จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว


เกิดจากการมีภาวะเครียดหรือวิตกกังวล (ความกลัว ตื่นตระหนกก็ถือเป็นความเครียดอย่างหนึ่ง) ส่งผลให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานแปรปรวนไป เราจึงรู้สึกมีอาการต่างๆขึ้นมา เรียกว่าโรคกายอันเกิดจากจิตใจหรือPsychosomatic disorders

          ชีวิตในโลกยุคดิจิตัลนี้เป็นชีวิตที่เร่งรีบเพื่อแข่งกับเวลา  คนมักบอกว่าหลายอย่างไม่ทันใจ เพราะส่วนใหญ่ใจไปก่อน คิดไปก่อน อยากไปก่อนแล้ว พอกายทำได้ไม่ทันก็เกิดช่องว่างขึ้น นั่นคือเป็นปัญหาเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่หวังไม่เท่ากับสิ่งที่ได้

          เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้ตรวจคนไข้หญิงวัยกลางคน(อายุราว 55 ปี) มาพบผมด้วยเรื่องรู้สึกว่าใจเต้นแรงมาก ใจไม่ดี ใจสั่น คล้ายจะช็อค   หายใจไม่เต็มอิ่ม   เพิ่งเป็นเมื่อคืนนี้   ปกติไม่เคยเป็นมาก่อน   แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวอะไร ผมสังเกตดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไร แต่ก็ได้พยายามให้ผู้ป่วยเล่าให้ฟังว่า ช่วงสองสามคืนมานี้เป็นยังไงบ้าง   กินได้ หลับดีไหม   มีเรื่องอะไรมากระทบกระเทือนจิตใจบ้างหรือไม่ คนไข้ก็เล่าให้ฟังว่าก็หลับดีมาทุกคืน (คำว่าหลับดีนี่เวลาฟังคนไข้พูด ต้องคอยถามซ้ำเพราะเท่าที่เจอ คนไข้ส่วนใหญ่จะตอบหลับดีทั้งนั้น แต่พอถามว่า หลังเที่ยงคืนตื่นบ้างไหม ตื่นบ่อยแค่ไหน หลับสนิทตลอดคืนหรือไม่ เวลาตื่นดึกๆแล้วหลับยากไหม เราก็มักจะพบว่าผู้ป่วยมักหลับไม่ค่อยสนิทหรือหลับไม่พอ การนอนมากก็ไม่ได้บอกว่าหลับมากไปด้วย) พอเมื่อคืนนี้ลูกชายได้เปิดดูทีวีรายการเรื่องจริงผ่านจอเป็นการรำลึก 1 ปี สึนามิ ก็เลยนั่งดูด้วย พอดูแล้วก็รู้สึกว่ามีอาการใจเต้นแรง ใจสั่น ใจไม่ดี กลางคืนนั้นก็เลยนอนไม่หลับ เป็นอย่างที่เล่ามา

          จากประวัติเราก็จับได้แล้วว่าสาเหตุมาจากความหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกจากการดูเหตุการณ์สะเทือนขวัญ  แต่ว่าเพื่อความไม่ประมาทก็ต้องมีการตรวจร่างกาย ตรวจหัวใจก็พบว่าการตรวจร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ หัวใจเต้น 80 ครั้งต่อนาที เต้นสม่ำเสมอดี ก็ได้วินิจฉัยโรคให้ผู้ป่วยฟังว่าภาวะอย่างนี้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง ไม่ได้เป็นจากโรคหัวใจ แต่เกิดจากการมีภาวะเครียดหรือวิตกกังวล (ความกลัว ตื่นตระหนกก็ถือเป็นความเครียดอย่างหนึ่ง) ส่งผลให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานแปรปรวนไป เราจึงรู้สึกมีอาการต่างๆขึ้นมา เรียกว่าโรคกายอันเกิดจากจิตใจหรือPsychosomatic disorders

          ผมก็ได้อธิบายการเกิดอาการของโรคให้ผู้ป่วยฟัง พร้อมทั้งพยายามสร้างความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่าไม่เป็นอะไรที่ร้ายแรง รู้สึกว่าผู้ป่วยมีสีหน้าท่าทางที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ได้ให้ยาเพื่อลดความวิตกกังวลไปด้วยในระยะสั้นๆ เพื่อทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายและลดความวิตกกังวลลง จะได้หายจากอาการเร็วขึ้น  ผมพบบ่อยครั้งว่าคำอธิบายสั้นๆของแพทย์โดยไม่ให้ยาไปเลย ผู้ป่วยมักไม่ค่อยหาย แต่ถ้าให้ยาไปบ้างผู้ป่วยจะหายได้ดีและเร็วขึ้น

           เท่าที่สังเกต มักพบว่าคนไข้ที่มีอาการใจสั่น ใจไม่ดี มักเป็นคนขี้กลัว คิดมาก กลัวเป็นโรคนั้นโรคนี้ มีอาการอะไรขึ้นมาหน่อยก็เอาไปคิดว่าจะเป็นมะเร็งไหม เป็นหัวใจไหม เป็นอะไรที่ร้ายแรงไหม ใจมุ่งที่จะคิดอย่างนี้ก็เลยเกิดความกังวลลึกๆแล้วส่งผลออกมาทางร่างกาย บางคนอ่านหนังสือมาดูแล้วมีบางส่วนคล้ายกับที่ตนเองเป็นก็คิดเป็นตุเป็นตะว่าใช่แน่เลย ก็พาลกลัวหรือกังวลไปใหญ่ อาการก็เป็นมากขึ้นไปอีก บางคนก็เป็นคนตกใจง่าย เสียงดังหน่อย ได้ยินเสียงคนทะเลาะกันหน่อยก็ออกอาการใจไม่ดี ใจเต้นแรง พาลจะเป็นลม เหงื่ออกคล้ายจะช็อค เพราะถูกกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติทำให้เกิดความแปรปรวนขึ้น จึงแปลผลผิดพลาดไปว่าหัวใจเต้นผิดปกติทั้งๆที่มันเต้นปกติ บางทีอาจเรียกโรคแบบนี้ว่าเป็น Autonomic instability ซึ่งก็ถือว่าเป็นกลุ่มโรคทางกายที่เกิดจากจิตใจ เหมือนกัน
หมายเลขบันทึก: 10565เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2005 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ใจคือสิ่งที่กำกนดกรรมได้

เห็นด้วยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท