ชุมชนพหุทางวัฒนธรรมย่านธนบุรี : ชุมชนมุสลิม


ศิลปเปลี่ยนแปลงได้แต่แก่นแท้ของศาสนา คือสิ่งที่ยึดมั่น

ตอนที่ 2  ชมุชนพุทธศาสนา

 

               ทางเข้ามัสยิดบางหลวง

          ชุมชนสุดท้าย คือ  ชุมชนอิสลาม  หรือชุมชนกุฎีขาว   มีมัสยิดบางหลวงเป็นศูนย์รวมจิตใจ

          ชุมชนอิสลาม กลุ่มนี้   เริ่มมาตั้งแต่หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่  2  เมื่อปี  พ.ศ. 2310   โดยพม่าได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินไปเกือบหมด  ทำให้ชุมชนอิสลามในอยุธยาละถิ่นฐานอพยพจากกรุงเก่าเดินทางมาสู่กรุงธนบุรีศรีมหาสุมทร  โดยขณะนั้น  มีชาวอิสลามพำนักอยู่บริเวณบางอ้อ  บางพลัด  และบางกอกน้อย อยู่แล้ว    ในที่สุดอิสลามกลุ่มนี้จึงได้มาลงหลักปักฐานสร้างแพอยู่บริเวณ 2 ฝั่งคลองบางกอกใหญ่  และจากคำบอกเล่า  บริเวณคลองบางหลวงแห่งนี้  เคยมีมัสยิดหรือสุเหร่า ที่ก่อสร้างด้วยไม้  ชื่อ  กุฎีแดง  และพบสระอาบน้ำละหมาดขนาดเล็ก  กว้างยาวด้านละ 3 วา  จึงสันนิษฐานว่า  ในช่วงเวลานั้น  มุสลิมนิกายสุหนี่ได้สร้างมิสยิดกุฎีแดงนี้ขึ้น  เพื่อประกอบศาสนกิจบนฝั่งคลองนั่นเอง

         ต่อมาระหว่างปี  พ.ศ. 2310 – 2325  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  (พระเจ้าตากสินมหาราช)  ได้กอบกู้ชาติได้สำเร็จและตั้งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยา  พร้อมกับพระราชทานยศให้ข้าราชการชาวมุสลิมที่ร่วมกู้ชาติ  โดยหัวหน้ามุสลิมได้เป็น  “เจ้าพระยาจักรี”  และแม่ทัพเรือมุสลิมเป็น “พระยาราชบังสัน”  

          ช่วงปี พ.ศ. 2325 เมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รัชกาลที่  1  แห่งราชวงศ์จักรี ได้ขึ้นครองราชย์และย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาตั้งเมืองบางกอกเป็นราชธานีใหม่ นามว่า  “กรุงเทพมหานครฯ” 

          หลังครองราชย์ 3 ปี  ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ที่บริเวณแพ 2 ฝั่งคลองบางกอกใหญ่  เริ่มมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น  จึงได้ย้ายขึ้นบก มาสร้างที่อยู่อาศัยฝั่งตรงข้ามวัดหงส์  ยาวตลอดไปถึงคลองวัดดอกไม้หรือคลองบุปผาราม  และสันนิษฐานว่า  ศาสนสถานกุฎีแดง  อาจจะชำรุดหรือเสื่อมโทรม จึงมีการสร้างมัสยิดขึ้นมาใหม่  โดยพ่อค้ามุสลิมในหมู่บ้านชื่อ  “โต๊ะหยี”  รวมสมัครพรรคพวกก่อสร้างมัสยิดทรงไทยก่ออิฐถือปูนทั้งหลังขึ้น  และให้ชื่อว่า  “มัสยิดบางหลวง”  และขยายเป็นชุมชนมัสยิดบางหลวงในเวลาต่อมา 

          มัสยิดบางหลวง  เป็นแห่งเดียวที่ไม่ได้ก่อสร้างมัสยิดตามพิมพ์นิยมทั่วไป (มีหลังคารูปโดมและมีสัญลักษณ์ดาวกับเดือนเสี้ยวประดับอยู่)  และนับได้ว่าเป็น  “มัสยิดก่ออิฐถือปูนแห่งเดียวในโลกที่เป็นทรงไทยทั้งหลัง”    ซึ่งอิหม่ามประจำมัสยิดบางหลวง  บอกว่า   “มิสยิดไม่จำเป็นต้องเป็นรูปโดม   อาคารสถานที่ทุกอย่างไม่ได้มีกฏเกณฑ์ว่าต้องสร้างอย่างไร  แต่แก่นแท้ที่สำคัญจริงๆ  นั่นคือ ชาวมุสลิมยึดมั่นในพระอัลเลาะห์องค์เดียว”

ภายในมัสยิดบางหลวง

          มัสยิดบางหลวง  ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  บันไดทางขึ้นทั้ง 2 ข้าง มีลวดลายศิลปไทยพลสิงห์และบังขั้น  พื้นหน้ามุขปูด้วยกระเบื้องซีเมนต์  ขณะที่หน้าบันมีลักษณะของศิลป 3 ชาติ  คือ
         1. กรอบหน้าบัน (ศิลปไทย)  เป็นเครื่องลำยองประดับห้ามลายไว้บนยอด 
         2. ใบหน้าบัน  (ศิลปฝรั่ง)  เป็นปูนปั้นลายก้านแย่งใบฝรั่งเทศ
         3. ดอกไม้เป็นดอกเมาตาล  (ศิลปจีน)
         ซึ่งลายศิลป 3 ชาตินี้  ได้นำมาประดับที่กรอบประตูและหน้าต่างทุกบานของมัสยิด  ส่วนตัวอาคารที่เป็นปูนทาสีขาวล้วน  (จึงเป็นที่มาของชื่อว่ากุฎีขาว)  ส่วนที่เป็นไม้ทาสีเขียว  แม้ว่าตัวอาคารจะสร้างเป็นทรงไทย  แต่ผู้สร้างได้สอดแทรกหลักการทางศาสนาอิสลามไว้ด้วย  คือ  มีเสาค้ำยันชายพาไล จำนวน  30  ต้น  (เท่ากับบทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุรอาน  ซึ่งมี  30  บท)  ห้องละหมาดมี 12  หน้าต่าง  1  ประตู  รวมเป็น  13  ช่อง  (เท่ากับกฎละหมาด 13 ข้อ)  และแบ่งพื้นที่แยกไว้สำหรับหญิงและชาย  เนื่องจากห้ามละหมาดร่วมกัน

ภายในมัสยิดบางหลวง 

         ปัจจุบันชาวมุสลิมส่วนมากประกอบอาชีพรับราชการและทำงานตามหน่วยงานเอกชน  บริษัท ห้างร้านทั่วไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม  ส่วนเยาวชนในชุมชนเข้าเรียนตามระเบียบปกติของกระทรวงศึกษาธิการ  แต่เมื่อกลับมาจากโรงเรียน  ผู้ปกครองจะปล่อยให้เด็กๆ  ได้เล่นกันเพื่อพักผ่อนตลายอารมณ์  ก่อนจะเข้าเรียนหลักศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับต่อไป

        โปรดติดตามตอนต่อไป

หญิง สคส.

หมายเลขบันทึก: 106502เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2007 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท