บทสัมภาษณ์ - ปิดทีวี - เปิดชีวิต


บทสัมภาษณ์ และเนื้อความของข่าวสาร จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ถึงเรื่องราวของคนไทย ที่ร่วมรณรงค์ความหมายในการเปลี่ยนแปลงโลก และเปลี่ยนแปลงตนเอง

ปิดทีวี-เปิดชีวิต

กรุงเทพธุรกิจ กายใจ 

 

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2550

รมณ รวยแสน

 

<p>

ถ้าคุณใช้เวลาดูทีวีมากเกินไป ก็จะไม่ได้ทำกิจกรรมอย่างอื่น ลืมความฝันที่อยากจะทำ รวมถึงไม่สนใจคนในครอบครัว เพราะวันๆ ได้แต่อยู่หน้าจอทีวี ลองมาปิดทีวี แล้วคุณจะพบว่า ชีวิตยังมีเรื่องอื่นที่อยากจะทำอีกมากมาย


หลายคนคงจะเคยเปิดโทรทัศน์ด้วยความเคยชิน โดยที่บางครั้งไม่ได้มีรายการใดที่สนใจจะดูเป็นพิเศษ กดปุ่มรีโมตไล่หาไปเรื่อยๆ เพื่อจะพบกับรายการที่พอจะดูได้

อาจเป็นความรู้สึกเหนื่อยๆ เบื่อๆ ไม่ได้อยากลุกขึ้นไปทำอะไร จึงกดปุ่มเปิดโทรทัศน์ แล้วปล่อยให้มันพาเราไป… ที่ไหนสักแห่งก็ได้

และโดยไม่ทันรู้ตัว บางครั้งเราก็ถูกตรึงอยู่ตรงหน้าจอโทรทัศน์นานกว่า 3 - 4 ชั่วโมง บางคนก็เลยเถิดไปมากถึง 7 - 8 ชั่วโมง

ไม่ได้กำลังจะพูดถึงค่าไฟหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่จะติดตามมาจากเนื้อหาหรือข้อความจากรายการต่างๆ กระตุ้นให้ออกไปจับจ่าย แต่กำลังจะพูดถึงเวลาและชีวิตที่หายไป

มีคนลองนับไว้ว่าหากเราดูโทรทัศน์วันละ 3 ชั่วโมง เมื่อเราอายุ 75 ปี เราได้ใช้เวลาในการดูโทรทัศน์ไป 9 ปี

1.

“ผมจะอยู่กับรีโมตตลอด กดเลื่อนไปเรื่อยๆ ไม่ได้ดูช่องไหนอย่างแน่นอน มันเครียดก็เลยอยากจะหาอะไรที่มันบันเทิง อยากดูอะไรที่ยิ้ม ที่หัวเราะ ช่วงเวลาที่ไม่มีรายการอะไรน่าสนใจผมก็ไม่ปิดนะ กลัวว่าถ้ามีอะไรแล้ว เราจะไม่ทันดู” โยธิน จันทวงษ์ เด็กหนุ่มวัย 22 ปี เล่าถึงพฤติกรรมการดูทีวีของตัวเองว่าเป็นอย่างนั้น

โยธิน หรือ โย เป็นเด็กหนุ่มที่กระตือรือร้นจากคลองด่าน สมุทรปราการ เขากำลังเรียนด้านไอที คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และรับงาน 0rganizer ไปด้วย เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ทั้งค่าที่พักและค่าใช้จ่ายเรื่องเรียน

เขาเล่าว่า เรียนด้วย ทำงานด้วย ก็ทำให้เครียดเหมือนกัน แต่เขาไม่ค่อยเครียดเรื่องเรียนเพราะเป็นคนจริงจังเวลาเรียน ก็จะตั้งใจฟังให้รู้เรื่องไปเลย ไม่เคยต้องมานั่งอ่านหนังสือก่อนสอบ แต่เรื่องงานเป็นเรื่องที่ทำให้เขาต้องคิดตลอดเวลา งาน 0rganizer มีเรื่องจุกจิกและคิดไม่จบไม่สิ้น รับงานแล้วต้องคิดรูปแบบงาน หาสถานที่ โปรโมทงาน ระหว่างจัดงานก็ต้องแก้ปัญหาสารพัด คนเข้างานมากหรือน้อยก็ต้องมีเรื่องให้จัดการ

มีเรื่องให้คิดให้เครียดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โยมีวิธีพักผ่อนง่ายๆ

“มันเครียดไม่มีอะไรบันเทิงเลย ก็นี่เลย ง่ายดี ถึงบ้านปุ๊บเปิดทีวีเลย ไม่มีอะไรก็เปิด ดูจนกว่าจะหลับ บางทีกลับมาเหนื่อยๆ แต่ไม่เคยได้เข้านอนก่อนเที่ยงคืนเลย อยู่กับทีวี” เด็กหนุ่ม เล่าถึงวิธีผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการงาน

เขา เล่าต่อว่า ถ้าวันไหนไม่ได้ทำงาน เขาจะกลับถึงบ้านตอนสี่โมงเย็น ถ้าทำงานจะถึงบ้านประมาณทุ่มหนึ่ง ก็จะเริ่มต้นดูทีวีไปจนตีสองตีสาม ดูโดยไม่รู้ว่าแต่ละวันมีรายการหรือละครเรื่องอะไรบ้าง แต่จะได้ดูทั้งหมด ด้วยการกดรีโมตไล่ไปแต่ละช่อง เพื่อจะหาว่ามีรายการใดพอจะดูได้บ้าง จบรายการหนึ่งก็จะหารายการใหม่ บางทีไม่มีก็จะกดวนไปเรื่อยๆ เจอโฆษณาก็ยังดี

จนกระทั่งเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โยมีโอกาสทำการทดลองสนุกๆ อย่างหนึ่ง โดยใช้ตัวเองเป็นตัวทดลอง เมื่อได้พบกับกลุ่มวีเชนจ์ We Change ที่กำลังรณรงค์เรื่องการปิดทีวีเพื่อเปิดชีวิต

วีเชนจ์เป็นเครือข่ายของนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง พวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในสิ่งเล็กๆ โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองก่อนนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

พวกเขาเคยรณรงค์หลายอย่าง อย่างบางคนก็ใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทาง เพื่อช่วยลดการใช้พลังงาน บางคนก็ไม่ใช้หลอดดูด เพื่อลดการใช้พลาสติก เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาพวกเขาเลือกรณรงค์ปิดทีวี สโลแกนคือ ปิดทีวีเพื่อเปิดชีวิต ได้แรงบันดาลใจจากกิจกรรมของ www.adbusters.org/ และ www.tvturnoff.org/

การปิดทีวีที่พวกเขานำเสนอจัดให้มีการสมัครเข้ามาร่วมปิดทีวี โดยไม่ได้คิดว่าทีวีเป็นปีศาจร้ายหรือเป็นตัวการก่อปัญหาแต่อย่างใด เพียงร่วมกันปิดทีวีระยะเวลา 7 วัน พร้อมเสนอกิจกรรมทางเลือกอื่นๆ ให้ผู้ร่วมรณรงค์ได้ทดลองทำ เพื่อให้ระหว่างนั้นได้ทบทวนว่าที่ผ่านมาได้ใช้เวลากับทีวีมากเกินไปหรือไม่ รวมถึงได้ทบทวนเนื้อหารายการทีวีที่เลือกดูแต่ละครั้งมีค่าความจำเป็นมากเพียงพอที่จะใช้เวลาตรงนั้นหรือไ ม่

“เนื้อหาที่นำเสนอผ่านทีวีมีมากมาย ที่ดีก็มีประโยชน์กับชีวิต แต่หลายเรื่องก็กระตุ้นบริโภคนิยม หล่อหลอมให้คนมองแต่ตัวเองเป็นเรื่องใหญ่ อย่างเช่น อยากสวยอยากหล่อเหมือนตัวละครหรือในหนังโฆษณา เมื่อปิดทีวีแล้วทบทวนว่า ที่ผ่านมามองเห็นอย่างนั้นหรือไม่ และเวลาที่ใช้ไปกับทีวีมากเกินไปหรือไม่” สมาชิกจากวีเชนจ์ให้เหตุผลการรณรงค์ปิดทีวี

และพวกเขาก็ตั้งข้อสังเกตว่า มีหลายครอบครัวที่ความสัมพันธ์จะเป็นลักษณะคนกับทีวีมากกว่าคนกับคน อยู่ในบ้านหลังเดียวกันมีเวลาหลายชั่วโมงที่จะใช้ไปกับทีวี แต่ก็ไม่เคยมีเวลาแลกเปลี่ยนทุกข์สุขของคนในบ้านเลยก็เป็นไปได้

เมื่อปิดทีวีหลายคนอาจได้พบกับสิ่งที่อยากจะทำ แต่ผัดผ่อนมานานนับปี อย่างบางคนอยากหัดวาดรูป หรืออยากอ่านหนังสือ แต่ไม่ได้ละสายตาไปจากทีวีเสียที ความหวังหรือความฝันที่ตั้งไว้ ก็ไกลตัวไปทุกที

ในต่างประเทศมีการรณรงค์จนถึงขั้นมีเครือข่ายร่วมกัน นัดกันออกไปทำกิจกรรมหลายอย่างร่วมกัน ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องการทำงานอาสาสมัคร หรือมีแบบน่ารักๆ อย่างการปิดทีวีตามเวลาที่นัดแนะกัน แล้วหาเวลาออกไปคุยกับเพื่อนบ้าน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน

2.

หลายครั้งที่คนเราเปิดทีวี ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำอย่างนั้นจริงๆ แต่เป็นไปโดยอัตโนมัติตามกำหนดเวลาเดิมๆ ในแง่จิตวิทยานั้นก็เหมือนการให้รางวัลแก่ตัวเอง หลังจากการเคร่งเครียดเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน จนบางคนอาจเข้าใจว่ามันเป็นความสุข

ในต่างประเทศเคยมีการทดลองเกี่ยวกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้คนระหว่างการดูทีวี เป็นการติดตามพฤติกรรมของผู้คนจริงๆ ไม่ใช่แบบที่ทำในห้องทดลอง บรรดาอาสาสมัครติดเครื่องรับสัญญาณอยู่กับตัว เมื่อได้รับสัญญาณจะจดว่า ตัวเองกำลังทำอะไร และรู้สึกอย่างไร

อาสาสมัครที่กำลังดูทีวี มักจะรู้สึกผ่อนคลายและเป็นฝ่ายรับ (Passive) แม้จะเป็นการทดลองในห้องทดลอง แต่ก็มีการติดเครื่องวัดคลื่นสมองให้กับอาสาสมัคร ระหว่างนั้นสมองจะผลิตคลื่นแอลฟา (คลื่นสมองที่เกิดขึ้นในภาวะที่เรารู้สึกสงบ) มากกว่าการอ่านหนังสือ แต่ที่ต่างคือ ความรู้สึกผ่อนคลายนั้นจะหมดลงเมื่อปิดทีวี มีอาสาสมัครบ่นว่า ทีวีดูดเอาพลังไปจนหมด หลังจากดูทีวีแล้วจะใช้สมาธิจดจ่อกับสิ่งใดจะเป็นเรื่องยาก แต่อาการแบบนี้จะไม่เกิดกับกิจกรรมอื่น อย่างเล่นกีฬาหรือทำงานอดิเรก

ในงานวิจัยพบว่า อาสาสมัครนั่งหรือนอนลง และกดปุ่มเปิดทีวีจะรู้สึกผ่อนคลายมาก เพราะความผ่อนคลายเกิดขึ้นเร็ว คนจึงกำหนดให้มันสัมพันธ์กับการพักผ่อนและเป็นอิสระจากความเครียด นั่นคือ รู้สึกดีตอนกดปุ่ม เพราะมันแปลว่าเราได้พักผ่อนแล้ว และเราก็รู้ด้วยว่า จะรู้สึกแย่อีกครั้งหลังจากปิดทีวี

การที่คนเราดูทีวีได้นานๆ ไม่รู้สึกเบื่อ ส่วนหนึ่งมาจากเทคนิคที่รายการโทรทัศน์ต่างๆ นำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น การตัดภาพ การตัดต่อ การซูม การแพน และซาวนด์เอฟเฟคท์ ทำให้คนสนใจจอโทรทัศน์อยู่เสมอ (งานวิจัยของ โรเบิร์ต คูบีย์ กับ มิฮาลี สิกส์เซนตมิฮาลยี คนแรกเป็นศาสตราจารย์และผู้อำนวยการศูนย์สื่อศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส ส่วนคนหลังเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยคลามองต์ แกรจูเอท บทความเหล่านี้อยู่ในนิตยสารไซแอนติฟิก อเมริกัน ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2002)

3.

การปิดทีวีที่วีเชนจ์รณรงค์เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีคนสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ 200 คน ในนั้นมี ‘โย’ อยู่ด้วย เขาเซ็นชื่อสมัครไปพร้อมกับได้สติกเกอร์ปิดทีวีไปติดที่บ้าน เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ และเขาคิดว่า ก็ลองๆ ดู

โย บอกว่า วันแรกที่ปิดทีวี ก็ไม่ได้ทุรนทุรายอะไร เพราะตอนที่ดู ก็ไม่ได้ดูอะไรเป็นพิเศษ วันแรกของการไม่ดูทีวี เขาใช้เวลาไปกับการทำโน่นทำนี่ไปจนกระทั่งเข้านอนตอนสองทุ่ม แรกๆ ก็นอนไม่หลับ เขาไม่ได้นึกถึงรายการทีวี แต่ไม่อาจหยุดคิดเรื่องงานเท่านั้นเอง เพราะปกติเขาจะดูโทรทัศน์เพื่อดึงความสนใจของตัวเองออกไปจากการคิดเรื่องงานเท่านั้นเอง แต่ในที่สุดเขาก็นอนหลับไป

“ได้พักผ่อนมากขึ้นครับ ปกติเปิดทีวีไว้ จะตั้งใจดูหรือไม่ ก็ไม่ได้นอน แต่พอปิดก็นอนหลับตา แม้หัวจะคิดเรื่องงาน แต่สักพักความอ่อนเพลียก็หลับไปเอง ได้พักผ่อนมาก แล้วก็หงุดหงิดน้อยลงด้วยครับ เพราะดูทีวีไปอินมากๆ ก็หงุดหงิด อารมณ์เสียง่ายๆ บ่อยๆ” โย เล่าถึงผลการทดลองของตัวเอง

ช่วงเวลาที่เคยทิ้งตัวเองไว้หน้าทีวี แล้วปล่อยให้มันพาจิตใจล่องลอยไปครั้งละหลายๆ ชั่วโมง ถ้าเปรียบเทียบกับการขับรถ พอปิดทีวีก็เหมือนได้เปลี่ยนคนขับ จะเดินทางไปไหน เราเป็นคนกำหนดเอง

โย เล่าว่า พอกลับถึงบ้าน เขาหาอะไรทำได้มากมาย อย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน กลับถึงบ้านออกกำลังกาย ยกดัมเบล ให้อาหารปลา บางวันก็ออกไปปั่นจักรยาน ปกติจะมีแก๊งจักรยานอยู่แล้ว แต่ไม่ได้นัดกันทุกวัน พอไม่ดูทีวีไม่ได้นัดกัน ก็ออกไปปั่นเอง

“ปกติกลับถึงห้อง ถ้าถืออะไรเข้ามา ก็จะกองๆ ไว้ก่อน เสื้อผ้าถอดแล้ว ก็โยนๆ จะรีบดูทีวี ห้องจะปล่อยให้รกๆ รอมีเวลาว่างๆ ค่อยทำความสะอาดอาทิตย์ละครั้งหรือสองอาทิตย์ครั้ง แต่ปัจจุบันการทำความสะอาดห้องบ่อยมากๆ และจัดห้องได้ทุกวัน”

ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ จากที่เคยหมกตัวอยู่ในห้อง แล้วขลุกอยู่กับทีวี เขาก็ออกไปเดินเล่นใกล้ๆ บ้าน ไปตลาดซื้อของมาทำกับข้าวกินเอง เมนูมีตั้งแต่ไม่ซับซ้อนมากอย่างทอดปลาทู ไปจนถึงระดับทำแกงเขียวหวานกินเอง

โยธิน บอกว่า ทุกวันนี้เขาก็ดูทีวี แต่เลือกดูข่าวและบางรายการที่สนใจ ดูจบแล้วปิดเลย ไม่ได้ปล่อยให้ตัวเองเตลิดเปิดเปิงไปอย่างแต่ก่อน เพราะเมื่อทดลองปิดทีวีดูแล้ว ก็พบว่าเมื่อเครียด ทีวีช่วยได้ไม่มาก ตอนนี้ส่วนใหญ่กลับถึงบ้าน ก็จะหาเรื่องทำโน่นนี่ตลอด ออกกำลังกายบ้าง จัดห้องบ้าง ไม่อยู่เฉย

“จริงๆ เรื่องพวกนี้ มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ถูกกลบด้วยการที่เราทิ้งตัวเองไว้หน้าจอโทรทัศน์ แม้มันจะทำให้เราหยุดเครียด หยุดคิดเรื่องงานได้จริง แต่เราก็พลอยหยุดคิดเรื่องอื่นๆ ในชีวิตที่จำเป็นไปด้วย”

4.

เมื่อหลายคนได้เวลาคืน จากการจัดสรรเวลาดูทีวี บางคนคุณภาพชีวิตดีขึ้น และบางคนคุณภาพจิตใจก็สูงขึ้นด้วย

เบน - เบญจวรรณ สว่างวงศ์ พนักงานโรงเรียนสอนภาษาโอเคแอลเอส เธอใช้เวลาไม่มากนักในการดูทีวีวันละ 3 - 4 ชั่วโมง หลังจากกลับจากที่ทำงานแล้ว จัดการภารกิจส่วนตัวเสร็จ ก็จะมานั่งหน้าทีวี กินข้าวไปพร้อมๆ กับคนในครอบครัว หลังจากนั้นดูละครต่ออีกนิด ก็ง่วงนอนเต็มที่แล้วสำหรับคนที่ต้องตื่นไปทำงานแต่เช้า

ช่วงเทศกาลปิดทีวี เบน เข้าร่วมโครงการ พร้อมๆ กับโย และคนอื่นๆ อีกกว่า 200 คน เธอกลับถึงบ้านก็กินข้าวพร้อมหน้ากับครอบครัวที่หน้าโทรทัศน์เหมือนเดิม แต่ไม่ได้ใส่ใจกับมันมากนัก อิ่มแล้วก็ลุกขึ้นไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำแทน

“ได้เคลียร์งานในวันนั้นของตัวเอง เสร็จแล้วก็อ่านหนังสือที่ซื้อมานานและไม่ได้อ่าน อย่างเรื่องเพชรพระอุมา ซื้อมาเกือบปีแล้ว น้องอ่านจบหมดแล้ว เราเริ่มอ่านตั้งแต่สัปดาห์นั้น ที่ไม่ได้อ่าน เพราะไม่มีเวลา อ่านแล้วก็ติดพันจนทุกวันนี้อ่านถึงเล่มที่เจ็ดแล้ว”

เบน บอกว่า จริงๆ เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ เจอเล่มไหนดีๆ จะซื้อเก็บไว้ แต่ที่ผ่านมาอ่านได้ทีละนิด เพราะไม่มีเวลาอ่านแบบยาวๆ ช่วงที่ปิดทีวีก็ทำให้ได้คิดว่า ที่ผ่านมาให้เวลากับตัวเองน้อยเกินไป แม้แต่กิจกรรมที่ชอบอย่างอ่านหนังสือ ก็ไม่ได้ให้เวลากับมันมากนัก

ช่วงเวลาที่ปิดทีวีก็ได้จัดห้อง มีของที่วางๆ ไว้ไม่ได้เก็บเข้าที่ ทั้งที่สุมอยู่บนโต๊ะและในลิ้นชัก ก็ได้เวลารื้อออกมาเคลียร์ว่า อันไหนจะเก็บและอันไหนต้องทิ้ง ซึ่งปกติจะไม่มีเวลาทำ เพราะกลับจากทำงานก็เหนื่อยแล้ว ดูทีวีจบก็ง่วงเต็มที่เสียแล้ว

นอกจากข้าวของรอบตัวที่มีเวลาได้เคลียร์แล้ว เรื่องราวในใจก็ได้ทบทวน

“ช่วงเวลา 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน มันดูเหมือนไม่มากนะ ถ้าดูทีวีก็แป๊บเดียวเท่านั้น แต่พอปิดก็เหมือนได้อยู่นิ่งๆ ได้ทบทวนตัวเอง ทั้งเรื่องงานเรื่องส่วนตัว ได้รู้ว่าตัวเองชอบอ่านหนังสือ ได้เห็นว่างานที่ทำขาดเหลืออะไร ได้สังเกตคนในบ้าน หรือแม้แต่สิ่งของในบ้าน ง่ายๆ เมื่อก่อนจะไม่รู้ว่าต้องซื้ออะไรในบ้านบ้างจะรู้ตัวอีกที ก็ตอนของหมดจะใช้แล้วไม่มีให้ใช้ถึงจะรู้” เบน ว่า พอได้ทบทวนเรื่องนี้ ก็ได้วางแผนได้จัดการ ทำให้ใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ฉุกละหุก ไม่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบ่อยๆ

เวลาที่ได้คืนมาที่อาจจะดูน้อยนัก แต่ก็มากพอที่จะคิดถึงใคร….

“มีเวลาให้ตัวเอง มีเวลาให้คนอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติ เพื่อนที่เราไม่ได้ติดต่อกันมานานแล้ว คือ มีเวลาคิดถึงเขา เราก็จะโทรหาเขา อย่าง พ่อแม่อยู่ต่างจังหวัด เมื่อก่อนจะเป็นแบบคิดว่าจะโทร แต่ก็ไม่ได้โทร หรือบางทีคิดได้ มันก็ดึกแล้ว”

เบน เล่าว่า ทุกวันนี้ก็เลือกดูเฉพาะข่าวและละครบางเรื่อง ส่วนเกมโชว์เลิกดูแล้ว จัดสรรเวลาให้ตัวเองได้ทบทวนเรื่องราวแต่ละวัน ให้เวลากับกิจกรรมที่ตัวเองชอบ และตั้งใจจะหากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเพิ่มขึ้น

สาวน้อยคนเดิม ขยายความต่อว่า มีกิจกรรมต่อเนื่องกับกลุ่มที่รณรงค์ปิดทีวี หลังจากนั้นเขาจัดพาไปเยี่ยมกลุ่มสมัชชาคนจน แม้จะเคยเห็นแต่ไม่เคยทราบปัญหาของเขา จนกระทั่งได้เข้าไปเยี่ยม ได้คุยกับกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยจากการทำงานโรงงานทอผ้า มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ปอด และภูมิแพ้ จากฝุ่นผงในโรงงาน แต่ไม่ได้รับการดูแลและบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบจากนายจ้าง

“เป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่เคยมีโอกาสได้รู้ปัญหาของคนอื่นๆ ในสังคม พอรู้แล้วรู้สึกเลยว่า โลกของเราแคบมากเลย ถ้าถามว่าเจ็บปวดไหมที่เพิ่งรู้ว่ามีแบบนี้ด้วย ก็เจ็บนะ แต่ละวันก็ใช้ชีวิตแบบคิดเฉพาะเรื่องตัวเอง” เบน กล่าวทิ้งท้าย

น่าสนใจไม่น้อย จะไม่ลองให้เวลากับตัวคุณเองดูบ้างหรือ

……………………………………….

หมายเหตุ : ข้อมูลประกอบการเขียน : บทความพิเศษ ‘ทำไมคนเราจึงติดทีวีเหมือนผีสิง’ จากนิตยสารสารคดี ฉบับมีนาคม 2545


เปิดชีวิต

ลองหากิจกรรมทำระหว่างปิดทีวี เพื่อทบทวนตัวเอง www.wechange555.com เสนอไว้ดังนี้

ไปร้านหนังสือหรือห้องสมุดใกล้ๆ ชมนิทรรศการภาพวาดหรือภาพถ่าย ฟังเสวนา ดูหนัง ไปสวนสัตว์ เริ่มต้นทำสวนเล็กๆ หลังบ้าน เรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัว ปีนต้นไม้ มองท้องฟ้าใสๆ มองดวงดาวยามค่ำคืน เขียนจดหมายหรือโปสการ์ดถึงคนอื่นและตัวเอง เขียนบันทึก นึกถึงความฝันที่ยังไม่ลงมือทำ ประดิษฐ์ของใช้เอง ทำสมุดทำมือ เดินช้าๆ ฝึกสติ เดินเร็วๆ เผาผลาญไขมัน วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ทำโยคะ สอนการบ้านเด็กๆ ฟังเพลง จัดอัลบั้มรูป ลงเรียนคอร์สสั้นๆ ที่สนใจ ทำกับข้าวกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ ชงกาแฟ แล้วตั้งวงสนทนายามบ่าย ฯลฯ

http://www.bangkokbiznews.com/bodyheart/</p>

หมายเลขบันทึก: 104644เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2007 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท