สองประเด็นสุดท้ายในการพัฒนาสู่องค์การเรียนรู้


การจะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ได้นั้นต้องอาศัยการวางแผนเป็นขั้นตอน และเป็นเรื่องท้าทาย อาศัยความคิดและการมีความมุ่งมั่น มีสัญญาที่จะปฏิรูประบบ 5 ระบบ คือระบบการเรียนรู้ ระบบขององค์การ ระบบของบุคคลและผู้เกี่ยวข้อง ระบบความรู้และระบบเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่ของง่ายที่จะทำได้ในข้ามวัน แต่จะต้องพัฒนาไปเป็นขบวนทั้งขบวน โดยใช้กระบวนการที่ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง แต่เป็นการผสมผสานความคิดร่วมกันของทุกคนในองค์การ

มาถึงตอนสุดท้ายบทความของ ศ.ดร.พจน์ สะเพียรชัย แล้วนะครับ วันนี้จะนำเสนออีกสองประเด็น ที่น่าสนใจปิดท้ายกัน

คำถามที่ 11.   ภาวะผู้นำขององค์การแห่งการเรียนรู้เป็นอย่างไร 

เมื่อเปรียบเทียบภาวะผู้นำขององค์การแบบดั้งเดิมกับองค์การแห่งการเรียนรู้ก็จะเห็น  ข้อแตกต่างกัน  ดังนี้


ภาวะผู้นำแบบเดิม
 
มุ่งผลสำเร็จ
  มุ่งงานเป็นที่ตั้ง

ภาวะผู้นำในองค์การแห่งการเรียนรู้
  เป็นผู้คิด ผู้สร้างและผู้ออกแบบ
  เป็นผู้อำนวยงาน
  เป็นผู้ให้บริการ
  เป็นผู้สอน
  เป็นผู้ฝึกฝนอบรม
  เป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษา

เมื่อมีภาวะผู้นำแบบใหม่แล้ว ผลสำเร็จและผลงานก็จะตามมา

คำถามที่ 12.   ขั้นตอนของการจะก้าวไปสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้มีอะไรบ้าง

การจะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ได้นั้นต้องอาศัยการวางแผนเป็นขั้นตอน และเป็นเรื่องท้าทาย อาศัยความคิดและการมีความมุ่งมั่น มีสัญญาที่จะปฏิรูประบบ 5 ระบบ คือระบบการเรียนรู้ ระบบขององค์การ ระบบของบุคคลและผู้เกี่ยวข้อง ระบบความรู้และระบบเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่ของง่ายที่จะทำได้ในข้ามวัน แต่จะต้องพัฒนาไปเป็นขบวนทั้งขบวน โดยใช้กระบวนการที่ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง แต่เป็นการผสมผสานความคิดร่วมกันของทุกคนในองค์การ
 ศาสตราจารย์ไมเคิล  มาควาด ได้เสนอขั้นตอนไว้ 16 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1.  ต้องทำตามพันธสัญญาที่จะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ขั้นแรกคือ ผู้นำ ผู้บริหาร
ระดับสูงทำเป็นพันธสัญญาโดยฉันทามติของคณะผู้บริหารหรือผู้นำในองค์การนั้น
 2.  เชื่อมโยงการเรียนรู้ไปสู่การดำเนินงานขององค์การ โดยสร้างทีมงานการเรียนรู้ที่จะเป็นทีมที่คิด ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา กำหนดกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ในการทำงาน
 3.  ประเมินความสามารถและสถานภาพปัจจุบันขององค์การ เพื่อทราบ
ความเชี่ยวชาญหลักที่มีอยู่แล้วในองค์การ ตลอดจนประเมินจุดอ่อน ปัญหาอุปสรรคและทรัพยากร
 4.  สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในวิสัยทัศน์ขององค์การแห่งการเรียนรู้ ให้เกิด
ความเชื่อมั่น ศรัทธา และร่วมมือร่วมใจกันดำเนินงานตามวิสัยทัศน์นั้น
5.  สร้างความยอมรับและเห็นความสำคัญของวิธีคิดและการกระทำที่เป็นระบบ
6.  ผู้บริหารและผู้นำจะต้องแสดงบทบาทของผู้นำที่มีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้
7.  ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์การให้เป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงงานและพัฒนางาน
8.  สร้างยุทธศาสตร์สำหรับการเรียนรู้ขององค์การทั้งหมด เช่น ส่งเสริมการทดลองของใหม่ๆ ยอมรับและสรรเสริญผู้เรียนรู้ มีรางวัลสำหรับการเรียนรู้ ขยายกระจายความรู้ใหม่ๆ ให้เพื่อนร่วมงาน นำความรู้ใหม่ไปใช้ในการปฏิบัติงาน เป็นต้น
9.  ตัด ลด ระดับขั้นตอนการตัดสินใจการบริหารงานให้สั้นลง เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และมีจิตใจที่จะเสี่ยงทำงานใหม่ๆ มีการกระจายอำนาจ ทำงานตามแนวราบมากกว่าแนวตั้ง ขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่จะเป็นปัญหาต่อประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงาน
10. เสริมกำลังอำนาจของผู้ร่วมงานในทุกวิถีทางที่จะทำได้
11. กระจายการเรียนรู้ไปสู่ทุกส่วนขององค์การ
12. ติดตามและเสาะหาองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสื่อสารไปยังสมาชิกขององค์การทุกคน
13. จัดหาและใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด เพื่อใช้ให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีและรวดเร็ว
14. กระตุ้น สร้างความหวังและส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับบุคคล กลุ่มคนและระดับองค์การอย่างต่อเนื่อง ดังตัวอย่างของบริษัท Rover เขียนไว้เป็นหน้าที่และงานของทุกคนในองค์การ 2 ข้อ คือ
      การทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดี
      เสาะแสวงหาความรู้เพื่อจะทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม
15. พยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับองค์การแห่งการเรียนรู้ตลอดไป
16. นำความรู้มาปรับเปลี่ยนและพัฒนาคนพัฒนางานทุกระบบขององค์การอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

บริษัทหลายบริษัทที่มุ่งกำไรและสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้าเป็นสำคัญ เวลา ทรัพยากรและความพยายาม มุ่งทุ่มเทเพื่อการนั้นจนหมด ในที่สุดความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ก็คือ บริษัทนั้นหยุดการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาแล้วก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด
“ศาสตร์” หรือ “องค์ความรู้” หรือ “ทฤษฎี” หรือ “องค์ความคิด” หรือแม้กระทั่ง “ข้อเสนอแนะ” เกี่ยวกับการบริหารองค์การนั้นมีมากมายเหลือคณานับอยู่ในตำรา หนังสือ บทความ บทพูด เทปเสียง วิดีโอ  ซีดีรอม หลักสูตรฝึกอบรมและอื่นๆ อีกมากมาย เหมือนกันบ้างต่างกันบ้าง จึงอยากจะกล่าวว่า กระบวนการบริหาร ไม่ใช่ “สูตรสำเร็จ” แต่เป็นวิธีอธิบายปรากฏการณ์ทางการบริหารในแต่ละสถานการณ์ แต่ละบริบท แต่ละวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องพอเหมาะ พอดีกับเหตุการณ์นั้นๆ เป็นทั้งศิลป์และศาสตร์ที่ปราศจากความคมชัดและปฏิบัติได้เต็มร้อยดังเช่นในศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นการเลือกทฤษฎีใด แนวคิดใดมาประยุกต์ใช้ในบ้านเราคงต้องมีความระมัดระวังในสาระทางวัฒนธรรมและวิธีคิดให้มากๆ เพื่อว่าเส้นทางไปสู่การพัฒนาเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้จะได้ไม่สะดุดหยุดลงอย่างน่าเสียดาย แต่สามารถดำเนินไปและพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ “คน” ขององค์การหรือของประเทศได้ฉลาดขึ้น ทำงานให้องค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้องค์การนั้นอยู่ได้อย่างยืนยงทุกยุคทุกสมัยไม่มีวันเสื่อมสูญ

บรรณานุกรม

Marquardt, Michael J. Building The Learning Organization McGraw-Hill 1996.
หริส  สูตะบุตร   The Learning Organization แปล ย่อ และตัดตอนมาจาก  “The Fifth  Discipline Fieldbook” โดย Peter Senge “School That Learn” โดย Peter Senge
 “The Dance of Change”  โดย Peter Senge. มกราคม 2545
พจน์  สะเพียรชัย   ผู้บริหารสถานศึกษากับการวิจัยเพื่อสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2546
ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  การบริหารสังคม : ศาสตร์แห่งศตวรรษเพื่อสังคมไทยและสังคมโลก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  มิถุนายน 2546

 

หมายเลขบันทึก: 104032เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2007 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท