คณะทำงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพแรงงานต่างด้าว
คณะทำงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพแรงงานต่างด้าว จังหวัดชลบุรี

'ล่าม' แรงงานข้ามชาติหนึ่งน้ำใจช่วยผู้ป่วยข้ามชาติ


‘ล่าม’ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างหมอและคนไข้
ล่ามใช่จะมีความสำคัญเฉพาะด้านการทูตหรือการค้า แม้แต่การรักษาพยาบาลที่หมอและคนไข้เป็นคนต่างเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และภาษา เช่นในกรณีของคนไข้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยล่ามก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างหมอและคนไข้ เพื่อให้คนงานที่ด้อยโอกาสเหล่านี้ไม่ต้องทนทุกข์กับโรคภัยอย่างไร้ที่พึ่ง นับเป็นอีกหนึ่งในน้ำใจที่มีให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
       
       
ปัญหาสื่อสาร
       
อุปสรรคการรักษา

       
       
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยมีความจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อให้ทำงานในบางสาขาอาชีพที่คนไทยไม่นิยม เช่น คนงานในเรือประมง คนงานคัดปลา คนงานในโรงงานขนาดเล็ก แรงงานเกษตร หรือคนรับใช้ในบ้าน จึงมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา พม่า หรือชนกลุ่มน้อย อย่าง มอญ ไทใหญ่ และกะเหรียง หลั่งไหลเข้ามาแสวงโชคหางานในเมืองไทยซึ่งให้ค่าแรงที่สูงกว่าในประเทศของเขา
       
       
จังหวัดในแถบภาคตะวันออกซึ่งมีการทำกิจการประมงเป็นจำนวนมาก ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวอยู่ไม่น้อย เนื่องจากแรงงานเล่านี้มีจุดเด่นในเรื่องของความขยัน อดทน และที่สำคัญอัตราค่าแรงถูก จึงเป็นที่ต้องการของนายจ้าง ในยามที่พวกเขาแข็งแรงดีก็จะทำงานกันอย่างขันแข็ง เป็นที่ถูกอกถูกใจของนายจ้าง แต่ในยามเจ็บป่วยกลับมีปัญหาในการรักษาพยาบาล บางรายประสบอุบัติเหตุแต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง บ้างถูกปล่อยปละละเลยจนเกิดโรคแทรกซ้อนถึงขั้นโคม่า และมีไม่น้อยที่ทนโรครุมเร้าไม่ไหวเสียชีวิตไปก็มี แต่ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือคนไข้แรงงานต่างด้าวไม่สามารถสื่อสารกับแพทย์-พยาบาลได้ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
       
       
ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หากบรรดาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในจังหวัดทางภาคตะวันออกของไทยเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา การจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลดูจะเป็นสิ่งที่ยากลำบากอย่างยิ่ง เนื่องจากความแตกต่างทางภาษาทำให้หมอและคนไข้สื่อสารกันไม่เข้าใจ โดยเฉพาะความเจ็บป่วยที่ไม่มีอาการภายนอกให้เห็นอย่างเด่นชัด เช่น ปวดหัว ปวดท้อง โรคกระเพาะ โรคมะเร็ง ซึ่งการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นนั้นหมอจะวินิจฉัยจากอาการของคนไข้ ซึ่งจะรู้ได้ก็จากคำบอกเล่าของคนไข้เอง
       
       
แต่ปัญหาคือคนไข้ไม่สามารถบอกให้หมอเข้าใจได้ว่าเจ็บปวดตรงไหน มีอาการอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันคนไข้ก็ไม่เข้าใจคำสั่งของหมอ ไม่ว่าจะบอกให้อ้าปากเพื่อวัดไข้ เปลี่ยนเสื้อก่อนเอ็กซเรย์ ไม่เข้าใจคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยาและการปฏิบัติตัวต่างๆ อีกทั้งไม่สามารถอ่านคำแนะนำหรืออ่านฉลากยาที่เป็นภาษาไทยได้ ทำให้การรักษาเป็นเรื่องยากลำบาก และปัญหาในการสื่อสารนี่เองที่ทำให้คนไข้ที่เป็นแรงงานต่างด้าวไม่อยากไปพบแพทย์ ขณะที่บางคนมองว่าเพราะตนเองเป็นต่างด้าวจึงไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีเหมือนคนไข้ทั่วไป จนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่แรงงานต่างด้าวว่า หมอไม่ยอมรักษา คนไข้เหล่านี้จึงรักษากันไปตามมีตามเกิด ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายโรคมากขึ้น ทั้งในหมู่แรงงานต่างด้าวและคนไทยที่อยู่ใกล้เคียง
       

       “
ในแถบภาคตะวันออกมีแรงงานต่างด้าวเยอะ อย่างในจังหวัดระยองนี่แรงงานส่วนใหญ่จะเป็นชาวกัมพูชา รองลงมาคือพม่า และลาว โดยจรรยาบรรณแพทย์แล้วถ้าคนไข้เจ็บป่วยมา ไม่ว่าเป็นจะคนไทยหรือต่างด้าว เราให้การดูแลรักษาทุกคน จะปฏิเสธการรักษาไม่ได้ แต่ปัญหาคือสื่อสารกันไม่เข้าใจ เพราะเราไม่รู้ภาษาเขมร คนไข้ก็พูดภาษาไทยไม่ได้ ต่างจากกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ อย่าง เครื่องจักรตัดแขน หัวแตก รถชน ที่หมอรักษาได้เลยเพราะเห็นบาดแผลชัดเจน หมอเองก็เกร็งกลัวจะวินิจฉัยโรคผิด ไม่รู้จะรักษาให้ยังไง นพ.นฤทธิ์ อ้นพร้อม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดระยอง พูดถึงปัญหาในการดูแลรักษาคนไข้ต่างด้าวเมื่อ 4-5 ปีก่อน
       
       
จุดเริ่มของล่ามอาสา
       
       
จากปัญหาดังกล่าวจึงเกิดโครงการอาสาสมัครล่ามแรงงานต่างด้าว ซึ่งทางศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (CAR) สำนักงานภาคตะวันออก ภายใต้การสนับสนุนของ Global Fund ได้เปิดรับสมัครแรงงานต่างชาติที่สามารถพูดภาษาไทยได้เพื่อมาช่วยเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวกับหมอ-พยาบาลซึ่งเป็นคนไทย โดยทำงานประสานกับโรงพยาบาลในแถบภาคตะวันออก ซึ่งทำให้การดูแลคนไข้เป็นเรื่องง่ายขึ้น
       
       
สุทธิชัย ฤกษ์ยามดี เจ้าหน้าที่ของศูนย์ CAR หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงที่ผลักดันให้เกิด ล่ามแรงงานต่างด้าวเล่าว่า
       
       “
โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จากการที่เจ้าหน้าที่ของ CAR ลงมาทำโครงการรณรงค์ต่อต้านการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในหมู่แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในแถบภาคตะวันออก แต่กลับพบปัญหาว่าการรณรงค์เรื่องเอดส์ รวมถึงการดูแลรักษาโรคที่เป็นผลพวงจากภูมิคุ้มกันบกพร่องนั้นเป็นเรื่องยากเพราะอุปสรรคในเรื่องภาษาที่แตกต่างกัน ทาง CAR คิดว่าน่าจะมีล่ามที่รู้ทั้งภาษาไทยและภาษาของประเทศเพื่อนบ้านมาช่วยเป็นสื่อกลางในเรื่องนี้
       
       
เราจึงเปิดรับอาสาสมัครที่เป็นคนงานต่างชาติเข้ามาช่วยงาน และประสานทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลในแถบภาคตะวันออกถึงความจำเป็นตรงนี้ ซึ่งหลังจากพยายามอยู่พักหนึ่ง ทางโรงพยาบาลก็เข้าใจและหันมาให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ อนุญาตให้ล่ามอาสาเข้าไปดูแลคนไข้ในโรงพยาบาล ตั้งแต่ส่งตัวคนไข้ เป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้ ตั้งแต่ การซักประวัติ สอบถามอาการป่วย จนถึงข้อแนะนำในการรับประทานยาและการปฏิบัติตัวของคนไข้ บางทีก็เขียนใบคำแนะนำในกินและใช้ยาเป็นภาษาเขมรให้ด้วย ซึ่งการทำงานตรงนี้ช่วยให้ปัญหาด้านสุขภาพของคนงานต่างด้าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด
       

       
ทุ่มเทกายใจ
       
       
อาสาสมัครล่ามแรงงานต่างด้าวเป็นที่พึ่งหนึ่งซึ่งช่วยให้แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น นอกจากพวกเขาจะเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างหมอและคนไข้แล้ว ยังทำหน้าที่พาคนไข้ไปยังโรงพยาบาล และให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ เช่น การฝากครรภ์ การคุมกำเนิด และการป้องกันโรค รวมทั้งช่วยเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่นายจ้างต้องรับผิดชอบด้วย
       
       
แต่เนื่องจากงบประมาณที่มีจำกัด ทำให้ขณะนี้มีล่ามแรงงานอาสาในแถบภาคตะวันออกที่เป็นเจ้าหน้าที่ของ CAR เพียง 7 คนเท่านั้น โดยมีทั้งล่ามที่เป็นชาวกัมพูชา และพม่า
       
       
วี หืด สาวชาวกัมพูชาล่ามอาสาสมัครคนแรกของภาคตะวันออก บอกเล่าถึงการทำงานของเธอด้วยความภาคภูมิใจ ว่า
       
       
พี่ประจำอยู่ที่จังหวัดระยอง มาเป็นอาสาสมัครตรงนี้ก็ได้เงินเดือนไม่เยอะ แค่ 5-6 พันบาท แต่ภูมิใจนะเพราะได้ช่วยเพื่อนคนงานเขมรด้วยกัน ก็ช่วยดูทั้งผู้ป่วยที่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล และลงไปหาผู้ป่วยในพื้นที่ด้วย บางคนเขาไม่สบายแต่ไม่รู้ว่าจะไปโรงพยาบาลยังไง ต้องติดต่อตรงไหน อย่างคนท้องนี่เราช่วยแนะนำตั้งแต่ฝากครรภ์เลย คือเมื่อก่อนเขาไม่กล้าไปโรงพยาบาลเพราะพูดกันไม่รู้เรื่องก็จะอาศัยคนเฒ่าคนแก่เป็นหมอตำแยทำคลอดให้ ก็เกิดปัญหาการติดเชื้อที่สายสะดือ บางรายเป็นบาดทะยักตายทั้งแม่ทั้งลูก เห็นแล้วก็เศร้านะ บางคนไม่กล้าไปหาหมอเพราะหลบหนีเข้าเมืองมา กลัวหมอแจ้งตำรวจมาจับ เราก็อธิบายว่าให้ไปรักษาก่อน หายแล้วค่อยว่ากัน ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้มีแต่ตายกับตายเท่านั้น
       

       
ทั้งนี้ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายซึ่งไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนแรงงาน เพราะคนกลุ่มนี้จะไม่มีเงินประกันสุขภาพเหมือนกับผู้ที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งจะได้รับการตรวจสุขภาพ ทำประวัติ และทำประกันสุขภาพ โดยเสียค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาท ซึ่งเป็นการทำประกันในลักษณะที่คล้ายกับการทำประกันสังคมของพนักงานที่เป็นคนไทย และเมื่อเจ็บป่วยก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่ระบุไว้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
       
       
ซึ่งจากการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยถึง 2 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมายเพียง 6 แสนคนเท่านั้น
       
       
เพ็ง ลึมเสียว อดีตลูกเรือประมงชาวกัมพูชา ซึ่งทำงานเป็นล่ามอาสาสมัครประจำจังหวัดชลบุรี มากว่า 3 ปี พูดถึงปัญหาที่เขามักพบเจอว่า
       
       
ถ้าเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย นายจ้างส่วนใหญ่จะไม่ดูแลเลย เพราะกลัวเสียเงินค่ารักษา แล้วก็กลัวความผิดด้วย แต่ถ้าเป็นแรงงานที่ขึ้นทะเบียนและทำประกันสุขภาพนี่นายจ้างแค่พามาส่งโรงพยาบาลอย่างเดียว โรงพยาบาลดูแลให้หมด ตัวแรงงานเองก็กลัวเหมือนกัน คือแค่ออกมาเดินก็กลัวตำรวจจับแล้ว เวลาเจ็บป่วยเลยได้แต่ซื้อยามากิน เจออยู่รายหนึ่งน่าสงสารมาก เป็นฝีกลางลำตัวขนาดใหญ่มาก เกือบจะทะลุถึงหลังอยู่แล้ว ผมกับเจ้าหน้าที่ของ CAR ก็ช่วยกันพาไปโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็ดีใจหาย ช่วยกันดูแลดีมากๆ
       
       
ขยายความร่วมมือ
       

       
โครงการล่ามแรงงานต่างด้าวดูจะเป็นการจุดประกายความคิดที่ทำให้เกิดโครงการดีๆตามมา ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงล่ามอาสาของ CAR แค่ 7 คนเท่านั้น แต่ยังมีแรงงานต่างด้าวอาสาอีกนับร้อยคนที่สมัครใจเป็นล่ามโดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ โดยคนกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคต่างๆ เช่น แนะนำการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี แนะนำให้แม่พาลูกไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค รวมทั้งแนะนำการคุมกำเนิด
       
       
ด้าน สมศักดิ์ เวียงย่างกุ้ง ผู้จัดการศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (CAR) ประจำสำนักงานภาคตะวันออก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
       
       
จากคุณภาพในการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น การแพร่ระบาดของโรคลดลง ทำให้เราได้รับความร่วมมือทั้งจากตัวแรงงานเอง นายจ้าง โรงพยาบาล สาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย มีการทำโครงการในพื้นที่ร่วมกัน เช่น โครงการคลินิกเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นการลงไปตรวจสุขภาพและให้การรักษาแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ตลอด 5 ปีที่เราทุ่มเทมาถือว่าคุ้มค่า หายเหนื่อย ที่สำคัญต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ตั้งใจช่วยกันจริงๆ
       

       
นอกจากนั้น ในส่วนของโรงพยาบาลในแถบภาคตะวันออกต่างก็มีโครงการล่ามแรงงาน ที่เรียกว่าพนักงานสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว หรือ พสต. ซึ่งเป็นล่ามคนไทยที่สามารถพูดภาษาของประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาเป็นแรงงานในไทยได้ โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีหน้าที่ช่วยดูแลและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยที่เป็นแรงงานต่างด้าว ในลักษณะเดียวกับล่ามแรงงานต่างด้าวอาสา ซึ่งทำให้คนไข้ที่เป็นต่างด้าวได้รับการดูแลรักษาที่ดีขึ้น
       
       
ธิดารัตน์ สุวรรณ หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม ประจำโรงพยาบาลจังหวัดระยอง หน่วยงานหลักที่ให้การดูแลช่วยเหลือคนไข้ที่เป็นแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า
       
       “
ในส่วนของโรงพยาบาลจังหวัดระยอง เรามีพนักงานสาธารณสุขแรงงานต่างด้าวมา 2 ปีแล้ว ตอนนี้มีอยู่ 3 คน จบปริญญาตรีทั้งหมด โดยเป็นล่ามที่สามารถพูดภาษากัมพูชาได้ 2 คน และจบเอกภาษาพม่าอีก 1 คน ปกติเราจะช่วยเหลือคนไข้ทุกคนสุดอย่างความสามารถ โดยไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนไทยหรือต่างด้าว เพราะหากแรงงานต่างด้าวมีปัญหาโรคระบาดก็จะแพร่มาถึงคนไทยด้วย เราจึงต้องดูแลเรื่องการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง บางรายไม่มีเงินเราก็ต้องรักษาให้ เพราะมัน
คำสำคัญ (Tags): #migrant
หมายเลขบันทึก: 105428เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2007 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท