อี-เปเปอร์ หีบห่ออัจฉริยะ ลอจิสติกส์ศตวรรษที่ 21


อี-เปเปอร์ หีบห่ออัจฉริยะ ลอจิสติกส์ศตวรรษที่ 21

        การพัฒนาด้านการหีบห่อสินค้าสู่อุปกรณ์อเนกประสงค์ในตลาดโลก ถือว่าเป็นแนวโน้มของการปรับตัวทางด้านการตลาดอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะหีบห่ออัจฉริยะเหล่านี้ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยในการขับเคลื่อนความสำเร็จในการยกระดับประสิทธิภาพของการบริหารงานการตลาดยุคใหม่ไปเสียแล้ว เพราะความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าปรับสภาพของหีบห่อ ได้มาถึงยุคของ อี-เปเปอร์ (Electronoic paper) ที่สามารถทำหน้าที่เป็นป้ายบันทึกและตรวจจับความเคลื่อนไหวของสินค้าในวงจรของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตลอดทั้งสายได้ ด้วยการส่งคลื่นวิทยุที่เรียกว่า Radio Frequency Identification จากหีบห่อที่หุ้มตัวสินค้าอยู่

        วันนี้อยากจะเล่าถึงหีบห่อ 2 ประเภทที่มีความคืบหน้าในการพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด อย่างแรกคือ อี-เปเปอร์ และอีกอย่างคือ แร็ป (Wrap) มหัศจรรย์
       
        ในเรื่องของอี-เปเปอร์ ที่ถือว่าเป็นหีบห่ออัจฉริยะนั้น แท้ที่จริงแล้ว ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ขณะที่เพิ่มความแม่นยำของการบริหารสินค้าคงคลังคือ ลอจิสติกส์ รูปแบบใหม่ด้วย เพราะหีบห่อสินค้าที่ว่านี้ไม่ได้ทำมาจากกระดาษแบบเดิมแล้ว หากแต่ทำจากวัสดุ ในกลุ่มพลาสติก ที่มีลักษณะคล้ายกระดาษ ที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมอย่างเหลือเชื่อ ในการแสดงกระแสของการไหลหรือเคลื่อนย้ายของสินค้า
       
        จุดเด่นของกระดาษพลาสติก หรือโพลีเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกย่อๆ ว่า อี-เปเปอร์นี้ คือ ประการแรก สามารถรีดให้บางได้เท่าที่ต้องการ ประการที่สอง มีความยืดหยุ่น จึงรับน้ำหนักได้ดี และปรับรูปทรงให้เข้ากับรูปทรงของสินค้าได้ทุกลักษณะ ประการที่สาม สามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนต่ำกว่าเดิมมาก
       
        นักการตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป จำนวนไม่น้อย เริ่มมีความหวังว่าอี-เปเปอร์ ที่ว่านี้จะสามารถพัฒนาเป็นอุปกรณ์ประเภทเซนเซอร์ ในการจัดเก็บข้อมูลของสินค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำจนสามารถรับภาระได้ ทำให้ต้นทุนการบริหารลอจิสติกส์ลดลงไปอย่างมาก
       
        ปัจจุบัน แนวทางการพัฒนาอี-เปเปอร์ อาจจะแยกออกได้เป็น 2 แนวทางคือ
       
        แนวทางแรก การพัฒนาคุณสมบัติของอี-เปเปอร์ ให้ดีขึ้น นั่นคือ เพิ่มความคล่องตัว และยืดหยุ่นตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งาน ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ จัดให้อี-เปเปอร์เป็น e- label หรือป้ายสลากอัจฉริยะที่ใช้ระบบคลื่นวิทยุเป็นระบบหลักในการจัดส่งข้อมูลอยู่อย่างเดิม การระดมทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดต้นทุนของการทำหน้าที่ในด้านนี้จึงเป็นเป้าหมายหลัก
       
        แนวทางที่สอง เป็นการพัฒนาอี-เปเปอร์ ไปเป็นไดโอท ที่ปรับสภาพการรับรู้ตามแสงไฟ เป็นเสมือนหีบห่อที่มีชีวิตอย่างหนึ่ง
       
        สินค้าที่เริ่มหันมาใช้อี-เปเปอร์ เป็นหีบห่อสินค้าของตน ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ บุ๊ค หรือ e-book e-mapหรือแผนที่ อิเล็กทรอนิกส์ หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ และหมึกอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ทั้งนี้รวมไปถึงสินค้าประเภทอาหาร ที่เริ่มใช้หีบห่อแบใหม่นี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการติดตามและจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมการซื้ออาหารของลูกค้า
       
        ทั้งนี้เพราะในยุโรปกำลังจะเริ่มเอาจริงกับการลงโทษบรรดาพ่อค้าปลีก ที่นำหีบห่ออาหารที่จำหน่ายไม่ได้ไปทิ้ง ทำให้เกิดทั้งการสูญเสียและเป็นการเพิ่มปริมาณขยะของโลกด้วย ทำให้ผู้ขายอาหารจำเป็นต้องหาหนทางปรับลดปริมาณหีบห่ออาหารที่คาดว่าจะเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด
       
        สำหรับบริษัทชั้นนำของโลกที่ได้ออกกระแสข่าวว่าตัดสินใจจะใช้อี-เปเปอร์ เป็นหีบห่อสินค้าของกิจการก็มีหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท ซีร็อกซ์ บริษัทลูเซนต์ บริษัท อี อิงค์ เป็นต้น
       
        ผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดเห็นว่า การที่จำนวนบริษัทชั้นนำของโลกยังใช้อี-เปเปอร์น้อย ส่วนใหญ่มาจากปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่ยังคงแพงหูฉี่ สำหรับหลายกิจการ ทำให้นักการตลาดต้องทบทวน คิดแล้วคิดอีกว่าจะตัดสินใจใช้อี-เปเปอร์ดีหรือไม่ เพราะขึ้นกับคุณค่าของข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บว่าคุ้มค่าหรือไม่
       
        หีบห่ออีกอย่างหนึ่งที่เกริ่นแล้วว่าจะเล่าถึงคือ แร็ปพลาสติกที่นิยมนำไปใช้ห่อสินค้าประเภทผักและผลไม้ เพื่อวางจำหน่ายในสรรพสินค้าทั้งหลาย
       
        เจ้าแร็ปหรือฟิล์มที่ว่านี้ แต่เดิมมักจะเป็นพลาสติกสีใสๆ และต้องแกะออกเมื่อต้องการใช้ผักหรือผลไม้ที่ห่อไว้ เป้าหมายหลักของการพัฒนาแร็ปหรือฟิล์มห่อผักและผลไม้ คือ การทำให้เป็นหีบห่อที่สามารถดึงดูดความสนใจ และทำให้ผักหรือผลไม้นั้นน่าทานกว่าปกติ อีกทั้งอำนวยความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถใช้ฟิล์มกระตุ้นความอยากซื้อ ทำให้คนที่ผ่านไปมาอดไม่ได้ที่จะหยิบติดมือไปด้วย ใช้แนวทางของการเพิ่มสีสันให้กับแร็ปหรือฟิล์ม ให้เหมาะสมกับสินค้าที่ห่อหุ้มอยู่
       
        แนวคิดที่ว่านี้เริ่มต้นจากการนำร่องด้วยการพัฒนาแร็ปหรือฟิล์มที่ห่อซูชิ หรือข้าวปั้นของญี่ปุ่น ด้วยการสร้างหีบห่อที่เหมือนกับเป็นสาหร่ายทะเลห่อพันไว้ และพบว่าได้ผลดีในการส่งเสริมการจำหน่าย อาหารพื้นๆ ของญี่ปุ่นจนขายดีกลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในนานาประเทศไปแล้ว
       
        แร็ปที่ผลิตออกมาตอนนี้จะมีสีสันที่เข้ากับสินค้า โดยขณะนี้สามารถแยกสำหรับใช้กับการห่อหุ้ม เช่น เป็นสีเขียวหรือแดงของแอปเปิ้ลซีนาม่อน แร๊ปหรือฟิล์มสีแดงสำหรับห่อพริกแดง มีสีส้มที่กลืนกับสีของมะม่วง สีแสดแบบที่เหมาะจะห่อแครอท หรือ สีแดงแบบมะเขือเทศ และเขียวแบบดอกบล็อกโคลี่ หรือถั่วเขียว และแม้แต่สตรอเบอร์รี่ และลูกพีช
       
        คุณสมบัติของแร็ปหรือฟิล์มยุคใหม่ที่ใช้กับผักและผลไม้มี 2 ประการคือ ประการแรก ทำให้ผักและผลไม้ สด สะอาด มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น รวมทั้งรักษารสชาติ และบรรดาแร่ธาตุและวิตามิน ที่จะเข้าไปเพิ่มคุณค่าของอาหารได้ด้วย
       
        ประการที่สอง เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน จากการที่พัฒนาวัสดุที่ทำแร็ปจากพลาสติกเป็นเส้นใยพืชจากธรรมชาติแทน จึงสามารถนำไปปรุงในเตาไมโครเวฟหรือกระทะได้ โดยไม่ต้องแกะฟิล์มนั้นออกก่อน
       
        จะเห็นว่าการเติบโตของสินค้าตามจำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้น และนับวันจะมีอายุยืนยาวมากขึ้น ทำให้การพัฒนาหีบห่อใหม่ๆ ออกมาตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานเพิ่มบทบาทและความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของอาหาร เครื่องดื่ม ยา และเครื่องสำอาง ที่ยังเปี่ยมไปด้วยกระแสของการรักษาสุขภาพและเน้นโภชนาการ ไปจนขั้นรุนแรงถึงกับเข้มงวดกับการบริโภคเฉพาะอาหารชีวจิตอย่างเดียว

 


ที่มา : ผู้จัดการรับสัปดาห์ ฉบับที่ 975  วันที่ 8-14 สิงหาคม 2548

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10320เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2005 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท