กระบวนทัศน์ที่เป็นกระแสหลักในการปฎิรูปการศึกษาของไทย ตอนที่ 1


กระบวนทัศน์ที่เป็นกระแสหลักที่ผมได้กล่าวมาในข้างต้นก็คือ กระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยม(Positivism paradigm) เป็นกระบวนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ เชื่อในสิ่งที่เห็นและพิสูจน์ได้ ทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างมาก

  จากชื่อบันทึกผมได้พูดถึงกระบวนทัศน์ที่เป็นกระแสหลักในการปฏิรูปการศึกษาของไทยนั้น  ผมต้องการสื่อให้เห็นถึงมุมมองของคนๆหนึ่งที่กำลังเฝ้ามองดูวิถีทางในการก้าวย่างที่กึ่งไปข้างหน้าและกึ่งถอยหลัง  จะก้าวไปข้างหน้าก็เหมือนกับเด็กที่วิ่งก้มหน้าก้มตาไปอย่างเดียว จะถอยหลังกลับก็หาทางกลับไม่เจอ  แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้ลองออกไปวิ่งแข่งกับเขาดู

   กระบวนทัศน์ที่เป็นกระแสหลักที่ผมได้กล่าวมาในข้างต้นก็คือ  กระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยม(Positivism paradigm) เป็นกระบวนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์  เชื่อในสิ่งที่เห็นและพิสูจน์ได้  ทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างมาก  กระบวนทัศน์นี้ได้แพร่หลายเข้ามาในวงการศึกษาและมีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาเป็นอย่างมาก  เพราะมีความเป็นรูปธรรมสูง  ปรัชญาทางการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลจากกระบวนทัศน์มี 2 ปรัชญา  ได้แก่ 

1. วัตถุนิยม(Materialism) หรือประจักษ์นิยม(Realism) ปรัชญาวัตถุนิยมหรือประจักษ์นิยมเป็นปรัชญาอีกสาขาหนึ่งที่มีต้นเค้าความคิดมาจากปรัชญาสมัยกรีก  ผู้ที่เป็นปรัชญาเมธีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น  บิดาแห่งวัตถุนิยม คือ  แอริสโตเติล(Aristotle)  นักปรัชญาชาวกรีกผุ้ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 384 – 322 ปี ก่อนคริสตกาล  ปรัชญาวัตถุนิยม  มีความเชื่อว่าโลกใบนี้เป็นโลกของวัตถุ(A World of Things)  วัตถุย่อมอยู่เหนือจิตใจ  ปรัชญาสาขานี้จึงให้ความสำคัญกับความสุขทางกายที่ได้จากวัตถุมากกว่าความสุขทางใจ

ทัสนะของแอริสโตเติลในด้านการศึกษาแตกต่างจากพลาโต  แอริสโตเติลเห็นว่าการใคร่ครวญหาเหตุผลด้วยจิตใจอย่างเดียวไม่เพียงพอจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามธรรมชาติด้วย  เป็นการมองโลกทางด้านวัตถุและเป็นการเริ่มต้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์  การจัดการศึกษาตามแนวปรัชญาสาขานี้มีลักษณะดังนี้

-   ความเชื่อของครูตามปรัชญานี้  เชื่อว่า  การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับการมองเห็น  เพราะความรู้เกิดขึ้นจากสิ่งที่มองเห็น  หรือเกิดจากสิ่งที่เป็นรูปธรรม  รับรู้ได้โดยประสาทสัมผัสทางกาย  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ครูจะมุ่งสอนให้นักเรียนแสวงหาวัตถุ  เช่น  วิชาชีพต่างๆ  สอนให้รู้จักทำมาหากินมากกว่าปลูกฝังคุณธรรมความดี  ให้ความสำคัญกับวัตถุหรือการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าสิ่งอื่น  เพราะเชื่อว่า  ถ้าคนเรามีกินมีใช้ คงไม่มีใครคิดเป็นโจรเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง

-  วิธีการสอน  เน้นการเรียนรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัสทางกายและสิ่งที่เป็นรูปธรรม  มากกว่านามธรรม   วิธีการสอนจึงมักจะใช้วิธีการสาธิต(Demonstation)  โดยใช้อุปกรณ์การสอนต่างๆ  เช่น  ของจริง  รูปภาพ  การศึกษานอกสถานที่  เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้โดยไม่ต้องท่องจำ  จะให้ความสำคัญกับวิชาที่มุ่งพัฒนาความเจริญทางวัตถุมากกว่ามุ่งพัฒนาจิตใจ

-   ตัวผู้เรียน  ครูยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของการสอนมากกว่ายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการสอน  ครูจะเป็นผู้แสดง  นักเรียนเป็นผู้ดู  ใช้การบอกเล่า  บรรยายหรือการให้นักเรียนท่องจำจะมีน้อยลงแต่จะใช้การสาธิตหรือทดลองให้ดู  มีอุปกรณ์ของจริงหรือรูปภาพให้นักเรียนเห็นแต่ผู้สาธิตหรือทดลองเป็นครูมิใช่นักเรียน  ความสามารถของครูในการสาธิต  การอธิบายและการใช้อุปกรณ์การสอนมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างมาก 

กล่าวโดยสรุป  คือ  การเรียนการสอนตามแนววัตถุนิยม  เน้นความรู้ที่ได้มาจากประสาทสัมผัสทางกายโดยเฉพาะการดูเป็นหลัก

 

2.  ประสบการณ์นิยม(Experimentalism)  ปฏิบัตินิยม(Pragmatism) หรืออุปกรณนิยม(Instrumentalism)  ปรัชญาประสบการณ์นิยมเป็นปรัชญาที่แพร่หลายทั่วไปในวงการปรัชญาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา  นับว่าเป็นผลผลิตทางความคิดที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาสมัยใหม่ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก  ปรัชญาเมธีที่เป็นผุ้บุกเบิกปรัชญานี้มี 2 ท่าน คือ เจมส์(William James)  และดิวอี้(John Dewey)    ปรัชญาสาขานี้มีความเชื่อว่า  โลกใบนี้  คือ โลกของประสบการณ์(A World of Experience)  ชีวิตคือการเดินทางเพื่อแสวงหาประสบการณ์  ในโลกนี้ไม่มีสิ่งมีค่าใดมีค่าเท่ากับการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ  ความสุขของคนเรา  คือ  การได้พบกับประสบการณ์แปลกๆใหม่ๆที่ท้าทายความอยากรู้อยากเห็นของตนเอง

ทัศนะของดิวอี้เห็นว่า  มนุษย์จะรับความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ จากประสบการณ์เท่านั้น  การเรียนรู้ที่จะก่อให้เกิดประสบการณ์ที่เหมาะสม คือ  การใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป้นวิธีการแก้ปัญหาอย่างมีขั้นตอน  โดยผู้เรียนจะต้องมีการทำกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย  การจัดการศึกษาตามแนวปรัชญาสาขานี้มีลักษณะดังนี้

-  ความเชื่อของครูตามปรัชญานี้  เชื่อว่า  การเรียนรู้ต้องควบคู่ประสบการณ์  เพราะวิชาการต่างๆ สอนกันได้  แต่ประสบการณ์สอนกันได้  ดังนั้น  ครูต้องจัดกิจกรรมเพื่อให้เด้กเกิดประสบการณ์  เพราะเด็กเป็นผู้อ่อนต่อโลกหรืออ่อนประสบการณ์  ความรู้ที่แท้จริงเกิดจากประสบการณ์ตรงหรือการลงมือกระทำจริงๆ มิใช่เกิดจากการฟัง  การดู  หรือการนึกคิดอย่างในปรัชญาจิตนิยมหรือวัตถุนิยม  คนที่มีประสบการณ์มากจึงฉลาดมาก  สามารถเอาตัวรอดและอยู่เป็นสุขในสังคม

-   การเรียนการสอน  มีลักษณะสำคัญ คือ  เน้นการเรียนโดยวิธีการแก้ปัญหา(Problem solving)  ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Learner Centered Learning)  และเรียนรู้ในขณะที่นำความรู้นั้นๆ มาใช้(Learning While Using Knowledge)  จัดกิจกรรมการทดลองค้นคว้า  ฝึกแก้ไขปัญหาด้วยตนเองและการลงมือปฏิบัติจริง  เพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรง  เช่น  การสอนด้วยวิธีการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์  โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้  มากกว่าการท่องจำเนื้อหาวิชา  เพราะเนื้อหาวิชาอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  และเนื้อหาวิชาต่างๆนั้น  มีมากมายเกินกว่าที่จะจดจำรายละเอียดได้หมด  ขอเพียงผู้เรียนรู้วิธีการแสวงหาความรู้ก็พอ  กล่าวคือ  สอนให้รู้จักวิธีการตกปลา  มิใช่นำปลาไปให้หรือเน้นกระบวนการแสวงหาความรู้(Process)  มากกว่าตัวความรู้(Product)

-   ตัวผู้เรียน  การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงประสบการณ์เก่ากับประสบการณ์ใหม่ของผู้เรียน  นักเรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ  โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะเท่าที่จำเป็น  ครูจะไม่พูดหรือสอนอะไรมาก  แต่จะจัดกิจกรรมต่างๆ  หรือสร้างสถานการณ์จำลองแล้วให้นักเรียนใช้ประสบการณ์เดิมมาแก้ปัญหา  เพื่อการค้นพบประสบการณ์ใหม่ที่จะเป้นคำตอบของปัญหานั้นๆ  ครูที่เก่งที่สุด  คือ  ครูที่สอน(พูด) น้อยที่สุดแต่นักเรียนเรียนรู้ได้น้อยที่สุด

กล่าวโดยสรุป  คือ  การสอนตามแนวประสบการณ์นิยมจะเน้นการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง(Learning by Doing) เรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์จริง  หรือจากประสบการณ์ตรง(Direct Experience)

คำสำคัญ (Tags): #กระบวนทัศน์
หมายเลขบันทึก: 105250เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2007 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ พี่ปริวัตร

"Learning by Doing"  & "Direct Experience"

เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง  และเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง.. ผมชอบครับ  ความท้าทายของการเรียนรู้ที่ต้องดิ๊กกิ้ง ..หรือเจาะ ๆ ขุด ๆ เรียนรู้จากประสบการณ์และใช้งานจริง  สร้างบทสรุปการเรียนรู้ ... ไว้จะเข้ามาอ่านและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใหม่น่ะครับ ... ได้อ่านเวปพี่แล้วน่าสนใจมากครับ  ไว้มีโอกาสขอคำปรึกษาเรื่องประเด็นทางการศึกษาน่ะครับ..

Keep Walking

แหมเรียกผมซะแก่เลย  ยินดีมากครับที่มีคนอ่าน  เป็นกำลังใจให้ผมเขียนตอนต่อๆไป  แต่ผมมีคำถามหนึ่งที่สงสัยว่าทำไมคุณสุภัทร  ถึงลาออกจาก ป.เอก KM ซะล่ะครับ  ทีแรกผมกะว่าจบโทแล้วจะต่อเอก KM นะเนี่ย...แต่ปรากฏว่ามีคนลาออกหลายคนเลย  อยากรู้แต้ๆ

สวัสดีครับ 

:) สำหรับเหตุผลการลาออกที่ KM คงต้องคุยกันหลังไมค์น่ะครับ ..อิอิ  แบบว่าไม่อยากให้กระทบกระเทือนผู้หนึ่งผู้ใดน่ะครับ  ... แต่อย่างไรก็ตาม หากเราตั้งใจที่เดินไปตามความฝันแล้วน่ะครับ  เราก็ต้องเดินทางต่อ อุปสรรคที่พบก็ต้องแก้ไขกันต่อไป  แม้ว่าจะลำบากเพียงใด  ขอให้ใจเราสู้ต่อ เราก็จะก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงครับ  แต่ถ้าอยากเรียนที่นั่นจริง ๆ ผมก็ยินดีให้คำแนะนำน่ะครับ ผมมีหนังสือ Text ทาง KM ที่อัพเดต ของกูรู KM เกือบทุกเล่มน่ะครับ 

แต่หากปีหน้าสนใจมาเรียน R&D ด้วยกันจะดีใจมากเลยครับ  สำหรับตอนนี้ก็ให้กำลังใจสำหรับการเขียนวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จอย่างตั้งใจน่ะครับ....

 

ติดต่อผมทางเมล์หรือ Add MSN ผมได้ที่ [email protected]

Mobile: 0816716799

 หรือว่าง ๆ แวะมาหาที่แถว ๆ คณะก็ได้น่ะครับ วนเวียนแถว ๆ ห้องเรียน ห้องสมุด ในละแวกนี้นี่เอง..

ยินดีครับ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท