ฆ่าหอยเชอรี่ 30 กิโลกรัมจะบาปมั๊ย (ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ พด.2)


ทำเกษตร บางอย่างถ้ากลัวบาปอยู่คง ไม่ต้องทำมาหากินครับ วันนี้ผมทำปุ๋ยน้ำสูตรของกรมพัฒนาที่ดิน เลยนำมาเสนอครับ

อุปกรณ์ที่ต้องมี

  1. ถังหมัก มีฝาปิด 120 ลิตร หรือ 200 ลิตร
  2. ครก หรือถังพลาสติกที่รับแรงกระแทกได้ + สาก หรือ สองเกลอ
  3. กะละมัง
  4. ถังพลาสติก  ความจุประมาณ 20 ลิตร 

ส่วนผสม

  1. หอยเชอรี่  มีเยอะมากครับเก็บสองคนไม่ถึงสองชั่วโมงได้ 30 กิโลกรัม


  2. สับปะรด
  3. กากน้ำตาล
  4. สารเร่ง พด.2


  5. น้ำ

สูตร 

ปลาหรือหอยเชอรี่ : ผลไม้ : กากน้ำตาล : น้ำ  = 3:1:1:1
เช่น
ปลาหรือหอยเชอรี = 30 กิโลกรัม
ผลไม้ = 10 กิโลกรัม
กากน้ำตาล = 10 กิโลกรัม
น้ำ = 10 ลิตร (ชั่งก็ได้ 10 กิโลกรัม)

ขั้นตอนการทำ

  1. หอยเชอรี่ที่เก็บมา ล้างเอาดินออก แล้วตำให้เละ ตำด้วยครก หรือ ตำในถัง ของผมตำด้วยสองเกลอในถังพลาสติก 30 ลิตร ค่อยๆตำ ทีละน้อย แล้วเทใส่ถังใหญ่ 120 ลิตร

    ไม่อยากเอาภาพที่ตำเละแล้วมานำเสนอ มันสยดสยอง :)

  2. หั่นสับปะรดเป็นชิ้นพอประมาณไม่ใหญ่เกินไป

  3. นำสับปะรด ไปใส่ในถังหมัก
  4. ใส่กากน้ำตาลคลุกเคล้าให้เข้ากัน หาไม้มาคนให้เข้ากัน


  5. นำสารเร่ง พด.2 มาละลายน้ำ ผสมให้เข้ากันนาน 5 นาที แล้วค่อยเทลงถังหมัก


  6. คนให้ส่วนผสมเข้ากันอีกครั้งหนึ่ง


  7. ปิดฝาไม่ต้องสนิท คือคำแนะนำของพัฒนาที่ดิน อันนี้คือปัญหาคาใจที่ผมไปถามวันก่อน เขาบอกว่าที่เขียนไว้อย่างนั้นคือป้องกันการระเปิดถ้าปิดฝาสนิท ถ้าปิดฝาไม่สนิทสิ่งที่ตามมาคือ แมลงวันหยอดไข่ แต่ทางที่ดีฝิดฝาให้สนิท แล้วค่อยมาคลายล๊อค เมื่อเห็นว่าฝาถังบวมขึ้น
  8. เขียนป้ายวันหมัก วันที่ใช้งานได้ไว้ด้วยนะครับ
    ผมยังไม่ได้เขียนไว้เขียนพรุ่งนี้
  9. เก็บในที่ร่ม หมักไว้ 21 วัน ใช้งานได้

การใช้งาน

ปุ๋ยน้ำอินทรีย์ : น้ำ  = 1:500 - 1000
หรือ ปุ๋ยน้ำอินทรีย 4 ช้อน ต่อน้ำ 1  ปี๊บ

ประโยชน์

  • ช่วยส่งเสริมการออกดอกและติดผล
  • ชักนำให้เมล็ดงอก
  • เร่งการขยายตัวของใบ และยืดตัวของลำต้น
ที่ผมทำวันนี้ไม่ทำตามสูตรที่เขียนในซองนะครับ ประยุกต์ใหม่
ต้นทุน สับปะรด 20 กิโลกรัม 200 บ. กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม 100 บ. ถังนี้ต้นทุน 300 บ.  ตั้งใจจะเอาไปใช้ในสวนยาง   พรุ่งนี้ผมจะทำปุ๋ยน้ำอินทรีย์อีกสูตรหนึ่งครับ แล้วจะมาเล่าให้ฟังอีก

 

หมายเลขบันทึก: 105741เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2007 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

การลดต้นทุนสับปะรด อาจจะใช้สับปะรดสุกงอม ที่แม่ค้าขายไม่ได้ เขาจะขายในราคาถูกสักหน่อย หากใช้สับปะรดที่เก็บมาจากสวนใหม่ๆ ราคาจะแพง ต้นทุนจะแพง

กรมพัฒนาที่ดินแนะนำให้กวนบ่อยๆ จึงไม่ให้ปิดฝาจนสนิท แต่ก็จะมีแมลงวันมาวางไข่ ตัวหนอนในถังจะไม่กลายเป็นแมลงวัน ซึ่งบางคนรังเกียจ ผมสงสัยว่า หากเอาตัวหนอนออกมานอกถัง แล้วให้อาหารอย่างอื่นลงไป หนอนจะลอกคราบเป็นแมลงวันได้ไหม

ถังหมักหอยเชอรรี่ หากปิดไม่สนิท จะส่งกลิ่นออกมา โรงปุ๋ยอยู่ใกล้ๆบ้าน กลิ่นจะรบกวน

สวัสดีครับ ผมมีข้อสงสัยบางประการครับ

หอยเชอร์รี คือหอยจุ๊บที่เราแกงกะทิกันหรือเปล่าครับ

กากน้ำตาลหาซื้อได้ที่ไหน

ถ้าไม่ปิดฝาถังหมักด้วยฝา แต่ปิดด้วยผ้าขาวบางได้ไหมครับ (อาจจะเหม็นเนาะ)

จำเป็นต้องใช้หอยหรือปลาด้วยหรือครับ (ผมสันนิษฐานว่า เขาคงอยากได้ไนโตรเจน ซึ่งได้จากโปรตีน)

หัวเชื้อคืออะไรครับ ใช่จุลินทรีย์ใช่ไหมครับ เคยทราบมาว่า เขาผลิตมาจากดิน ถ้าอย่างนั้นเอาดินมาใส่แทนได้ไหมครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ โส

  ยอดมากๆ เลยครับ ที่เอามาอธิบายได้ชัดเจนครับ

สำหรับเรื่องบาปนั้น ก็คงมีขอบเขตครับ เพราะการฆ่าสิ่งมีชีวิต เราแปลงฟันแต่ละวัน เราก็ฆ่าเค้าไปเยอะครับ  ในชีวิตตัวเราก็มีสิ่งมีชีวิตเต็มไปหมดครับ

ตามหลักของห่วงโซ่อาหาร เหยื่อและผู้ล่า เป็นไปตามวาระครับ.... แต่หากทำแล้วไม่สบายใจ ก็ไม่ควรทำครับ เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นก็ได้ครับ อิๆๆๆๆ

จุดธูปเทียนขอขมาชีวิตเค้าก่อนก็ได้ครับ เพื่อความสบายใจครับ อิๆๆๆ

ได้ผลเป็นยังไงต่อ เอามาให้ชมกันอีกนะครับ ว่าตอนที่เกิดกาซภายในถัง มันจะมีหน้าตาอย่างไร วัดอุณหภูมิมาบอกกล่าวด้วยก็ดีครับ เพราะคาดว่าอุณหภูมิต้องสูงขึ้นแน่นอน เพราะกิจกรรมที่จุลินทรีย์ทำงาน คงเกิดความร้อนขึ้นครับ

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ P เฒ่าหน้า​เหมน

  • ขอบคุณครับสำหรับคำแนะนำดีๆ

สวัสดีครับ คุณหมอ P ธนพันธ์​ ​ชูบุญ

  • หอยเชอรี่ ไม่ใช่หอยจุ๊บครับ หอยเชอรี่ คล้ายหอยโข่ง ทั้งรูปร่างและขนาด ต่างกันที่ หอยโข่ง ไม่กินต้นข้าว ชอยเชอรี่ กินต้นข้าว
  • การน้ำตาล ร้านขายอุปกรณ์เกษตร ส่วนใหญ่จะมีขายครับ
  • สารเร่ง พด.2 ก็คือจุลินทรีย์ครับ แต่น่าจะมีการผสมอย่างอื่นมาด้วย ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้
  •  จุลินทรีย์ ผลิตจากดินก็ใช่ครับ แต่ต้องเป็นดินใต้ต้นไม้ในป่าที่สมบูรณ์   ดินที่มีกลิ่นเหมือนเห็ดครับ
  • ส่วนการไม่ปิดฝาถัง คงต้องถามผู้รู้อีกที แต่ความจริงแล้ว จุลินทรีย์สามารถทำงานภายได้โดยมีมีออกซิเจน แต่ผลจากการทำงานจะเกิด คาร์บอนได้ออกไซด์ กรมพัฒนาที่ดินเลยแนะนำให้กวนทุก 7 วัน
  • ถ้าไม่ต้องปิดฝา อันนี้ข้อเท็จจริงไม่ทราบครับ แต่ในความเห็นผมคิดว่า กลิ่นคงรบกวน ตอนที่ผมน้ำปุ๋ยไปฉีดในสวน แล้วกลับมา หลานอายุขวบครึ่ง ไม่เข้าใกล้เลยครับ จริงๆ แล้วก็ไม่เหม็นหรอก
  •  จำเป็นต้องใช้หอยหรือปลาด้วยหรือ  คงเป็นไปตามข้อสันนิษฐานของคุณหมอครับ เพราะนอกจากหอยหรือปลาแล้วรกหมูก็ใช้ได้ครับ

สวัสดีครับ P เม้ง

  • จริงๆ ก็ไม่ได้กลัวบาปจากหอยเชอรี่หรอกครับ ตั้งหัวข้อให้น่าสนใจ ถ้ามัวกลัวบาป คงไม่ต้องทำมาหากิน
  • ความคืบหน้าจะมาเล่าให้ฟังอีกครับ

สารเร่ง (พด.1-8)มีแจกจากอาสาพัฒนาที่ดิน(หมอดิน)ประจำตำบล  หรืออาจจะขอได้จากหน่วยงานสังกัดของกรมพัฒนาที่ดิน

แต่ละสูตรของสารเร่ง  ตั้งแต่ 1-8  จะเป็นเรื่องเด่นที่ไม่เหมือนกัน  มีทั้งสารที่ใช้ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ  การทำสารไล่แมลง  การทำปุ๋ยน้ำจากหอย...

  • สารเร่ง พด.1 --> ปุ๋ยหมัก พด.1เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายเศษพืช เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ใช้ปรับปรุงบำรุงดิน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
  • สารเรง พด.2 --> ปุ๋ยน้ำอินทรีย์ พด.2 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายเศษพืช ปลา หอยเชอรี่ ในลักษณะสด เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์น้ำ สำหรับเร่งการเจริญเติบโต ของราก ใบ ลำต้น การออกดอกและติดผล
  • สารเร่ง พด.3 --> เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช สามารถป้องกันและยับยั้งการเจริญของโรคพืช สาเหตุโรครากและโคนเน่าของพืชเศรษฐกิจ ประกอบด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา และแบคทีเรีย บาซิลลัส
  • สารเร่ง พด.4 --> คือสารปรับปรุงบำรุงดินให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญของพืช เพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักธาตุอาหารของพืช ยืดอายุปุ๋ยที่ใช้ในดินให้นานยิ่งขึ้น
  • สารเร่ง พด.5 --> สารกำกจัดวัชพืช พด.5 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการผลิตกรด และฮอร์โมนสูง ใช้กำจัดวัชพืช โดยใช้อัตราความเข้มข้นสูง ฉีดพ่นบนวัชพืช และไถกลบ เพื่อการเตรียมดิน ช่วยลดการใช้สารเคมี รักษาสิ่งแวดล้อม
  • สารเร่ง พด.6 --> สารบำบัดน้ำเสียและกลิ่นเหม็น พด.6 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการย่อยสลายขยะสด โดยจุลินทรีย์ นำไปใช้ทำความสะอาดคอกปศุสัตว์ บำบัดน้ำเสียและลดกลิ่นเหม็นท่อระบายน้ำ
  • สารเร่ง พด.7 --> สารป้องกันแมลงศรัตรูพืช พด.7 เป็นผลิตภัณท์ที่ได้จากการย่อยสลายพืชสมุนไพรโดยกลุ่มจุลินทรีย์ นำไปฉีดพ่นต้นพืช ป้องกันแมลง และไล่ศรัตรูพืช
  • สารเร่ง พด.8 -->เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการละลายฟอสฟอรัสในดิน รวมทั้งผลิตฮอร์โมนและวิตามินซึ่งจะส่งเสริมการเจริญเติบโต ความอุดมสมบูรณ์ของพืช เจริญได้ดีในในดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูง
  • สารเร่ง พด.9 --> เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยวน้อย ซึ่งเป็นดินกรดกำมะถันที่มีความรุนแรงของกรดน้อย(pH ไม่ต่ำกว่า 5)
  • สารเร่ง พด.10 --> สารปรับปรุงดินทรายเสื่อมโทรม พด.10 เป็นสารใช้ปรับปรุงดินทราย และดินเสื่อมโทรมให้มีคุณสมบัติทั้งทางกายภาพและเคมีให้ดีขึ้น เหมาะต่อการปลูกพืช ทำให้ดินร่วนซุย ไม่ยุบตัวหรืออัดแน่นง่าย ทำให้ดินมีความสามารถในการแลกเปลี่ยนธาตุประจุบวกของดิน ทำให้ดินดูดยึดธาตุอาหารไว้ให้พืชได้นำไปใช้มากขึ้นจึงช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย

แล้วสารเร่ง พด.2 เราเอามาจากไหนอ่ะ

แล้วถ้าจะซื้อจะซื้อได้ที่ไหน

แล้วราคาเท่าเหร่ ใครรู้ช่วยบอกหน่อยนะ

ขอบคุณล่วงหน้าๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท