ตำบลละแสน


ความดีใจของเครือข่ายฯ
           วันนี้กับพรุ่งนี้เป็นวันที่ทางทีมประสานงานจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (โดยคุณภีม  และทีมงาน)  ได้มีการจัดอบรมให้กับนักวิจัยและคุณอำนวยของ 5 พื้นที่  คือ  สงขลา  ลำปาง  ตราด  นครศรีธรรมราช  และสมุทรปราการ  บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน  เป็นกันเอง  คุณทรงพลซึ่งเป็นวิทยากรให้ความกระจ่างในหลายเรื่อง  ยกตัวอย่างก็เข้าใจง่าย  เอาไว้วันต่อๆไปจะเล่าให้ฟังนะคะ
            สำหรับเรื่องเล่าในวันนี้จะขอพูดต่อเกี่ยวกับประเด็นการประชุมประจำเดือนของเครือข่ายฯ  ซึ่งเหลืออยู่อีก 2 เรื่องที่ยังไม่ได้เล่าให้ฟัง  คือ  เรื่องเตรียมงานตำบลละแสน  และเรื่องโครงการขยายผล
            สำหรับเรื่องตำบลละแสนนั้น  ขอเท้าความสักนิด  (นิดเดียวนะคะ  เพราะ  ยอมรับว่าไม่ค่อยจะรู้เรื่องสักเท่าไหร่)  เท่าที่ทราบเงินตำบลละแสนนั้นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ  คือ พอช.  โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญที่องค์กรการเงินชุมชนต้องปฏิบัติเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนก็คือ 
            1.ต้องเป็นการรวมตัวกันในระดับตำบล  โดยองค์กรต้องมีจำนวนสมาชิก 600 คนขึ้นไป  (เดิมทีคุณสามารถขอกว่าต้อง 80 % ของพื้นที่  แต่ต่อมา พอช.ก็อนุโลมให้เป็น 600 คนขึ้นไป)
            2.ต้องมีการเชื่อมประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กล่าวอย่างง่ายๆ  ก็คือ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเห็นชอบและให้การสนับสนุนนั่นเอง  (ตรงกับเป้าหมายของการจัดการความรู้เครือข่ายฯเลยค่ะ)
            3.องค์กรต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจน  สามารถตรวจสอบได้  องค์กรต้องตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน  และต้องมีการจัดสวัสดิการแล้ว
            ขอสารภาพตามตรงค่ะว่าความจริงในเรื่องกฎเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อนี้  ผู้วิจัยไม่เคยทราบมาก่อน  จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังงงอยู่  โดยเฉพาะในเรื่องของจำนวนสมาชิก  เพราะ  จากการสอบถามจากพื้นที่ที่ได้รับเงินหนุนเสริม (บางพื้นที่) แล้ว  พื้นที่นั้นบอกว่าทาง พอช.ไม่ได้กำหนดจำนวนสมาชิกที่ตายตัวแบบนี้  ก็ไม่รู้ว่าความจริงแล้วเป็นอย่างไร  (ถ้าคนที่เข้ามาอ่านทราบเรื่องนี้ขอความกรุณาเขียนแจ้งให้ทราบเพื่อเป็นวิทยาทานด้วยนะคะ  จะขอบคุณมากค่ะ)
            ในส่วนของเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางนั้นเคยส่งเรื่องเข้าไปเพื่อขออนุมัติงบประมาณหนุนเสริมแล้วครั้งหนึ่ง  ส่งเข้าไปทั้งหมด 10 ตำบล  แต่ครั้งนั้นทราบว่าอนุมัติเพียง 5 ตำบล  ทางเครือข่ายฯจึงปฏิเสธที่จะรับการหนุนเสริม  ในครั้งนี้จึงส่งเข้าไปใหม่  (จำได้ว่าทำข้อมูลกันแทบแย่  ผู้วิจัยก็ได้เข้าไปร่วมช่วยชาวบ้านทำด้วย)  ผลปรากฏว่า  ในครั้งนี้ได้รับการอนุมัติในหลักการ (ยังไม่ได้โอนเงินมาให้)  ทั้งหมด 10 ตำบล
            ดังนั้น  ในวันประชุมเครือข่ายฯ ผู้วิจัยจึงแจ้งเรื่องนี้ให้ที่ประชุมทราบ  (ความจริงส่วนใหญ่รู้เรื่องแล้วจากการบอกกันปากต่อปาก)  ปรากฎว่าคณะกรรมการแต่ละกลุ่มแสดงความดีใจกันมาก  แต่ละคนยิ้มแย้มแจ่มใส  (พลอยทำให้ผู้วิจัยดีใจตามไปด้วย)  ช้าก่อน  อย่างเพิ่งดีใจไป  เพราะ  เราต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากทางกระทรวงการคลังจะมาเป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ให้ในวันที่ 14 มกราคม  2549  (ต่อมา  เปลี่ยนเป็นวันที่ 11 มกราคม  2549  เพราะวันที่ 14 เป็นวันเด็ก  เกรงว่าคณะกรรมการและหน่วยงานราชการ  รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะไม่สะดวกในการเข้าร่วมเวที)
            ส่วนแรกที่มีการปรึกษาหารือ  คือ  จะประชุมเตรียมงานในวันไหน  คณะกรรมการต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะมาร่วมประชุมเตรียมงานในวันที่ 7 มกราคม  2549  เวลา 09.00น.  ที่โรงเรียนวัดนาก่วม 
            ประเด็นต่อมาก็คือ  ในระหว่างนี้จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง   ผู้วิจัยซึ่งยอมรับแต่แรกแล้วว่าไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่จึงหันไปปรึกษาลุงคมสันซึ่งเป็นรองประธานและคุณสามารถได้มอบหมายงานในเรื่องนี้ให้อธิบายให้แก่คณะกรรมการฟังว่าเราจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง          ลุงคมสันบอกว่าเท่าที่ทราบก็คือ  ขอให้ทุกกลุ่มเตรียมข้อมูลของตนเองให้เป็นปัจจุบันที่สุด  ในส่วนนี้ผู้วิจัยได้เสริมว่า  ข้อมูลที่แต่ละตำบลส่งไปนั้นเท่าที่จำได้เป็นข้อมูลถึงเดือนสิงหาคม  2548  ดังนั้น  ขอให้ทุกกลุ่มเตรียมข้อมูลให้ถึงเดือนธันวาคม  2548  น่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด  หากกลุ่มไหนที่บันทึกข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ไม่ทันก็ไม่เป็นอะไร  แต่ข้อมูลที่เราทำด้วยมือเชื่อว่าทุกกลุ่มมีอยู่แล้ว  ดังนั้น  จึงขอให้ทุกกลุ่มนำข้อมูลมาในวันที่ 7  มกราคม  2549  ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้มาร่วมประชุมในวันนี้  ขอให้ทางเลขาฯ  โทรศัพท์ไปแจ้งให้กลุ่มทราบด้วย  ซึ่งทางเลขาได้รับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการต่อไป  (วันนี้ขอแค่นี้ก่อนนะคะ  เพราะ  ผู้วิจัยต้องไปตรวจข้อสอบต่อ  ต้องส่งเกรดแล้วค่ะ  เดี๋ยวจะเสียประวัติและถูกหักเงินเดือน  ราตรีสวัสดิ์ค่ะ)
           
           

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10595เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2005 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท