แนะนำหนัง Spring, Summer, Fall, Winter...and Spring


ได้ดูหนังจากประเทศเกาหลีเรื่องนี้โดยบังเอิญจากการยืมห้องสมุดที่ Adelaide มาดู

เกิดความประทับใจมาก สั่งซื้อที่ร้านในเมือง Adelaide อยู่หลายเดือนก็ไม่ได้

จนกระทั่งเมื่อวานได้เห็นโดยบังเอิญที่เซียร์รังสิต

กองอยู่ในหนังซองสามเรื่องร้อย นำเข้าโดยบริษัทเจบิกส์ ใช้ชื่อภาษาไทยว่า "วงจรชีวิต กิเลสมนุษย์"

ดีใจมากรีบควักเงินซื้อแล้วมาดูอีกรอบ

หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับวัฏฏะสงสารครับ

Kim Ki-duk ผู้กำกับ และผู้แสดง ได้แปลพุทธธรรมเรื่องไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความไม่ใช่ตน ออกมาเป็นภาษาภาพที่งดงาม และอิ่มเอม

spring

ภาพนี้มาจาก http://www.rottentomatoes.com/vine/showthread.php?t=322622

หนังเล่าเรื่องของเถรน้อยคนหนึ่งที่อาศัยอยู่กับหลวงตาในวัดลอยน้ำกลางทะเลสาบในหุบเขาอันเงียบสงบ

ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง

เณรน้อยโตขึ้นเป็นพระหนุ่ม เผชิญกับราคะกิเลสจากหญิงสาวที่มาพักรักษาตัวในวัด และแพ้พ่ายจนได้เสียกัน

ชีวิตวัยหนุ่มเปลี่ยนไปตามฤดูกาล พระหนุ่มหนีจากวัดตามผู้หญิงไป

เรื่องราวเป็นอย่างไรอยากให้หามาดูกันครับเล่าต่ออาจจะเสียอรรถรสได้

แต่ประเด็นที่อยากจะให้สังเกตคือ การตีความวัฏฏะสงสารออกมาโดยใช้สัญลักษณ์ที่เรียบง่ายและงดงาม ผ่านฤดูกาล ผ่านตัวละคร ผ่านสัญลักษณ์เปรียบเทียบสัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆ ที่เลี้ยงไว้ในวัด

อยากดูการสอนโดยการไม่พูด แต่พยายามเข้าใจและแสดงตัวอย่างของวิถีชีวิตที่ดีงามให้ดู ของหลวงตาผู้เฒ่า

 spring3

ภาพจาก  http://thecia.com.au/reviews/s/images/spring-summer-autumn-winter-and-spring-6.jpg

ผมเห็นความเชื่อมโยงของธรรมะที่เป็นสิ่งที่รู้สึกได้โดยที่ไม่ถูกจำกัดขอบเขตว่าจะเป็น หินยาน มหายาน หรือนิกายใดๆ

การพายเรือข้ามจากฝั่งมายังโบสถ์กลางน้ำ ก็คืออุปมาการข้ามฝั่งทุกข์นั่นเอง

ธรรมะเปรียบเสมือนพ่วงแพ ข้ามจากฝั่งโลกียะ มายังฝั่งโลกุตระ

หามาดูกันนะครับ ผมว่าเรื่องนี้สามารถทำให้คนเข้าใจพุทธศาสนาได้มากขึ้นว่า "ฐานคิด" ของเราเป็นอย่างไร

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ศาสนา
หมายเลขบันทึก: 102863เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2007 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
  • ขอบพระคุณมากค่ะคุณหมอสุธี หนังที่ดูแล้วได้คิดเชื่อมโยงและตีความไปนี้ดิฉันชอบจริงๆ
  • เทอมนี้ดิฉันสอนศิลปะการใช้ภาษาในภาพยนตร์ด้วย   กำลังเลือกพยายามเลือกหนังดีๆจากวัฒนธรรมที่หลากหลายมาให้นักศึกษาดู
  • เรื่องนี้คงต้องดูเองก่อนสักสามรอบ : )
  • ครั้งหนึ่ง  เคยให้นักศึกษาดูเรื่อง The Sound of Music   เด็กผู้ชายหาวกันเป็นแถว  เพราะเป็นหนัง soundtrack 
  • เรื่องที่คุณหมอแนะนำนี้ ถ้ามีขายในเมืองไทย  คิดว่าคงมีพากย์ไทยกระมังคะ
  • ขอบพระคุณมากอีกครั้งนะคะ

พากษ์ไทยครับผม

แต่มีบทพูดน้อยมาก

ใช้ภาษาภาพเป็นหลักครับ

ร้านขายแผ่นนี้อยู่ใกล้ๆบ้านผมเอง ยินดีซื้อส่งไปให้อาจารย์นะครับถ้าต้องการ

 

ขอบพระคุณคุณหมอสุธีมากค่ะ       ดีใจจังเลยที่เป็นพากษ์ไทย  (สามเรื่องร้อยอีกต่างหาก)

ตะกี้ทันทีที่โพสต์ในบันทึกคุณหมอเสร็จ  ดิฉันก็ส่งแมวไปบอกน้องสาวที่กรุงเทพฯให้ช่วยแวะไปซื้อหนังเรื่องนี้  โดยจะมีรางวัลให้เธออย่างงาม  เธอก็หลวมตัวรับปากจะไปหาให้แล้ว 

แล้วก็เลยแว่บมาดูโพสติ้งอีกที  เพราะเน็ตสะดุดบ่อย  เกรงจะโพสต์ไม่ได้  ปรากฏว่าคุณหมอตอบให้แล้ว

ขอบพระคุณมากๆอีกครั้งนะคะ   : )

แปลกดีนะคะที่เกาหลีกลับกลายเป็นชาติที่ เคร่งคริสตศาสนามากๆชาติหนึ่งในโลกเลย

ไม่นึกว่าจะมีหนังแนวพุทธออกมาจากเกาหลี 

จะหามาดูแน่นอน

 

ดูแล้วเมื่อคืนนะพี่

สวยมาก ชอบเสียงป่า เสียงนก เสียงน้ำที่แว่วๆอยู่เป็น background ตลอด

เรื่องนี้มีการใช้สัญลักษณ์เยอะมากๆ มากจนไม่ get ในหลายๆครั้ง รู้แต่เค้าต้องกำลังสื่ออะไรแน่ๆ แต่เราดูไม่ออกนัก ได้แต่จินตนาการไปเองมากมาย เช่น

  • เรื่องประตูห้องนอนทั้ง 2 บานที่ต้องเดินผ่านตลอดยกเว้นตอนพระหนุ่มหยิบผ้าห่มให้สาว และตอนกลางคืนที่ดอดไปหา
  • สัตว์เลี้ยงที่เปลี่ยนไป (หมา ไก่ แมว เต่า)
  • น้ำขึ้นและน้ำลงที่ท่าฝั่งโน้น

มีข้อสงสัยมากมาย ส่วมมาเกี่ยวกับการกระทำของหลวงปู่ (การใช้ไก่ลากเรือ ทั้งๆที่จริงๆไม่ต้องใช้ก็ได้นินา หรือการตัดสินใจ "ปิด") คงดูได้อีกหลายรอบ แต่มัทเช่ามาหล่ะ ไว้กลับไปจะไปซื้อ

ประเด็นเรื่องหลวงปู่

พี่รู้สึกว่าหนังพยายามจะสื่อให้เห็นว่า หลวงปู่ก็เติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลเหมือนกันนะ

คือตอนที่โยนไก่ไปที่เรือน่ะ ตบะยังไม่แก่กล้าไง บังคับเรือด้วยพลังจิตไม่ได้

แต่พอหลายปีผ่านไป ตอนที่ตำรวจมาจับคนหนุ่มไปแล้วเรือไม่เคลื่อนที่เพราะจิตของหลวงปู่เติบโตขึ้นไง

ไม่รู้พี่มั่วไปเองรึเปล่านะ

ไหนๆพี่มาตอบแล้ว ขอต่อนะ : )

คำเตือน: ใครยังไม่ได้ดู ไม่น่าอ่านนะคะ

ใครอยากอ่านให้ เอาเมาส์ปืดๆ highlight แถบสีส้มข้างล่าวแล้วจะมองเห็นค่ะ 

มัทคิดไปไกลมากว่า ไก่ = ปลุกให้ตื่น ทั้งทางโลกทางธรรมเลย

ที่พี่คิดก็น่าสนใจ มัทเห็นด้วย ว่าท่านก็เปลี่ยนไปตามฤดูกาลเช่นกัน

แต่ถ้าเรื่องเรือ เจษฎ์เถียงว่าหลวงปู่บังคับเรือได้นานแล้ว ไม่งั้นจะตามไปดูเณรปล่อยบ่วงออกจากสัตว์ได้ไง เพราะเณรพายแบกหินไปคนเดียว

แต่เรื่องนี้ไม่เท่าไหร่ ยังไงคิดว่าเรา get ข้อความหลักที่เค้าจะสื่อ

แต่เรื่องฆ่าตัวตายนี่สิ ข้องใจมากกกกกกกกกก เพราะท่านมีพลังมากแล้ว น่าแต่ท่านมีห่วงเหรอถึงทำอย่างนั้น

จะได้กลับมาเกิดเป็นงู เฝ้าวัด? เพราะจริงๆแล้วท่านทำนายอนาคตก็ได้ ใช้พลังจิตก็ได้ ดูเข้าถึงธรรม แต่ไม่หลุดพ้น เลือกที่จะกลับมาเกิด...งง  

 

สวัสดีด้วยความระลึกถึงอย่างสูงค่ะคุณหมอสุธี 
สวัสดี อ.มัท ด้วยค่ะ

ดิฉันข่มใจไม่เอาเมาส์ลากปรื๊ดๆที่ความเห็นหลังสุดของ อ.มัท  และตั้งใจหาภาพยนตร์เกาหลีเรื่องนี้มาเป็นสี่ห้าเดือน   แล้วก็เพิ่งได้ดูเมื่อวานซืน  ตั้งใจว่าดูเสร็จเมื่อไหร่จะเข้ามาเล่าคุณหมอกับ อ.มัทในบันทึกนี้

หนังที่"เล่าเรื่องด้วยภาพ"เรื่องนี้ สวย  เหลือเกินค่ะ  สวยเย็นๆเป็นธรรมชาติตลอดเรื่อง  สื่อให้เห็นว่าธรรมะนั้น ฉ่ำเย็นนัก  ถ้าเพียงแต่เราจะเรียนรู้ที่จะเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติ  เข้าใจ  และปล่อยวางได้ 

ถ้าเพียงแต่นักบวชสองรูปนั้นสามารถฝ่าวงวัฏสงสารนี้ไปได้  แต่ท่านก็ไปไม่พ้นวงกิเลส  ดิฉันสงสัยว่าหลวงตา(อ.มัท เรียกน่ารักดีอะค่ะ)  มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับเณรน้อยเป็นพิเศษอยู่  

ถ้าถามใจดิฉัน หนังเรื่องนี้ออกจะเศร้าอยู่บ้าง แต่ก็ให้ข้อคิดดี  ทึ่งคุณหมอสุธีที่ตีความเรื่องไก่ลากเรือ  กับกระแสจิตบังคับเรือของหลวงตา  ออกจะเห็นด้วยกับคุณหมอนะคะ   แต่ตอนท้ายที่ท่านตัดสินใจแบบนั้น ก็ทำให้ดิฉันงงไปเหมือนกัน  สงสัยต้องไปหาอ่านบทวิจารณ์อีกรอบ 

ที่แปลกใจคือการที่พระสามารถร่วมเคหสถานกับฆราวาสได้  อันนี้เหมือนพล็อตจงใจกำหนดเกินไป  คือในพื้นที่กลางน้ำอันจำกัดเช่นนั้น  ก็เป็นแรงบีบให้เรื่องดำเนินไปตามความคาดหมาย  จากนั้นก็ดูราวกับว่าหลวงตาเป็นผู้ดู  เณรน้อยหรือ(เมื่อโตเป็น)พระ  ก็ทำไปสิ่งใดๆตามใจตัว  แล้วหลวงตาก็มาทำโทษทีหลัง 

เหมือนกรรมที่ตามเรามา  โดยที่เราไม่รู้ว่าจะกลับมาคืนสนองในรูปแบบใด 

ที่เสียดายมากคืออ่านตัวอักษรที่หลวงตาเขียนไว้ให้พระหนุ่มแกะสลักไม่ออก  อยากรู้จังเลยค่ะว่าเขียนว่ากระไร

หนังเรื่องนี้ชวนคิดดีเหลือเกินค่ะ ทุกช็อตทุกซีนเต็มไปด้วยสัญลักษณ์  และคุณหมอกับ อ.มัท ก็วิเคราะห์วิจารณ์และวิพากษ์ไว้ดีมากแล้ว  ดิฉันเลยเพียงโพสต์ตามมาสั้นๆเพื่อยืนยันว่าดูแล้ว   และชอบค่ะ  ติดใจภาพธรรมชาติที่ถ่ายทำอย่างพิถีพิถันเหลือเกิน 

อย่างไรก็ตาม ดิฉันก็ไม่สามารถนำมาให้เด็กๆดูร่วมกันได้ พร้อมๆกันได้  เพราะความละเอียดอ่อนของหนังบางตอน  หากเขาสนใจก็คงต้องให้ไปหาดูเอง  แล้วก็สามารถมาคุยกันในชั้นเรียนได้   

ขอบพระคุณคุณหมอสุธีมากนะคะ ที่แนะนำหนังชวนคิดให้ดูและได้ฝึกตีความอย่างสนุกสนาน  ทำให้อยากหาหนังที่เล่าเรื่องด้วยภาพมาดูอีกหลายเรื่อง  ขอบคุณ อ.มัทด้วยนะคะ  ที่เป็นแรงบันดาลใจให้พี่แอมป์ต้องใช้ขันติ  ไม่เผลอใจลากเมาส์ปรื๊ดๆๆๆบน"ไฮไลต์สีแดงแปร๊ด"ของ อ.มัท

เลยทำให้ต้องหาหนังเรื่องเรื่องนี้มาดูก่อนอ่านเฉลยจนได้  แนวๆว่าจะบรรลุธรรมไปได้อีกหนึ่งข้ออะค่ะ    : )             : )

ขอบพระคุณ อ.แอมป์ครับที่กรุณาเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

แม้ว่า "แก่น"ของศาสนาพุทธ จะเหมือนกันทุกนิกาย แต่ "ลีลา" ในการแสดงออกแตกต่างกันมากครับ

พระในนิกาย เถรวาท, มหายาน, หรือแม้แต่วัชรยาน ก็มีวัตรปฏิบัติที่ต่างกันอย่างมากมาย

สารคดี "ตามรอยพระพุทธเจ้า" นำเสนอเรื่องนี้ว่า "ลีลา" เหล่านี้ เป็นเปลือกที่ห่อหุ้มแก่นแท้ของศาสนาเอาไว้

เปลือกในความหมายนี้เป็นความหมายที่ดีนะครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องเนื้อหาและแก่นเอาไว้

แต่เปลือกนั้นแปรเปลี่ยนไปตามพื้นที่ ภูมิประเทศ และ "จริต" ของคนในละแวกนั้นๆ

บางทีเราซึ่งอยู่ภายใต้เปลือกของเถรวาท ก็ไม่เข้าใจ ลีลาของฝ่ายมหายาน

เลยทำให้การตีความของเราต่อหนังเรื่องนี้ยากกว่าคนในวัฒนธรรมมหายานครับ

ผมว่าเรื่องหนึ่งที่มีลีลาแตกต่างกันมากคือ การสละชีวิตนี่ล่ะครับ

ผมเข้าใจว่าลีลาของพระในหนังเรื่องนี้เป็นลีลาของพระเซนครับ

ผมคิดเอาเองว่าการสละชีวิตอาจจะเป็นขั้นตอนหนึ่งของการปฏิบัติธรรมก็ได้

เซน มีวิธีมองความตายแตกต่างมากครับ

ผมไม่รู้ว่าในเนื้อหาตำราเซนพูดถึงความตายไว้อย่างไร

แต่ที่แน่ๆ พวกนักรบซามูไร ที่อิงปรัชญาชีวิตไว้กับปรัชญาเซนเป็นอย่างสูงนั้นมีวิธีมองความตายที่แตกต่างกับคนทั่วไปครับ

ระยะผมนี้กำลังอ่าน หนังสือ the book of five rings, Hagakure: The book of the Samurai เลยอดไม่ได้ที่จะเอามาเล่าให้ฟังครับ

ลองพิมพ์บางส่วนจากหน้าแรกของหนังสือเล่มนี้ให้อ่านนะครับ

 The Way of the Samurai is found in death. When it comes to either/or, there is only the quick choice of death. It is not particularly difficult. Be determined and advance. To say that dying without reaching one's aim is to die a dog's death is the frivolous way of sophisticates. When pressed with the choice of life or death, it is not necessary to gain one's aim.

 We all want to live. And in large part we make our logic according to what we like. But not having attained our aim and continuing to live is cowardice. This is a thin dangerous line. To die without gaining one's aim is a dog's death and fanaticism. But there is no shame in this. This is the substance of the Way of the Samurai. If by setting one's heart right every morning and evening, one is able to live as though his body were already dead, he gains freedom in the Way. His whole life will be without blame, and he will succeed in his calling.

 จากหนังสือ HAGAKURE: The book of Samurai

http://www.amazon.com/s/ref=nb_ss_gw/104-3404246-5141538?initialSearch=1&url=search-alias%3Daps&field-keywords=hagakure

ขอบคุณ อ.แอมป์ กับมัทนา อีกครั้งนะครับ ที่กรุณาเข้ามาทั้งให้ความเห็นดีๆ และให้กำลังใจผมในการเขียน blog

เจริญธรรมครับ

สุธี

นึกถึงเลยกลับมาอ่านค่ะ ดีใจได้เจอพี่แอมป์

(เขียนไว้ในอนุทินด้วยค่ะ)

มัทได้ไปเจอ อ.เซ็น "ของจริง" มาตอนไปสัมมนาคิวโดะ ได้เรียนรู้มากมายเลยพี่สุธี แต่คิวโดะเป็นบูโดะที่ไม่เหมือนซามูไร มัทก็เลยยังไม่เข้าใจเรื่องการฆ่าตัวตายอยู่ดี เรื่องนี้พี่ณัชรเขียนเป็นวิทยานิพนธ์เลย ไว้ต้องรออ่าน

มัท defend วันพุธหน้าแล้วหล่ะพี่! เพิ่งจะมาเริ่มตื่นเต้นเมื่อคืนเหอะๆ

lb2scl

ไม่รู้จะมีคนอ่านอีกมั๊ย

ประตูไม่มีกำแพง=เคยเห็นคนไม่ข้ามทางม้ายลายมั้ยล่ะ

ประตูนั้นมี แต่คนเลือกทางที่ง่ายกว่าเสมอ ผู้ทรงศีลสำรวมเลือกประตู

แต่เวลาที่เณรมีกิเลสลืมตนจึงเลือกเดินนอกประตูไง

น้ำขึ้นและลง=ในทางาพยนต์มันน่าจะเป็นแค่เครื่องบอกฤดูกาลเท่านั้นแหละ

ทำไมเณรจับงูด้วยมือเปล่า=เณรไม่รู้ว่ามันมีพิษไง

อ่าวและหลวงพ่อรู้ว่างูมีพิษแล้วให้เณรไปจับทำไมล่ะเฟ้ย=พอรูว่ามันมีพิษไง เลยรู้ว่าจับได้

อ่ะ งงอ่ะดิ กิ้วๆ

หลวงพ่อเผาตัวเองทำไม= เรื่องธรรมดา ศพเน่าเปื่อยผู้เตรียมใจละสังขารได้ระลึกถึงความตายตน จะทิ้งร่างไว้เป็นภาระให้ใครละ เณรก็ติดคุกไปแล้ว หลวงพ่อท่านไม่ได้รู้อนาคตหรอก ท่านคิด เณรออกจากคุกจะไปไหนล่ะก็ต้องกลับมาใช้มั้ย จะทิ้งศพไว้เป็นที่อนาจทำไม ท่านจึงเลือกปิดโสตทั้ง5แล้วหายไปเลยไง

แล้วจะแบกพระไปบนภูเขาทำไมเนี่ย=ไม่รู้ครับ แต่จากมุมมองที่พระพุทธรูปมองกลับมาที่ศาลานั้น

ทุกอย่างมันเล็กจริงๆ

-พระอยู่กับสีกาได้ครับพระญี่ปุ่นยังมีภรรยาได้เลย มันตีความต่างกันครับ

หนังเกาหลีมีคามละเอียดอ่อนมากครับ แนะนเรื่อง ยายตัวร้ายกับนายเจี๊ยมเจี้ยม 555

อาจจะคิดว่าหนังวัยรุ่นไร้สาระ หนังเรื่องดีดังมากครับเพาะนางเอกน่ารัก ฮอลลี่วู้ดซื้อไปทำใหม่เลยทีเดียว

แต่ถ้าดูกันจริงซ่อนสัญลักษณ์และตีความเรื่องพรหมวิขิตได้ละเอียดอ่อนมากๆ แนะนำให้ดูครับ

ขอโทษที่ผ่านมาแล้วเรื่อยเปื่อยครับ

ขอบคุณคับ คุณผ่านมาดู

ผมชอบการตีความท่อนนี้ของคุณมาก

"ประตูไม่มีกำแพง=เคยเห็นคนไม่ข้ามทางม้ายลายมั้ยล่ะ

ประตูนั้นมี แต่คนเลือกทางที่ง่ายกว่าเสมอ ผู้ทรงศีลสำรวมเลือกประตู

แต่เวลาที่เณรมีกิเลสลืมตนจึงเลือกเดินนอกประตูไง"

คือผมเพิ่งได้ดู เมื่อครู่นี้เองครับ งงในหลายส่วนมาก แต่พอเข้าใจว่า หนังต้องการสื่ออะไร

ผมอยากขอคำแนะนำว่า ผมจะหาหนังเรื่องนี้ได้จากไหนบ้างครับ ขอบคุณครับ

ดูเรื่องนี้สองรอบแล้วในทรูวิชั่น ซึ่งตัดเยอะมาก

มามีโอกาสได้ดูเวอร์ชั่นเต็ม ๆ ในชั้นเรียน

เรื่องหลวงตาฆ่าตัวตายตอนแรกก็สงสัยมาก

แต่ตอนหลังก็คิดว่ามีประเด็นอยู่เหมือนกัน ที่บอกว่าไม่อยากทิ้งสังขารให้เป็นภาระของคนอื่น

แต่ถึงอย่างไรการฆ่าตัวตายดูจะผิดหลักศีลธรรมอยู่ดี...ในความคิดของดิฉัน

แต่มีหลายกรณ๊มากที่พระญี่ปุ่นหรือพระธิเบตมีแนวคิดในลักษณะนี้ค่ะ

คือตั้งใจทำตัวเองให้เป็นมัมมี่

โดยการฉันเปลือกถั่วอยู่หลายปี และเอาเชือกรัดคอและผูกกับหัวแม่โป้งเท้า

ประมาณว่าเชือกจะค่อย ๆ รัดไปทีละนิด ๆ จนลมหายใจเผ่านเข้าสู่ร่างกายน้อยมากแล้ว

ท่านก็จะละสังขารไปเองด้วยอาการสงบ พร้อมกับกายหยาบที่ไม่เน่าเปื่อย

ที่ยุคหนึ่งที่ธิเบตโดนเผาทำลายโดยจีนแผ่นดินใหญ่ มัมมี่พระจึงถูกทำลายไปหมด

พระรุ่นใหม่(ในยุคนั้น) จึงพร้อมใจกันทำมัมมี่ตัวเอง

เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น ในยุคข้าวยากหมากแพง

เพราะใหญ่รูปหนึ่งก็ทำมัมมี่ตัวเอง เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน(เขาเขียนไว้อย่างนั้นนะคะ)

แต่่อย่างไรก็ตาม ดิฉันก็ยังมองไม่เห็นเหตุของการ "ดับ" ตัวเอง แบบนี้อยู่ดี

ทำไมไม่ปล่อยให้มันเป็นไปของมันอย่างนั้นเองล่ะ

ใครรู้ช่วยตอบด้วยค่ะ

อยากดูจังเลยค่ะ แต่หาไม่ได้เลย มีแชร์ที่ไหนมั้ยคะ

เพิ่งได้ดูค่ะ แต่เป็นภาษาเกาหลี ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ขอชมว่าคนทำหนังทำได้ดีมาก ต้องบอกว่า เป็นโกอานของเซ็นที่เปลี่ยนแปลงตาม

ยุคสมัย ตามความคิดเห็นส่วนตัว ประตู ที่มีขอบหมายถึงหนทางแห่งการดับทุกข์ คือแคบ เดินยาก แต่หนทางที่นำด้วยกิเลส กว้าง

เดินได้สบ๊ายสบาย

- เณรศึกแล้วแบกพระพุทธรุูปติดตัวไปด้วย สุดท้ายเป็นโจร และแบกกลับมา แต่หลวงจีนเฒ่าแบกแมว แต่บรรลุธรรม แสดงให้เห็นถึง

การเคารพแต่เพียงภาพลักษณ์ แต่ไม่ปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงสอน ก็ไม่มีประโยชน์ แต่จุดที่น่าสนใจคือ สุดท้ายหลวงจีนเฒ่าก็

ต้องปล่อยแมว เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ( ความคิดเห็นส่วนตัวนะค่ะ )

-ดิฉันคิดว่าหลวงจีนเฒ่าไม่ได้ฆ่าตัวตายหลอกค่ะ แต่จากที่ทราบมาผู้ที่บรรลุธรรมท่านจะรู้เวลาดับขันธ์ ท่านจึงเตรียมทุกอย่างเพื่อไม่

ให้เป็นภาระแก่ผู้อื่น บางทีพระเฒ่าอาจดับขันธ์ก่อนไฟลุกท่วมก็ได้ และท่านอาจรู้ว่าลุูกศิษย์จะกลับมา เพราะท่านยกมือบ๊ายบายตอน

ลูกศิษย์ไปรับโทษ แสดงว่าท่านรู้แล้วว่าจะไม่ได้เจอกัน

-ผู้หญิงกลับมาอีกครั้ง พันหน้ามาให้คนดูอึดอัดเล่น เดาว่า เพราะต้องการสื่อว่า ความงามของผู้หญิงทำร้ายพระหนุ่มไม่ได้แล้ว เพราะ

ขนาดผู้หญิงเอื้อมมือไปลูบเท้ายังหันไปนอนในกรอบประตูตัวเอง

-เณรน้อยคนที่สอง รู้สึกจะเป็นนักแสดงคนแรก และคิดว่าเป็นลูกพระหนุ่ม แต่ก็ไม่แน่ใจ แต่ถ้าเป็นอย่างน้ัน เขาอาจต้องการสื่อถึงการ

เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร ดิฉันดูจบแล้วต้องถามตัวเองว่า การที่เรายังต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารนั้น เราดีขึ้นหรือแย่ลง เพราะสุด

ท้ายเณรน้อย เอาหินยัดเข้าไปในปากปลา และกบ ซึ่งพอปล่อยให้ว่ายน้ำแล้ว ดิฉันรู้สึกโหดร้ายมาก คือพวกเขาดูทรมานมาก ไม่เหมือน

ตอนแรกที่แค่เอาเส้นด้านผูก ซึ่งดูเป็นการเล่นสนุก ๆ ของเด็ก

ดูปี2022ค่ะเข้าใจคนเดียวแต่บอกคนอื่นไม่ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท