แผนสืบทอดตำแหน่ง


การที่ผู้บริหารอยู่นานเกินไป อาจชาชินกับปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วไม่แก้ปัญหาเพราะคิดว่าไม่เป็นปัญหา แล้วทำให้องค์กรอยู่กับที่ได้และอาจลืมตัวคิดว่าหน่วยงานเป็นของตนเองไปเลย

                      สี่ห้าปีมาแล้วที่ผมได้คิดถึงเรื่องแผนสืบทอดตำแหน่งหรือที่เรียกว่าSuccession plan ก็ได้พยายามฝึกน้องๆมาหลายรุ่น แต่ส่วนใหญ่ก็ลาไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางกันหมด

                       เมื่อ2 ปีก่อน ผมก็ได้หาตำแหน่งแพทย์เฉพาะทางให้น้องแพทย์คนหนึ่งที่เคยเป็นรองผู้อำนวยการ สนใจเรื่องการบริหารและเหลืออีก 1 ปีก็จะจบกลับมาทำงาน ซึ่งผมก็อาจจะเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ได้

                        ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผมได้ไปรับตำแหน่งรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก( ผชช.ว.) แต่ยังควบตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากด้วย แต่ผมก็ไม่ค่อยอยู่โรงพยาบาลจะมีรองผู้อำนวยการ 3 คนช่วยดูแลและไว้ใจได้ ทำหน้าที่แทนผมได้ดีมากคือหมอเฟ็บ(กอบกาญจน์) พี่ปุ๋ย(ภก.วรุตม์)และป้าเย็น(คุณปริญฎา หัวหน้าพยาบาล) พอมาปีนี้หมอเฟ็บย้ายกลับบ้านที่อ่างทอง ผมก็เลยต้องหาคนมาช่วยเพิ่มเติม ทั้งนี้นายแพทย์ สสจ.ตากท่านก็อยากให้ผมทำงานที่เดียว การทำงานควบ 2 ที่ งานจะหนักและค่อนข้างเหนื่อย

                         ปีนี้ ผมก็เลยชวนคุณหมอสุวิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามเงามาอยู่ และก็จะขอให้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากแทน ประกอบกับผมต้องไปช่วยงานที่กระทรวงฯ สัปดาห์ละ 2 วัน ทำงานที่สสจ.ตากด้วย ที่ รพ.ด้วยก็ค่อนข้างยุ่งมาก ตอนนี้คำสั่งอย่างเป็นทางการก็ออกมาแล้ว ผมจะส่งงานกันอย่างเป็นทางการวันที่ 19 มิถุนายน นี้

                       ตัดสินใจลำบากเหมือนกัน กับความผูกพันที่มีมาถึง 10 ปี แต่สิ่งที่ช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้นก็คือผมได้รับทุนรัฐบาลเบลเยียมไปเรียนปริญญาโทที่เบลเยียม 10 เดือน ยังไงก็ต้องมีคนมาทำหน้าที่แทน

                       ผมกับหมอสุวิชัย เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ชั้นม.1 และช่วงม.4-6 สนิทกันมาก คุณหมอสุถวิชัยไปเรียนวิศวะจุฬา จบและทำงานเป็นวิศวกรอยู่หลายปี ก็ค้นพบตัวเองว่าชอบอะไร ก็สอบเข้าเรียนแพทย์ธรรมศาสตร์ได้และจบมาทำงานได้ 3 ปี ผมก็ค่อนข้างอุ่นใจเพราะได้รู้อุปนิสัยใจคอกัน ได้พูดคุยกันค่อนข้างบ่อย ได้ถ่ายทอดแนวคิดการทำงานกันตั้งแต่ปีที่แล้ว และก็ส่งงานกันบ่อยมาก คุยกันหลายครั้งๆละหลายๆชั่วโมง

                       มีคนถามผมบ่อยๆว่า ถ้าผมไม่อยู่โรงพยาบาลบ้านตาก คิดว่าระบบที่วางไว้จะอยู่ได้ไหม ระหว่างคนกับระบบอะไรสำคัญกว่ากัน

                       อย่างวันนี้ ทีมงานจากหน่วยงานภาครัฐต้นแบบและกรมราชทัณฑ์ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็สนใจถามประเด็นนี้มากเหมือนกัน ผมเองก็ตอบได้ยาก ก็ได้บอกว่าเราก็คอยพิสูจน์กันว่าจะเป็นอย่างไร เพราะผมก็คงรับประกันใครไม่ได้ แต่เราก็เลือกคนที่เราเห็นว่าเหมาะสมที่สุดเท่าที่มีอยู่แล้ว ซึ่งบางทีผมก็คิดว่าอาจจะดีกว่าผมอยู่ก็ได้ ผมเองก็คงต้องปล่อยวาง จะเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ ผอก.คนใหม่ก็คงไม่เหมาะ แต่ก็พร้อมและยินดีที่จะเป็นที่ปรึกษาให้เสมอ

                       มีอย่างหนึ่งที่ผมพูดกับทีมดูงานว่า บางทีน่าจะเป็นการดีกับโรงพยาบาลมากกว่าเพราะการที่ผู้บริหารอยู่นานเกินไป อาจเฉื่อยชาต่อการแก้ปัญหา เพราะชินกับปัญหาจนรู้สึกว่ามันไม่ใช่ปัญหาก็ได้ ทำให้ปัญหาหลายอย่างไม่ได้รับการแก้ไข หรืออาจไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวล้มเหลว กลัวผิดพลาด กลายเป็นยึดติดกับความสำเร็จในอดีตก็ได้

                      ในเรื่องการหาผู้สืบทอดตำแหน่งหรือตัวตายตัวแทนนี่ ในระบบราชการผมมองว่ายากมาก ยิ่งในระดับจังหวัดหรือกรมนี่ ทำไม่ได้เลยเพราะไม่รู้ว่าผู้มีอำนาจจะแต่งตั้งใครเข้ามา และบ้านเราวัฒนธรรมอำนาจยังแรงมาก บางทีระบบที่ว่าแน่มาเจอคุณ(บ้า)อำนาจก็เดี้ยงได้ง่ายเหมือนกัน

                      วันนี้ เลิกงานแล้ว ผมกับหมอสุวิชัยก็ยังนั่งคุยกันอยู่เกือบ 2 ชั่วโมง ในสิ่งที่เราควรทำต่อไปในโรงพยาบาลบ้านตาก  

หมายเลขบันทึก: 103756เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2007 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สว้สดีค่ะ อาจารย์ พิเชษฐ์

ดีใจ ค่ะ ว่า

อาจารย์ ไปก้าวหน้า

เปลี่ยนงานจะไม่วุ่นวายต่อชีวิตมากนัก

ไปเบลเยี่ยม10 เดือน คงได้อะไร กลับมาฝาก ประเทศไทยมากมาย

และดีใจแทน คนที่บ้านตาก ได้ ผอ ใหม่อาจารย์ สุวิชัย

น่าทึ่ง น่านับถือมากนะคะ เจอแต่หมอ ลาออก ไปทำอาชีพอื่น อาจารย์สวนกลับทางมาเรียนหมอ อีก

ท้าทายค่ะ มาต่องาน อ พิเชษฐ์ แต่ก็ ไม่น่ายากเกินความสามารถ อ สุวิชัย

เป็นกำลังใจให้ทั้งสองท่านค่ะ

สวัสดีค่ะ ชอบประโยค ที่ว่า "การที่ผู้บริหารอยู่นานเกินไป อาจชาชินกับปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วไม่แก้ปัญหาเพราะคิดว่าไม่เป็นปัญหา แล้วทำให้องค์กรอยู่กับที่ได้และอาจลืมตัวคิดว่าหน่วยงานเป็นของตนเองไปเลย" มากเลยค่ะ อยากให้ผู้บริหารของทุกหน่วยงานคิดแบบนี้บ้างจัง ปัญหาไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ก็ย่อมเป็นปัญหา ย่อมต้องการแก้ไขทั้งนั้นล่ะค่ะ ปัญหาเล็กๆ นานๆ ไปก็สะสมเป็นปัญหาใหญ่ๆ ทำอย่างไรดีถึงให้ผู้บริหาร หันกลับมามองสิ่งเล็กๆ บ้างคะ.... :-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท