มายาคติ "ประชาธิปไตย" ของปัญญาชนชั้นกลางไทย


เกิดอะไรขึ้นกับปัญญาชนชั้นกลางไทยส่วนมาก? พวกเขาน่าที่จะเป็น “กองหน้าประชาธิปไตย” ไม่ใช่ “พวกหามเสลี่ยงอำนาจนิยม”

 
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
22 พฤศจิกายน 2549
ที่มา : ประชาไท 

คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 พลันเสียงประกาศ “โปรดฟังอีกครั้ง ...” ปัญญาชนชั้นกลางไทยกลุ่มใหญ่ ต่างไชโยโห่ร้องว่า “เราชนะแล้ว” “ระบอบทักษิณพังทลายแล้ว” ปัญญาชนกลุ่มนี้ประกอบด้วยนักวิชาการ อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำสหภาพแรงงาน ราษฎรอาวุโส “ผู้ดี” แม้แต่ “คนเดือนตุลา” ที่อดีตเคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

วันที่ 19 กันยายนเป็นหินลองทองที่พิสูจน์ว่า ใครและชนชั้นใดต้องการประชาธิปไตย และใคร ชนชั้นใดที่ เป็น “พวกอำนาจนิยม” ณ วันนี้ ปัญญาชนชั้นกลางกลุ่มใหญ่ได้กลายเป็นพวกขวาจัด สนับสนุนและชื่นชมรัฐ ประหารที่สถาปนา “ระบอบปฏิรูป” แล้วต่างก็แย่งกันวิ่งเข้าไปขอส่วนแบ่ง ทั้งยศ ตำแหน่ง และเงินกันอย่าง ครึกครื้น

ทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงในกลุ่มปัญญาชนส่วนที่คัดค้านรัฐประหารว่า เกิดอะไรขึ้นกับปัญญาชน ชั้นกลางไทยส่วนมาก? พวกเขาน่าที่จะเป็น “กองหน้าประชาธิปไตย” ไม่ใช่ “พวกหามเสลี่ยงอำนาจนิยม” คำ อธิบายก็มี เช่น “คนพวกนี้หลงผิด” “ถูกอารมณ์เกลียดชังทักษิณเข้าครอบงำจนหน้ามืด” “สร้างวาทกรรมระบอบ ทักษิณขึ้นมาหลอกตัวเองจนหลงเชื่อหัวปักหัวปำ” แต่คำตอบเหล่านี้เน้นไปที่อัตวิสัยตัวบุคคลเท่านั้น โดยไม่ได้ ตอบว่า เหตุใดพวกเขาจึง “แห่แหนไปเป็นพวกอำนาจนิยมขวาจัดอย่างพร้อมเพรียงกันหมด” 

คำตอบคือ ปัญญาชนชั้นกลางส่วนนี้ปัจจุบันได้เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองจารีตนิยม-ขุนนางไปแล้ว  พวกเขาไม่เคยเป็นฐานพลังและกองหน้าประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทย แม้บางคนเคยมีส่วนร่วมต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตยเมื่อตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 ก็ตาม สิ่งที่คนพวกนี้ใฝ่ฝันต้องการมาตลอดยุคสมัยคือ  เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ให้ชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางขยายสมาชิกภาพความเป็น “อภิสิทธิ์ชน” มา ให้พวกตน

ปัญญาชนชั้นกลางเป็นดอกผลของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการศึกษาในยุค 2500-2516 ซึ่งเป็น เผด็จการทหารด้วยอำนาจรัฐที่ผูกขาดในวงแคบของชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนาง การต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย” ของ ปัญญาชนชั้นกลางก็คือ ยุติการผูกขาดอำนาจในหมู่ขุนนางราชการและให้ขยายขอบข่ายอำนาจนั้นมาสู่ 
“คนนอก” แม้พวกเขาจะประสบความสำเร็จในเดือนตุลาคม 2516 แต่ดอกผลก็ถูกปล้นชิงกลับคืนไปในเดือน ตุลาคม 2519 ปัญญาชนชั้นกลางเหล่านี้ยังคงดิ้นรนต่อสู้เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ของพวกตนมาตลอดยุค  2520 ซึ่งการเมืองเป็นระบอบอำนาจนิยมแฝงเร้นที่ชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางกุมอำนาจรัฐจริง แต่มีเปลือกนอก เป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่มีการเลือกตั้งและมีพรรคการเมืองกับรัฐบาลที่อ่อนแอ

ปัญญาชนชั้นกลางกลุ่มนี้สนับสนุนหรือไม่คัดค้านรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เพราะพวกเขา เองมีทั้งผลประโยชน์และจิตวิทยาร่วมกับชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางที่รังเกียจนักการเมืองที่เลือกตั้งโดยชนชั้นล่าง ทั่วประเทศ แต่พวกเขาคัดค้านนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งในเดือนพฤษภาคม 2535 ก็เพราะนั่นเป็นสัญญาณ ที่แสดงว่า ชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางยังคงต้องการผูกขาดอำนาจไว้ในกลุ่มเล็กแคบของตนเหมือนเดิมด้วยการ ย้อนยุคการเมืองไปถึงปี 2523

ชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางจึงสรุปบทเรียนได้ว่า ต้องเจียดสมาชิกภาพในอำนาจไปให้ปัญญาชนชั้นกลาง เพื่อให้เป็นพันธมิตรและ “คนหามเสลี่ยง” แก่พวกตน ปัญญาชนชั้นกลางจึงเป็นผู้ที่ได้เสพดอกผลแห่ง “ชัยชนะ”  ของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สถานะการเมืองสังคมได้ยกสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับแต่นั้น พวกเขาคอยชะเง้อ 
ชูสองมือ ร้องขอยศ ตำแหน่ง และผลประโยชน์จากผู้ปกครอง ได้เข้าไปอยู่ในกลไกอำนาจทั้งในระบบราชการและ องค์กรการเมืองผ่านสถานะของตนในมหาวิทยาลัยและองค์กรพัฒนาเอกชน สมอ้างเป็น “ตัวแทนภาค
ประชาชน” แต่แท้จริงเป็นพวก “ขุนนางใหม่” ในระบอบอำนาจนิยมแฝงเร้น 

ปัญญาชนชั้นกลางกลุ่มนี้ต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทยของกลุ่มทุนใหม่เพราะฐานพลังชนชั้นล่างทั้งในเมือง และชนบทกับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ของกลุ่มทุนใหม่นั้นเป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นจารีต นิยม-ขุนนางและต่อสถานะ “ขุนนางใหม่” ของพวกตน นี่คือสาเหตุที่พวกเขาสร้างแล้วก็ดูดซับวาทกรรม “ระบอบ ทักษิณ” เข้าไปได้ง่าย รวดเร็ว ปลุกปั่นขึ้นเป็นอารมณ์เกลียดชังสุดขั้ว ร่วมกับชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางก่อตัวขึ้น เป็นแนวร่วมอำนาจนิยม เพื่อโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทยและฉีกรัฐธรรมนูญ 

คนพวกนี้พูดได้ถูกต้องที่ว่า รัฐประหาร 19 กันยายนแตกต่างจากรัฐประหารทั้งปวงในอดีตแต่ไม่ใช่เพราะ นี่เป็น “รัฐประหารที่ดี” หรือ “รัฐประหารเพื่อปฏิรูปการเมืองประชาธิปไตย” ตามที่คนพวกนี้อ้าง หากแต่เป็น
รัฐประหารครั้งแรกที่ปัญญาชนขุนนางใหม่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ตั้งแต่เริ่มต้นก่อวิกฤตการเมืองกลางปี 2548 จน ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 และก็ได้รับส่วนแบ่งกันถ้วนหน้า เราจึงได้เห็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติและองค์กรการ เมืองต่าง ๆ ภายหลังรัฐประหารที่เต็มไปด้วยนักวิชาการ อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักกฎหมาย ผู้นำ องค์กรพัฒนาเอกชน “ตัวแทนภาคประชาชน” และคนเดือนตุลาเข้าไปนั่งกันอย่างภาคภูมิใจ  

วันที่ 19 กันยายนจึงเป็นรัฐประหารร่วมของพันธมิตรจารีตนิยม-ราชการ-ปัญญาชนขุนนางใหม่เพื่อ สถาปนาสิ่งที่บางคนเรียกว่า “ประชาธิปไตยภูมิปัญญาไทย” แต่เนื้อแท้เป็นระบอบอภิสิทธิ์ชน ที่สำคัญคือ นี่อาจ เป็นรัฐประหารร่วมครั้งสุดท้ายของพวกเขาด้วยเมื่อ “ระบอบประชาธิปไตยมหาชน” มาถึง 

ทั้งหมดนี้ เรายังไม่ได้กล่าวถึงปัญญาชนชั้นกลางอีกส่วนหนึ่งซึ่งในคืนวันที่ 19 กันยายน ได้แสดงอาการรู้ สึกว่า “โล่งอก” “วิกฤตการณ์ได้จบสิ้นลงเสียที” และ “ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ก็เป็นไปแล้ว มาช่วยกอบกู้ บ้านเมืองกันดีกว่า” เรายังต้องอธิบายธาตุแท้และอาการป่วยของปัญญาชนกลุ่มนี้ในโอกาสต่อไป 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549

 

หมายเลขบันทึก: 105490เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2007 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท