ทิฐิ - โกรธแค้น ในการสร้างสรรค์งาน


เมื่อพลังด้านลบ ถูกท้าทายจากความสัมพันธ์ พลังแห่งความดี เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงาน และสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จะมีคำตอบเช่นไร

ทิฐิ และ โกรธแค้น

คำตอบต่อพลังในการสร้างสรรค์ผลงาน

 

 

 

 

เราส่วนใหญ่ เลือกที่จะมีทางออกเช่นใด ในการมองเห็นความจริงของโลกแห่งการทำงาน เลือกที่จะยืนอยู่ฝั่งใด โดยเฉพาะในความตั้งใจของชีวิต ในหลุมแห่งอารมณ์ด้านมืด ที่ทั้งเจ็บปวด โกรธแค้น และปนทิฐิของคนทำงาน ที่ต่างปรารถนา ความชื่นชม ความสำเร็จ การยกย่อง จากสิ่งที่กระทำ

 

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินได้ฟังคนรอบข้าง บ่นและระบายเรื่องกลัดกลุ้มหัวใจ ให้เราได้รับรู้ เรื่องหนึ่งที่กลายเป็นประเด็นยอดนิยม และคำถามสำคัญ สำหรับคนทำงาน สำหรับความจริงในการทำงาน ระหว่างความปรารถนาดี กับ ความขัดเคืองใจ ในยามประสบพบเจอเรื่องราวอันไม่น่าพึงใจ เราส่วนใหญ่จะมีทางออก และมีคำตอบให้กับเรื่องราวอันเจ็บปวดเช่นไร

 

ความรู้สึกของคนทำงาน โดยเฉพาะที่ตั้งใจสร้างสรรค์งาน ตั้งใจทำงาน โดยไม่ได้มีตัวตั้งจากเรื่องเงินทอง ชื่อเสียง หรือมายาคติใดๆของการทำงาน แต่ปรารถนาให้งานออกมาดีที่สุด ที่พบกับความเลวร้ายได้ง่ายที่สุด หากถูกประเมินคุณค่าให้ต่ำ หรือกระทั่งถูกเย้ยหยันถึงชิ้นงานที่ทำว่าไม่ดี

 

ส่วนแบ่งของความสำเร็จ ในขณะที่เราเชื่อมั่นว่า อยากสร้างสรรค์งานให้ดี มีคุณภาพ แต่ต้องพบเจอกับเหตุอันไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน อาจจะรุนแรงเพิ่มเติม ถึงความด้อยประสิทธิภาพของผู้บังคับบัญชา ที่ปล่อยให้เกิดการกระทำที่ไม่ยุติธรรมขึ้น ภายในองค์กร หรืออาจละเลย เจตนาที่จะปล่อยให้เกิดความอยุติธรรม

 

โดยส่วนใหญ่ของมุมมอง ความตั้งใจที่จะทำความดี ล้วนได้รับความชื่นชอบ แต่เชื่อหรือไม่ ว่าความปรารถนาในการทำความดี หรือทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ดีให้ดีที่สุด ก่อให้เกิดปมสำคัญแบบหนึ่ง ในงานเขียนและการเรียบเรียงถึง ความพยายามฝึกซ้อมของ แลนซ์ อารม์สตรอง http://www.lancearmstrong.com/  นักปั่นจักรยานอาชีพที่ยิ่งใหญ่ของโลก ได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงช่วงเวลาแห่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในช่วงต้นของชีวิตนักกีฬาอาชีพ ประโยคสำคัญที่หลังจากความพ่ายแพ้ และการเผชิญหน้ากับโรคมะเร็ง ทำให้เขามีโอกาสหันกลับมามอง จุดบอดครั้งหนึ่งในชีวิต

 

เขาพบว่า ความพยายามในการฝึกซ้อมที่มากมายมหาศาล ความมีวินัยฝึกฝน อารมณ์ ความรุนแรง ความเกรี้ยวกราดกับคนรอบข้าง เพื่อที่เขาจะไปถึงฝั่งฝันของความสำเร็จ ทำให้เขาเชื่อว่า ทุกสิ่งในทุกวันที่เขากระทำ คือสิ่งที่ดีที่สุด และเขาเป็นคนที่ดี เป็นคนที่ดีที่สุด เขาอธิบายว่า ตอนนั้น เขาเกิดภาวะที่เรียกว่า ปมพระเจ้า - God Complex  - อ้างอิงข้อมูลเชิงจิตวิทยา  http://en.wikipedia.org/wiki/God_complex

 

ความพยายามในการกระทำสิ่งที่ดีที่สุดของเขา มีมุมมองแบบปรัชญาของเจ้าชายแขกขาว จากภูมิธรรมภารตะ ที่อธิบายผ่านสิ่งที่ว่าด้วย มุมมองของ ทิฐิ มีสิ่งที่ประกอบด้วยความโกรธ ความเกรี้ยวกราดรุนแรง ของอารมณ์ความรู้สึกด้านลบ

 

ในมุมมองของคนทำงาน การถูกคำถาม ถูกท้าทาย ด้วยคำถามจากคนรอบข้าง ล้วนมีพลังที่กดดัน เพื่อไปสู่การสร้างสรรค์ เท่าเทียมกับ พลังในการทำลายล้างความรู้สึกนึกคิดที่ดีของตัวเราเอง การเรียนรู้ที่จะเข้าใจสติ อารมณ์ และการไหลของพลังความคิด คือสิ่งที่สำคัญ สำหรับคนทำงานพื้นฐานโดยทั่วไป

 

นักข่าวที่พยายามนำเสนอข่าวเจาะลึก เรียบเรียงข้อมูลของข่าวและแหล่งข่าว แต่ถูกตั้งคำถามบนโต๊ะประชุมข่าว ถึงความด้อยของเนื้อหา ไม่นับรวมการถูกเย้ยหยันเสียดดี ถึงชั่วโมงบินในการทำงาน นักวิจัยที่พยายามแก้ปัญหาข้อเสนอ และหัวเรื่องงานศึกษา แต่ถูกกระแหนะกระแหนว่า เป็นเพราะนำข้อมูลของงานวิจัยตัวอื่นมาปรับใช้ ไม่ใช่เป็นการคิดขึ้นมาเอง คนออกแบบประเด็นโฆษณา ที่ถูกเยาะเย้ย ว่าประเด็นนำเสนอไม่ใหม่ ไม่ตรงใจลูกค้า เก่าและล้าสมัย กลางที่ประชุมในบริษัท และอีกมากมายของอารมณ์คนทำงาน

 

ที่ล้วนแต่เป็นฉากละครบทเก่า ที่เกิดขึ้น วนไปวนมา ซ้ำซาก แต่เป็นเรื่องจริง

 

หากเราตัดสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ ตัดปัญหาท่าทีระหว่างตัวบุคคล ระหว่างตัวของผู้ตำหนิ กับ ผู้ถูกตำหนิ ว่าไม่เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่การติดท่าทีกัน ไม่ใช่ความจงเกลียดจงชัง หรือมีคดีทับเส้น เหยียบเท้ากันมาแต่เก่าก่อนออกไป เราอาจจะพบว่า บางครั้งข้อสังเกตุหรือคำตำหนิ อาจนำเราไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นของการพูดคุยก็ได้

 

ทางออกหนึ่งในมุมมองของ สุนทรียสนทนา นอกเหนือจากการรับฟังเชิงลึก รับฟังอย่างลึกซึ้ง ใช้ความเข้าใจ ใช้อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นมิตร และพยายามลำดับสิ่งที่คู่สนทนานำเสนอสื่อสาร อาจเป็นทางออกหนึ่งในท่ามกลางข้อตกลงร่วมกัน แต่หากเป็นความจริง ในสภาพขององค์กรที่แข่งขันกันสูง เราจะค้นพบทางออกเช่นไร

 

ในท่ามกลางสิ่งที่เรียกว่า ผลประโยชน์ เกียรติยศ ชื่อเสียง และตัวตนของผู้คน สิ่งที่ยากตัดขาดออกจากประวัติศาสตร์มนุษยชาติ คือคำตอบเดียวกันนี้ และไม่ใช่คำตอบนี้หรอกหรือ ที่ทำให้ภูมิปัญญาของผู้คน ต้องคิดค้นหนทาง กระบวนการ รูปแบบ วิธีการ เพื่อสร้างให้เกิดความเป็นธรรมให้มากที่สุดในสังคม สร้างให้เกิดกลไกในการระงับข้อพิพาท ระงับความไม่พึงใจของผู้คนในสังคม ให้สามารถปรากฏผลให้ได้

 

ไม่ใช่เพราะเหตุอันไม่ตรงกันหรอกหรือ ที่สร้างให้นิติศาสตร์ และปรัชญานิติธรรมเกิดขึ้นบนโลก เท่าเทียม กับศาสตร์แห่งการปกครอง ศาสตร์แห่งรัฐ ธรรมศาสตร์ โลกนิติ และการบริหารจัดการบุคคล องค์กร และทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้น

 

กรณีการเมืองในสถานที่ทำงาน และความไม่สามารถในการหาข้อยุติได้ อาจเป็นแรงกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้โลกสมัยใหม่ เรียนรู้โครงสร้างของงานแบบไม่ต้องบังคับบัญชา โครงสร้างของความสัมพันธ์ในการทำงาน ในรูปแบบที่พยายามหลีกหนีความขัดแย้งระหว่างบุคคล

 

จุดสำคัญ ของความขัดแย้ง จนก่อให้เกิดความเกลียดชัง โกรธแค้น ชิงชัง ล้วนเป็นหัวใจแห่งการทำลายล้าง ทั้งตัวตนของเรา และผู้คนรอบข้าง ทำลายหัวใจสำคัญแห่งพลังสร้างสรรค์ของมนุษย์ เมื่อการรวมกลุ่มของมนุษย์ คือจุดเริ่มแห่งอารยธรรม และจุดเริ่มแห่งปัญญา

 

 

อ้างอิง ภาพวาด - ใบหน้า - FACE - Henry Matisse 

 

ในท่ามกลางคำถามของเพื่อน ที่พยายามถามหาทางออก ของการเมืองในที่ทำงาน นอกเหนือจากการลำดับความจริงของเหตุและผล ของความรู้สึก และตัวตนของเรา ทางออกที่นอกเหนือจากการฝากความหวังให้กับธรรมาภิบาลในองค์กร ความสามารถในการบริหารงานของผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชา หรือกระทั่งคำตอบสุดท้าย ว่า ลาออก

 

เราแต่ละคน เลือกที่จะเผชิญหน้า การเมืองในองค์กร ที่มาจากความขัดแย้งในการทำงานเช่นไร ท่ามกลาง ทิฐิ และ ความโกรธแค้นที่เป็นดั่งสายลมของชีวิตเรา

หมายเลขบันทึก: 102970เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท