หอการค้ากับการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน


ดังนั้นเกือบจะทันทีที่เริ่มเข้ารับตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก ผมจึงได้นำเสนอแนวคิดยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลกซึ่งผมตั้งชื่อเอาเองในตอนนั้นว่า “ยุทธศาสตร์สี่แยกอินโดจีน”

< เมนูหลัก >

         หากมองย้อนหลังกลับไปเมื่อต้นปี พ.ศ. 2538 เชื่อได้ว่าคงจะยังไม่มีใครเลยที่เคยได้ยินคำว่า “สี่แยกอินโดจีน” และหากเผอิญจะมีใครที่เคยได้ยินอยู่บ้าง ก็คงจะไม่มีใครรู้ความหมายอย่างลึกซึ้งของคำ ๆ นี้ว่า ผู้พูดนั้น ต้องการสื่อความหมายอะไรหากไม่มีการอธิบายความเพิ่มเติมกันต่อไปอีก

         พ.ศ. 2538 เป็นปีแรกที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก หลังจากที่ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกให้เริ่มต้นทำหน้าที่มาตั้งแต่เป็นรองเลขาธิการ เลขาธิการ และรองประธาน ติดต่อกันมาคิดรวมเวลาแล้วถึง 11 ปี ได้มีโอกาสร่วมประชุม สัมมนา รับฟังแนวความคิดความเห็นในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรงบวกกับความเป็นคนท้องถิ่นแท้ ๆ ที่ถือกำเนิด เติบโต รับการศึกษา จนในที่สุดยังประกอบธุรกิจอยู่ในจังหวัดพิษณุโลกบ้านเกิดติดต่อกันมาตั้งแต่เริ่มต้น เหตุผลและประสบการณ์ต่าง ๆ ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วล้วนส่งผลให้สุดท้ายเกิดการตกผลึกทางความคิด มองเห็นความได้เปรียบ จุดอ่อนจุดแข็งของเมืองพิษณุโลก ประมวลกับโอกาสความเป็นไปได้ ที่สุดเกิดเป็นแนวคิดในการผลักดัน หวังจะเห็นเมืองพิษณุโลกมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจทัดเทียมบ้านอื่นเมืองอื่นที่เจริญแล้วทั้งหลาย ดังนั้นเกือบจะทันทีที่เริ่มเข้ารับตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก ผมจึงได้นำเสนอแนวคิดยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลกซึ่งผมตั้งชื่อเอาเองในตอนนั้นว่า “ยุทธศาสตร์สี่แยกอินโดจีน”

         ผมยังคงจำได้ดีชนิดติดตาตรึงใจถึงความรู้สึกในการนำเสนอแนวคิดยุทธศาสตร์ “สี่แยกอินโดจีน” ต่อคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดพิษณุโลกในสมัยนั้นเป็นครั้งแรก เพื่อขออนุมัติจัดการสัมมนาผลักดันแนวคิดตามยุทธศาสตร์นี้ต่อสาธารณะ กรรมการส่วนหนึ่งเข้าใจและยอมรับเกือบจะในทันทีที่รับฟังแนวความคิดนี้จบพร้อมทั้งเสนอที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ กรรมการท่านหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันไกลตัว และคิดว่าไม่มีโอกาสจะเป็นไปได้ และยังสบประมาทอีกว่าแนวความคิดนี้คงจะเลือนหายไปพร้อมกับวาระตำแหน่งประธานหอการค้าของผม ผมไม่เคยตอบโต้ แต่กลับอดทนไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยที่จะไปปาฐกถาในทุกแห่งที่มีผู้สนใจแนวความคิดนี้และเชิญผมไป ปัจจุบันหอการค้าจังหวัดพิษณุโลกก็ยังคงจัดวาระการสัมมนาในเรื่อง “ยุทธศาสตร์สี่แยกอินโดจีน” เป็นครั้งคราวมาโดยตลอดและเราพบว่าทุกครั้งของการสัมมนา เราได้ทั้งแนวคิดใหม่ ๆ ประเด็นใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมขึ้นมาจากแนวคิดเดิมของเราเสมอ ๆ

         วันนี้ ผมดีใจที่นอกจากหอการค้าจังหวัดพิษณุโลกที่ให้ความเอาใจใส่ “ยุทธศาสตร์สี่แยกอินโดจีน” มาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว เรายังมี “ชมรมศึกษาเพื่อการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน (ช.พ.อ.)” ที่ได้ให้ความเอาใจใส่ต่อแนวคิดนี้อย่างจริงจัง และยังแตกประเด็นออกไปสู่เรื่องของสังคม การเมือง และอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อที่จะช่วยกันผลักดันแนวความคิดนี้ให้ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์เรายังได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลให้ความเห็นชอบมอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดูแลและศึกษายุทธศาสตร์ตามแนวคิดนี้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น

         สิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 ผมจะหมดวาระจากตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลกแน่นอน แต่สิ่งที่เหลือทิ้งไว้ให้ประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลกต้องพิสูจน์กันเองว่า แนวคิด “ยุทธศาสตร์สี่แยกอินโดจีน” นั้น จะเลือนหายไปตามวาระตำแหน่งของประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลกหรือไม่ ผมเองคงจะตอบแทนท่านไม่ได้นอกจากตัวของท่านเอง

นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ

ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก

1 ตุลาคม 2540

จากบทนำหนังสือ “พิษณุโลก 2020 : วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาสี่แยกอินโดจีน”

         วิบูลย์ วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 10501เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2005 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อยากอ่านเรื่อง ม.นเรศวรกับยุทธศาสตร์การพัฒนาสี่แยกอินโดจีน...ครับ
ขออภัยที่ต้องให้อดใจรออีกนิด และขอขอบคุณครับที่ให้ความสนใจ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท