ชุมชนพหุทางวัฒนธรรมย่านธนบุรี : ชุมชนพุทธศาสนา


ต่างนิกายและปฏิบัติกิจของพุทธศาสนาร่วมกันได้

ตอนที่ 1 ชุมชนคริสต์ศาสนา

 

 วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

          บริเวณใกล้เคียงกับชุมชนคริสต์ศาสนา  เป็น  ชุมชนพุทธศาสนา  ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  (รัชกาลที่  3)  ไทยมีการติดต่อทางการทูตและค้าขายกับชาวจีนมาขึ้น  อีกทั้งยังมีชาวจีนเข้ามารับราชการในไทยจำนวนมาก  สยามและจีนต่างก็นับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน  ต่างกันเพียงลัทธิหรือนิกายเท่านั้น

          ต่อมา  พ.ศ. 2368  หนึ่งในข้าราชการไทย-จีน  ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา  คือ  เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต)  ต้นสกุลกัลยาณมิตร  ว่าที่สมุหนายก   ได้มอบที่ดิน  ซึ่งเป็นที่พักอาศัยบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ เพื่อสร้างวัดถวายเป็นพระอารามหลวง   และอนุญาตให้สร้างพระอุโบสถคร่อมบริเวณบ้านของท่านด้วย  ทำให้บริเวณวัดกัลยาณมิตรกลายเป็นแหล่งชุมชนแห่งใหญ่ที่มีทั้งพุทธศานิกชนชาวไทยซึ่งนับถือลัทธิเถรวาท  (หีนยาน)  กับพุทธศาสนิกชนเชื้อสายไทย-จีน  ซึ่งนับถือลัทธิมหายาน  ต่างมาประกอบกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันเสมอ  และเนื่องจาก เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต)  มีเชื่อสายจีน  ลักษณะสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมจึงมีรูปแบบของพุทธนิหายมหายานผสมผสานอยู่ด้วย

  ศิลปะจีนผสมผสานอย่างลงตัว

        โดยรัชกาลที่ 3  พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร”  (วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร)  และทรงสร้างพระวิหารหลวงและพระประธานพระราชทาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต ด้วยมีพระประสงค์จะให้เหมือนกรุงเก่า คือ  มีพระโต อยู่นอกกำแพงเมือง อย่างเช่น วัดพนัญเชิง

         หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง โดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน  และมีชื่อเรียกแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 วา 3 ศอกคืบ สูง 7 วา 2  ศอกคืบ 10  นิ้ว

          สำหรับพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ (ป่าเลไลย์) ซึ่งรัชกาลที่ 3ทรงสร้างพระราชทานเช่นกัน  และเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์

         ส่วนภายในพระภายในอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงพุทธประวัติ และแสดงชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 3  และยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 4

ศิลปะแบบไทยที่สวยงาม

         หน้าวิหารหลวงเป็นหอระฆังที่เพิ่งสร้างใหม่ เก็บระฆังยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

          พุทธศาสนิกชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบวัดกัลยาณมิตร และชุมชนใกล้เคียง  แม้จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันบ้างระหว่าง  2  นิกาย  แต่สามารถทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันได้เป็นอย่างดีตลอดมา

          ตอนหน้าจะกล่าวถึง “ชุมชนมุสลิม”  โปรดติดตาม

หญิง  สคส.

หมายเลขบันทึก: 104348เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2007 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 04:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท