พระวิทยากรครอบครัวเข้มแข็ง


พระวิทยากร

            ในยุคของระบอบทุนนิยมที่มุ่งแก่งแย่งแข่งขันกันแบบไม่สนใจใคร บริโภคนิยมสุดโต่งที่ไม่เหลียวแลภูมิปัญญาวัฒนธรรมและทรัพยากรที่มีอยู่ ศีลธรรมเลื่อมลง ผู้คนมุ่งหวังที่จะร่ำรวยโดยมิได้คำนึงถึงที่มาของเงินว่าจะมาจากที่ไหน โกงใครมา หรือ เหยียบบ่าใคร เพราะว่า คิดแต่จะรวยๆ จึงมุ่งหาทางทุกรูปแบบ หาทางตรงไม่ได้ก็มุ่งหาทางลัด เล่นหวย เล่นการพนัน แม้กระทั่งพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สังคมกำลังไร้ที่พึ่งพิง สับสน 

            ที่พูดมามิใช่จะไปต่อว่าความเชื่อ ศรัทธาของใครๆ ครับ แต่อยากเป็นเสียงหนึ่งที่อยากกระตุกให้เราคนไทยมานับถือพุทธที่แก่นแท้ของความเป็นพุทธ นั่นคือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบครับ พูดถึงเรื่องศีลธรรมที่เสื่อมทรามลงนั่นเป็นรากเหง้าหลักของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเรา รวมทั้งปัญหาครอบครัวด้วยครับ ด้วยเหตุนี้โครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน จึงได้ร่วมกันจัดอบรมถวายความรู้แก่พระวิทยากรเรื่องครอบครัวเข้มแข็งขึ้น เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมาครับ จัดกันที่วัดอรัญญาวาส อันเป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานโครงการฯ และเป็นพื้นที่การเรียนรู้หลักของฮักเมืองน่าน เราตั้งธงเอาไว้ว่าอยากให้พระวิทยากรในพื้นที่โครงการฯ และพระวิทยากรที่สนใจได้มีความรู้เรื่องครอบครัว และสามารถถ่ายทอดความรู้เรื่องครอบครัวไปให้กับชุมชน ญาติโยม และเยาวชน ผ่านกิจของสงฆ์ในวาระต่างๆ โดยมีเป้าหมายพระวิทยากรจำนวน 60 รูป ปรากฏว่าวันอบรมมีพระวิทยากรสนใจเกินคาดกว่า 70 รูป ทั้งจากพื้นที่โครงการฯ และพระนิสิตจากมหาจุฬาลงกรณ์  

   

        อยากเล่าสถานที่จัดอบรมเสียหน่อย จัดกันที่ศาลาการเปรียญวัดอรัญญาวาส ด้านข้างมีโลงศพเป็นฉาก ที่คอยย้ำเตือนให้เรารู้จักปลง สูงสุดสู่สามัญ ไขว่คว้ามากมายสุดท้ายได้เพียงแค่เชิงตะกอน งานนี้คุณเพียรพิศ ยะวิญชาญ และสุเรียน  วงศ์เป็ง เจ้าเก่าจัดวิทยุชุมชน ล้านนาตะวันออก ถ่ายทอดผ่านคลื่น 89.0 Mhz ให้ชุมชนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน     

 

       การอบรมพระวิทยากรครั้งนี้สร้างความหนักใจแก่ทีมวิทยากรเป็นอันมาก โดยเฉพาะทีมสันทนาการเพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ผมเองเคยจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับพระมาหลายครั้ง ก็คิดว่าการจัดการเรียนรู้กับพระนั้นไม่ง่าย คำโบราณท่านว่า สอนพระ สอนครู ยาก นี่เจอ พระครู เข้าไปอีกไม่ง่ายแน่ แต่เนื่องจากการเรียนรู้ของเราเน้นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ผู้เรียนรู้เป็นศูนย์กลาง จึงไม่กังวลมากนัก สำคัญคือการสร้างแรงจูงใจให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่เราจะให้เรียนรู้ ถ้าดึงตรงนี้ได้ ก็ไม่ยาก เผอิญวันก่อนไปร้านหนังสือเห็นวีซีดีธรรมะสำหรับครอบครัว ก็เลยปิ๊งไอเดีย ใช้พระสอนพระเองนี่แหละกลยุทธ์สำคัญ            หลักสูตรเนื้อหาการอบรมจะเน้น 2 เรื่องหลัก คือ การเห็นความสำคัญของการสร้างครอบครัวเข้มแข็ง และเทคนิคการนำเรื่องครอบครัวเข้มแข็งไปเผยแผ่ต่อ กระบวนการเริ่มจากคุณสำรวย  ผัดผล รองประธานโครงการฯ ได้เล่าที่ไปที่มาของโครงการครอบครัวเข้มแข็ง และผลการทำงาน 3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งความมุ่งหวังที่อยากให้พระวิทยากรเข้ามาช่วยหนุนเสริมงานด้านครอบครัว หลังจากนั้นอาจารย์สมเดช  อภิชยกุล อาจารย์ใหญ่โรงเรียนนันทบุรีวิทยา ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรม ท่านได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้าคิดผิวเผินแล้วพระอาจจะคิดว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องครอบครัว แต่ถ้าคิดให้ดีพระก็มีครอบครัวเดิม และครอบครัวใหม่คือ พระในวัดเดียวกันก็ถือว่าเป็นครอบครัวหนึ่ง ที่ต้องช่วยกันสร้างเสริมให้มีความเข้มแข็ง เมื่อตนเองเข้มแข็งแล้วก็สามารถไปช่วยเผื่อแผ่ให้กับญาติโยม ศรัทธาวัดให้มีความเข้มแข็ง แล้วญาติโยม ศรัทธาวัดก็จะกลับมาทำนุบำรุงวัด ศาสนา ให้ดียิ่งขึ้น เมื่อคนมีความสุข ครอบครัวมีความสุข ก็คือมีธรรมะในการดำรงชีวิต            หลังจากพิธีการเปิดเสร็จ คุณสุภาพ  สิริบรรสพ คณะทำงาน คค.ขข. ก็ได้เริ่มกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเริ่มจากการกำหนดกติกาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การแนะนำวิทยากร และให้พระวิทยากรเขียนความคาดหวังในการเข้ามาอบรมครั้งนี้ หลังจากนั้นเราก็พักถวายน้ำปานะแด่พระวิทยากร ช่วงพักทีมวิทยากรหารือกับพระสงฆ์บางรูปว่าจะมีกิจกรรมสันทนาการได้บ้างหรือไม่ พระท่านบอกว่าได้ ถ้าไม่ร้องรำทำเพลง เราก็เลยปรึกษากันในทีมวิทยากรว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้การเรียนรู้ไม่เครียดเกินไป ทีมสันทนาการก็เตรียมกิจกรรมการละเล่นไว้ พอถึงเวลาจริงพระผู้ใหญ่ท่านบอกว่าทำไม่ได้ งานนี้ทีมสันทนาการเลยแห้ว (แต่จริงๆ จากการพูดคุยกับพระวิทยากรชมรมค่ายพุทธบุตร บอกว่าปกติการอบรมค่ายพุทธบุตรก็จะมีกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเหมือนโครงการครอบครัวเข้มแข็งเลย) แต่ไม่เป็นไร การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมไม่ต้องใช้สันทนาการก็ได้       

     เราเริ่มการเรียนรู้เรื่องครอบครัว โดยการเปิดวีซีดีของพระมหาสมปอง ตาลปุตโต ชุดที่ 6 เรื่อง ธรรมะสำหรับครอบครัว ความยาวราว 50 นาที ก่อนเปิดเราตั้งโจทย์ชวนคิดว่า เราได้เรียนรู้อะไร และเห็นเทคนิควิธีการบรรยายธรรมะอย่างไรบ้าง ในช่วงที่เปิดวีซีดีนั้นเราสังเกตเห็นพระเณรหลายรูป และคณะทำงานฯ บางคนน้ำตาซึม เมื่อพระมหาสมปองได้พูดถึงเรื่องบุญคุณของพ่อแม่ (พระก็มีบ่อน้ำตาที่ตื้นเหมือนกัน) หลังจากดูวีซีดีเสร็จเราก็ให้พระวิทยากรได้สรุปบทเรียนและเทคนิคการถ่ายทอดธรรมะของพระมหาสมปองแล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน งานนี้เราเห็นแววของพระวิทยากรหลายท่านซึ่งมีเทคนิคการพูดที่ดีอยู่แล้ว ได้โอกาสเล่าสู่กันฟัง ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นด้วยการด้นกลอน การใช้คำติดตลก และเทคนิคการพูดโน้มน้าวใจ แต่สิ่งที่เราเห็นตรงกันคือการจะถ่ายทอดธรรมะ ต้องเริ่มจากการค้นคว้าหาความรู้ให้ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ การเตรียมความพร้อมของทีม การเตรียมสื่ออุปกรณ์ให้พร้อม นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย และที่สำคัญปรับเทคนิคการถ่ายทอดความรู้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ หลังจากนั้นก็ถึงเวลาถวายภัตราหารเพลแด่พระวิทยากร สิ่งที่เรารู้สึกละอายใจเป็นอันมากคือหลังฉันอาหารแล้ว พระวิทยากรทุกรูปจะนำถาดอาหาร จาน และแก้วน้ำไปล้างเองจนสะอาดหมดจด แล้วนำมาเก็บไว้ที่เดิม เราทีมวิทยากรมองหน้ากันแล้วรู้สึกละอายตัวเองยิ่งนัก กินแล้วก็ปล่อยเป็นหน้าที่ของแม่ครัวเก็บ สงสัยจะต้องนำวิธีปฏิบัติของพระวิทยากรไปปฏิบัติบ้างภาคบ่ายเราเริ่มด้วยการนำเสนอให้เห็นสถานการณ์ของครอบครัวไทยและครอบครัวน่าน ผมเองก็อัพเดทข้อมูลต่างๆ ให้ทันสมัย ช่วงนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ครอบครัวคนน่าน ผมพยายามนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและเป็นเรื่องที่เป็นข่าวท้องถิ่น เรียกว่าพระวิทยากรเห็นข้อมูลแล้วก็อึ้งกิมมี่เหมือนกัน ว่าในความสงบงามก็มีความเสื่อมทรามปนอยู่ เพราะปัญหาเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกัน และข้อมูลที่มีก็เป็นเพียงแค่ภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ท้ายของการนำเสนอก็ย้ำว่าปัญหานี้เป็นเพียงส่วนน้อยแต่ก็พร้อมจะขยายตัวได้ถ้าเราไม่ช่วยกัน และรากเหง้าสำคัญของปัญหาคือ ความไม่มีศีลธรรม นั่นเอง ตบท้ายแล้วพระท่านจะมีส่วนช่วยกันสร้างศีลธรรมให้กับครอบครัวและชุมชนอย่างไร

หลังทราบสถานการณ์ครอบครัวแล้ว คุณพยอม  วุฒิสวัสดิ์ ก็ได้จัดแบ่งกลุ่มพระวิทยากรออกเป็น 6 กลุ่ม ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่า พระสงฆ์จะมีส่วนช่วยกันสร้างครอบครัวให้เข้มแข็งได้อย่างไร หลังจากนั้นก็ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอผลการประชุมกลุ่ม สรุปหลักๆ คือ พระวิทยากรจะนำความรู้เรื่องครอบครัวไปสอดแทรกในการเผยแผ่ศาสนา และกิจของสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์ไปเทศนา บรรยาย อบรม จัดค่าย หรือการประชุมอบรมสัมมนาต่างๆ ทุกรูปแบบ และขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกันสร้างครอบครัวเข้มแข็ง โดยนัดหมายกันว่าทุกๆ เดือนจะเอาประสบการณ์ ความรู้ ที่ได้ไปเผยแผ่มาแลกเปลี่ยนกัน และเติมเทคนิควิชาการกันไปในตัวด้วยหลังจากนั้นเราก็จัดการประเมินผลแบบมีส่วนร่วม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเห็นว่าได้รับความรู้ที่มีประโยชน์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ท้ายที่สุดท่านพระครูพิทักษ์นันทคุณ ที่ปรึกษามลนิธิฮักเมืองน่าน ก็ได้ให้ความเมตตามาเป็นประธานปิดการอบรม ท่านได้กล่าวว่า พระวิทยากรจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ และมีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน พัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็ง ถ้าได้ความรู้แล้วไม่ไปใช้ก็ไม่เกิดผล ใช้แล้วไม่มาเล่าสู่กันฟัง ไม่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันก็ไม่ได้พัฒนาต่อยอด ดังนั้นจึงขอให้พระวิทยากรอย่าทิ้งการเรียนรู้และการปฏิบัติตนเองอยู่เสมอเป็นอันว่ากระบวนการเรียนรู้เพื่อถวายความรู้แด่พระวิทยากรก็ผ่านไปด้วยดี สิ่งที่เราได้เรียนรู้เกินคาด คือ ความมีวินัยของพระวิทยากร, ความตั้งใจจริงของพระที่จะเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง อันนี้เป็นสิ่งที่เราได้เกินคาดหมายจริงๆ

คำสำคัญ (Tags): #พระวิทยากร
หมายเลขบันทึก: 104261เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2007 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท