หลวงพ่อพระชีว์วัดบูรพาราม


หลวงพ่อพระชีว์วัดบูรพาราม

  ประวัติความเป็นมาเป็นพระพุทะรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก ประดิษฐาน ณ วัดบูรพาราม ถ.กรุงศรีใน ต. ในเมือง อ. เมือง ใกล้ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์หลวงพ่อพระชีว์หรือหลวงพ่อประจีองค์นี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด คาดว่า สร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดบูรพารามนับเป็นปูชนียวัตถุที่ชาวสุรินทร์เคารพบูชา ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของเมืองสุรินทร์ สิ่งที่น่าสนใจศึกษาและเรียนรู้

ปูชนียวัตถุสำคัญที่ถือว่ากำเนิดมาพร้อมกับวัดบูรพาราม และเป็นที่เคารพนับถือว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุรินทร์ ก็คือ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นองค์ประธานในวัด ที่เรียกขานกันทั่วไปว่า "หลวงพ่อพระชีว์" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ประดิษฐานอยู่ในมณฑปจัตุรมุขก่ออิฐถือปูน อยู่ด้านตะวันตกของพระอุโบสถปัจจุบัน   สำหรับ หลวงพ่อพระชีว์ องค์นี้นับว่าแปลกอย่างหนึ่ง คือ ไม่สามารถสืบประวัติได้ว่าสร้างขึ้นเมื่อไร และท่านผู้ใดเป็นคนปรารภมา พอถามคนแก่อายุร้อยปี ก็ได้คำตอบว่า เคยถามคนอายุร้อยปีเหมือนกัน เขาก็บอกว่าเห็นองค์ท่านอยู่อย่างนี้มาแล้ว โดยสรุปก็สามารถสืบสาวไปได้แค่ ๒๐๐ ปีก็จบ และไม่ทราบว่าผู้ใดสร้างและสร้างเมื่อไรสันนิษฐานว่าคงจะสร้างมาพร้อมกับเมืองสุรินทร์ และก็สันนิษฐานกันต่อไปว่าทำไมจึงชื่อว่า "หลวงพ่อพระชีว์" เป็นชื่อแต่เดิม มี "ว" การันต์ คือ "ชีวะ" ก็คงจะเป็น "ชีวิต" ซึ่งอาจยกย่องท่านว่าเป็นเสมือน เจ้าชีวิต หรือเป็น ยอดชีวิต ของคนสมัยนั้นกระมัง ข้อสันนิษฐานอีกทางหนึ่งก็ว่า อาจจะเกี่ยวกับ ลำน้ำชี เป็นลำน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ ที่ได้ชื่อนี้อาจจะได้ไม้พิเศษ หรือดินพิเศษ มาจากลำชี มาปั้นเป็นองค์ท่านกระมัง จึงได้ชื่ออย่างนี้   เคยกราบเรียนถามหลวงปู่ ท่านก็ไม่ทราบประวัติของ หลวงพ่อพระชีว์ เช่นเดียวกัน ท่านว่าก็เห็นองค์ท่านอยู่อย่างนี้แหละ แต่ไหนแต่ไรมา ตั้งแต่เล็กจนโตมาก็ถามคนโบราณเช่นเดียวกัน เขาก็ว่า "ก็เห็นอยู่อย่างนี้" ถ้าย้อนนึกถึงสมัยก่อน เราต้องยอมรับว่า แถวสุรินทร์ ซึ่งถือเป็นเมืองบ้านนอกมีความอัตคัด เรื่องพระพุทธรูปที่จะกราบไหว้กันเหลือเกิน เมื่อสมัย ๑๐๐ ปี หรือ ๗๐-๘๐ ปีที่ผ่านมา หรือย้อนไปถึง ๒๐๐ ปี จะเห็นว่าแถวนี้ไม่มีพระพุทธรูปสำริด หรือทองเหลือง มีเพียงพระพุทธรูปที่ทำด้วยไม้ หรือดินปั้น ซึ่งก็ไม่ได้ปั้นให้ได้ปุริสลักษณะที่แท้จริง เพียงแต่ทำขึ้นเสมือนหนึ่งว่าสมมติให้เป็นพระพุทธรูปเท่านั้นสมัยนั้นจึงไม่มีพระพุทธรูปที่งดงามให้กราบไหว้ "ด้วยเหตุนี้กระมัง คนสุรินทร์สมัยนั้นจึงไม่ค่อยสวยงาม ไม่ค่อยมีลักษณะที่ดี เพราะการสร้างพระพุทธรูปไม่ได้พระพุทธรูปที่งาม เมื่อกราบติดอกติดใจก็ไม่ได้ลูกเต้าที่งดงามกระมัง" ในสมัยนั้น แถวจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ หรือแถบอิสานใต้ ยังไม่มีพระพุทธรูปปั้นองค์ไหนที่งดงาม หรือมีลักษณะที่มีอำนาจและก็ไม่มีขนาดใหญ่เท่ากับหลวงพ่อพระชีว์เลย ด้วยท่านมีขนาดใหญ่และดูเคร่งขรึมมีอำนาจน่าเกรงขาม ชาวบ้านจึงนับถือท่านในด้านความศักดิ์สิทธิ์   แม้ทางราชการ ในสมัยที่ข้าราชการมีการทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ก็ต้องมาทำพิธีต่อหน้า หลวงพ่อพระชีว์ องค์นี้เองด้วยความเคารพนับถือท่านในแง่ความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนจึงเชื่อว่าท่านสามารถดลบันดาล ให้เขาสำเร็จประโยชน์โสตถิผลอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ แถวสุรินทร์ และบุรีรัมย์ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่หมิ่นเหม่ต่ออันตราย ด้วยการเป็นเป้าหมายโจมตีทางอากาศ สมัยนั้น พ.ศ. ๒๔๘๘ พวกอาตมายังเป็นเด็ก เรียน ป.๑-ป.๒ จะมีเครื่องบินวนเวียนไปทิ้งระเบิดแถวกัมพูชา และแถบสุรินทร์-บุรีรัมย์ ชาวบ้านตกอกตกใจ ก็ได้แต่ไปกราบไปไหว้ขอบารมีหลวงพ่อพระชีว์เป็นที่พึ่ง ขออย่าให้บ้านเมืองถูกระเบิดเลย หรือเครื่องบินมาแล้วก็อย่าได้มองเห็นบ้านเมือง
นอกจากนี้ชาวบ้านก็มักพากันมาบนบานศาลกล่าวเวลาเกิดยุคเข็ญต่าง ๆ เช่น เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บ เมื่ออหิวาตกโรค หรือโรคฝีดาษมีการระบาด ซึ่งสมัยนั้นถ้ามีโรคระบาดมาแต่ละชุด ผู้คนจะล้มตายจำนวนมาก พวกเขาเหล่านั้นก็ได้หลวงพ่อพระชีว์เป็นที่พึ่งทางใจ ให้เขารู้สึกปลอดภัย หรือพ้นภัยพิบัติ คนสุรินทร์จึงนับถือท่านตลอดมา

หมายเลขบันทึก: 102836เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2007 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 13:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • จ.สุรินทร์ วัดวาอาราม มีน้อย  อาจจะเนื่องมาจาก  ถิ่นเก่าดั้งเดิม  ผู้คนอพยพ มาจากขอม ซึ่งเดิมๆจะนับถือพรามณ์ หรือเทวรูปเสียส่วนใหญ่  พื้นที่มีป่าใหญ่มากมาย  พระสงฆ์ที่จะมาเผยแผ่พุทธศาสนาคงจะมีน้อยมาก  ผลทำให้พุทธศาสนารุ่งเรืองช้ากว่าในเขตทางภาคเหนือหรือภาคกลาง

นี่คือความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ นำไปอ้างอิงอะไรไม่ได้ได้

ขอบคุณครับ

วิสสุตา กังวานศุภพันธ์

ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อพระชีว์ยาวมากและดีมาก

หลวงพ่อท่านศักดิ์สิทธิ์จริงๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท