สร้างงานจากจินตนาการและแรงบันดาลใจ


จินตนาการและแรงบันดาลใจ
            ไอสไตน์กล่าวว่า “Imagination is better than knowledge” อันแปลได้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ไม่ได้หมายความว่าความรู้นั้นไม่สำคัญ เดี๋ยวจะพาลว่าการจัดการความรู้ไม่สำคัญ แต่อันชี้ให้เห็นว่าการมีความรู้อย่างเดียวขาดจินตนาการก็ไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ดังนั้นถ้ามีความรู้บวกจินตนาการก็จะนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่อยู่เรื่อยๆ มนุษย์เราพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีขึ้นมาได้เรื่อยๆ เพราะเรามีจินตนาการนั่นเอง และเราก็สามารถสร้างงานจากแรงบันดาลใจของเราขึ้นมา            เมื่อวันก่อน (14 มิถุนายน 2550) ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดน่านร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ได้จัดประชุมนำเสนอผลงานและนวัตกรรมการเรียนรู้ในระดับสถานีอนามัยและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เพื่อคัดเลือกไปเป็นตัวแทนประกวดผลงานในระดับเขตต่อไป งานนี้ผมเองได้รับเกียรติให้ไปเป็นกรรมการวิพากษ์ผลงานกับเขาด้วย เรียกว่าเป็นการเสนอมุมมองทางวิชาการและการพัฒนามากกว่า

            ผมเองรู้สึกชื่นชมพี่น้องที่อยู่สถานีอนามัยและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอที่มีความเพียรพยายามสร้างสรรค์งานของตนเองออกมา แม้ว่าบางชิ้นจะไม่ถึงกับเป็นผลงานทางวิชาการหรือนวัตกรรมเลย แต่เห็นความพยายามในการพัฒนางานของตนเอง ที่มุ่งไปที่ปรับบริการและพัฒนางานสร้างสุขของชุมชน แต่มีงานอยู่สองสามชิ้นที่ผมเห็นว่าเป็นงานที่สร้างขึ้นจากจินตนาการและแรงบันดาลใจของคนทำงาน ผมว่าตรงนี้สำคัญเพราะมันเกิดจากแรงขับภายในตนเองของผู้ปฏิบัติการที่เห็นปัญหาจากการทำงานและคิดแก้ไขปัญหาจากจินตนาการของตนเอง

            งานชื้นแรกที่ผมขอเอ่ยครับ การ์ดอวยพรวันเกิด : กลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ ของสถานีอนามัยน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา ครับปัญหาที่เรามักพบคือ ชาวบ้านไม่สนใจที่จะมาตรวจคัดกรองหาภาวะความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน ความดัน มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น ประชาสัมพันธ์ก็แล้ว หนังสือแจ้งก็แล้ว อสม.ไปบอกก็แล้ว ก็มาตรวจคัดกรองกันน้อย เจ้าหน้าที่ที่นี่เห็นบริษัทห้างร้านต่างๆ มักจะส่งการ์ดมาอวยพรวันเกิดให้กับลูกค้า พร้อมเสนอสินค้าและส่วนลดต่างๆ จึงจินตนาการและนำมาประยุกต์ใช้กับงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยการจัดทำการ์ดอวยพรวันเกิด พร้อมโปรชัวร์โปรแกรมที่เสนอให้ท่านในการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อคัดกรองภาวะเสี่ยงต่างๆ ในโอกาสครบรอบวันเกิด ผลปรากฏว่าได้ผลครับ มีคนมารับริการตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้น จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เรียกว่านำหลักการตลาดมาใช้ ครับอยู่ที่การจินตนาการและแรงบันดาลใจครับ

            อีกชิ้นหนึ่ง คู่หูบั๊ดดี้สองขั้ว : แก้ไขปัญหาโรคความดันโลหิตสูง ของสถานีอนามัยสบสาย อำเภอท่าวังผา ปัญหางานควบคุมโรคความดันโลหิตสูงที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมักเจอประจำคือ การที่ผู้ป่วยไม่มาตามนัด กินยาไม่สม่ำเสมอ ไม่ควบคุมพฤติกรรมเสี่ยง ทำให้เกิดปัญหาควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ได้ มีโรคแทรกซ้อนตามมา เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่นี่สงสัยว่าทำไมบางคนควบคุมตัวเองได้ แต่บางคนควบคุมตนเองไม่ได้ จึงจับคู่บัดดี๊ให้ระหว่างคนที่ควบคุมความดันและดูแลพฤติกรรมเสี่ยงของตนเองได้กับคนที่ควบคุมความดันและดูแลพฤติกรรมเสี่ยงของตนเองไม่ได้เป็นบัดดี๊คู่ที่หนึ่ง และญาติกับผู้ปวยเป็นบั๊ดดี๊คู่ที่สอง เพื่อให้คอยช่วยเหลือ ดูแลกันและกัน เตือนกันไม่ให้ลืมกิน ไม่ให้ขาดนัด ควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ผลปรากฏว่าได้ผล คนที่ควบคุมความดันและดูแลพฤติกรรมเสี่ยงของตนเองไม่ได้ก็มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีและควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น เห็นไหมครับงานนี้อาศัยความรู้บวกจินตนาการทำให้แก้ไขปัญหาโรคความดันโลหิตสูงได้

            มีอีกหลายชิ้นงานที่ผมไม่ได้เอ่ยถึง แต่เป็นงานที่สร้างความรู้จากจินตนาการและแรงบันดาลใจ ลองคิดดูสิว่าถ้าเราสร้างงานจากแรงขับภายในและจินตนาการที่เราสร้างขึ้นมา มันจะมีความสุขขนาดไหน 
คำสำคัญ (Tags): #สุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 104296เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2007 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท