปัญญา)  และสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือการพัฒนานั้นต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง เมื่อคนได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบแล้ว  เขาจะเป็นแกนกลางที่จะไปประสานปรับเปลี่ยนบูรนาการในระบบองค์รวมใหญ่ซึ่งได้แก่ มนุษย์ สังคม สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี ให้เป็นระบบแห่งการดำรงอยู่ด้วยกันอย่างดีและต่อเนื่อง    ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  กล่าวคือ การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีลักษณะที่เป็นบูรณาการ (Integrated) ทำให้เกิดเป็นองค์รวม (Holistic) นั่นคือองค์ประกอบทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาประสานกันครบองค์และมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง คือ มีดุลยภาพ (Balance) กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การทำให้กิจกรรมของมนุษย์สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ  โดยมนุษย์ต้องเข้าถึงธรรมชาตินำปัญญาความรู้ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบแล้วไปจัดปรับปรุงระบบความสัมพันธ์กับธรรมชาติ  ให้ธรรมชาติเอื้อผลดีต่อตนและเกื้อกูลมนุษย์ต่อไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต   

ดังนั้นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมุมมองของมนุษย์จะต้องมีการปรับเปลี่ยนและเปิดกว้างยอมรับความจริงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่จะติดตามมาในภายภาคหน้าจากการกระทำของตน มนุษย์จะต้องประสานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ จริยศาสตร์ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นข้อกำหนด สร้างให้เกิดเป็นความคิดรวบยอดขึ้นในระบบความคิดและพร้อมจะนำไปเชื่อมโยงกับ ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

 

ด้วยเหตุนี้การพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของไทยจึงควรเป็นการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงความเป็นองค์รวมของทุกๆ ด้านอย่างสมดุล บนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีอยู่ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมไทยด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยความเอื้ออาทรกันและกัน เคารพซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกันไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน  และนั่นคือ  การพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง

...............

โดย คนึงนิจ  อนุโรจน์

หนึ่งในผู้มุ่งมั่นสู่การเป็นนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มืออาชีพ

 
หมายเลขบันทึก: 106692เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2007 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท