เสพวิกฤติดุจภักษาหาร


คำทำนาย หนุนเนื่องในแต่ละปี ยามเมื่อมีพระราชพิธีเสี่ยงทาย หรือ หากงานราษฎร์พิธีชาวบ้าน ได้เริ่มต้น คำทำนายจากน้ำท่าฝนฟ้า ว่าบริบูรณ์เพียงใด จึงบังเกิดขึ้น ไม่นับรวมคำทำนายถึงชีวิตแห่งเมือง และชะตาแห่งแผ่นดินที่เฝ้าถาม

เสพวิกฤติดุจภักษาหาร

 

จุดเริ่มต้นหนึ่งในอาชีพนักข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้มีโอกาสแวะเวียนในสายข่าวอาชญากรรม ความหมายของความตาย การบาดเจ็บ อุบัติเหตุ ฆาตกรรม ล้วนกลายเป็นดุจลมหายใจของนักข่าว จนยากปฏิเสธหลีกเลี่ยง หากต้องการยืนหยัดในสายอาชีพนี้

 

อ้างอิง รูปภาพ จากภาพประกอบบทความ - มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 

 

ครั้งหนึ่งที่มีโอกาสได้ฉงนกับเรื่องราวอันธรรมดา แต่กลับสร้างความประหลาดใจให้ชีวิต โดยมาจากมุมมองที่ได้เห็นได้ฟังของสายข่าวสายนี้ คือเมื่อครั้งที่ได้เวียนไปเข้าเวรข่าว ช่วยงาน และช่วยวิ่งข่าว หากมีเรื่องราวเกิดขึ้นในข้ามคืน

 

หลังจากวิ่งไปมา จนกระทั่งไปจบที่โรงพยาบาลตำรวจ หลังมีข่าวอุบัติเหตุ คำถามน่ารักน่าฟังของนักข่าวที่วิ่งกระหืดกระหอบตามหลังมาก หลังจากเข้ามายืนเรียบเรียงเรื่องราว จากนักข่าวสำนักอื่น ที่วนเวียนเข้ามาก่อน คือคำถามที่ว่า

 

ตายกี่ศพ - ว้า - ทำไมวันนี้ตายน้อยจัง

 

แทบจะไม่ประหลาดใจนัก หากชั่วโมงบินวันนั้นของผมยาวนานพอ แต่สำหรับประสบการณ์ในวันนั้น คือ อาการอ้าปากค้าง หลังฟังเรื่องธรรมดาในสายตาของนักข่าว ที่สัมผัสความตาย จนเผลอหลงลืมกับความจริงของชีวิตมนุษย์

 

ผมคิดขึ้นมาทันที ว่า หากญาติพี่น้องคนใดใครสักคนอันเป็นที่รัก แม้เพียงคนเดียว มีเหตุต้องพลัดพรากด้วยความตาย โดยเฉพาะที่ไปอย่างทันทีทันใด เราจะรู้สึกเช่นไร

 

ไม่นับกับความสูญเสียที่เห็นญาติพี่น้องหลายคน สูญเสียไปในคราวเดียวกัน โดยสิ่งที่เห็นและเข้าใจของผม มีเพียงว่า เราไม่อยากสูญเสียสิ่งใดไปแม้จะเล็กน้อย เมื่อเทียบแบบตัวเลข เพราะในชีวิตจริง เราทุกคนต่างไม่ต้องการสูญเสียแทบทั้งสิ้น

 

สิ่งใดคือโจทย์สำคัญ ที่ทำให้คนบางคน หลงลืมกับความจริงอันเจ็บปวด

 

 

 

หลังจากนั้น หลายปีที่ได้มีโอกาสได้ยินได้ฟัง เรื่องราวจะปากคำของผู้ที่มีวิชาชีพท่ามกลางความสูญเสีย และการตาย

 

ไม่ว่าจะในขณะที่เดินผ่าน แล้วได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่มูลนิธิ บ่นถึงความเงียบเหงาในค่ำคืน หรือบ่นว่าเมื่อวาน แม้มีอุบัติเหตุแต่ก็ตายกันน้อย หรือกระทั่งหลุดปาก คำว่า เซ็ง ที่ตามมาด้วยเหตุผลว่า เพราะวันนี้คนตายกันน้อยเลยต้องหงุดหงิด

 

ในท่ามกลางความจริงของโลก ความเคยชิน และความธรรมดา มักอุบัติขึ้นเพื่อกลบความรู้ร้อนรู้หนาวในชีวิตเราได้บ่อยครั้ง บ่อยไปที่สร้างความด้านชาให้กับจิตวิญญาณ และตอกย้ำให้ความละเอียดอ่อน กลายเป็นความกระด้าง

 

วิชาชีพที่ข้องแวะกับความตาย ล้วนมีทางเลือกในโลกของการรับรู้ ล้วนประสบเรื่องราวแห่งความตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งในด้านของการได้โอกาสตระหนัก และในด้านของโอกาสที่จะได้ชินชา กับการรับรู้ และกับความหมายของชีวิตที่ผ่านเลยไป

 

เช่นเดียวกับครั้งหนึ่ง ที่มีโอกาส อ่านงานแปล เรียบเรียง และลำดับความงานเขียนเชิงจิตวิทยามวลชน ชิ้นเยี่ยมของ ERIC HOFFER ซึ่งอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ได้แปลจนกระทั่งตีพิมพ์ในปี 2524

 

งานเขียนชิ้นที่ชื่อ กำเนิดมวลชนปฏิวัติ ได้แบ่งแยกประเภทของผู้คน ที่นับเนื่องจนกลายเป็นมวลชนปฏิวัติ ในหลากหลายประเภท และหลากหลายลักษณะการดำรงอยู่ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเหมือนกัน และกลายเป็นประสบการณ์ร่วมของมวลชน ที่พร้อมจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน นั่นก็คือ ความไม่พึงใจในปัจจุบัน และความคาดหวังถึงสิ่งที่ดีกว่า ด้วยการโหมแรงไฟไปกับทิวแถวขบวนมวลชน สละและละตัวตนปัจเจกชน ทิ้งไว้เบื้องหลัง

 

จนแม้กระทั่งการกระโดดเข้าสู่ขบวนแถว ที่เชื่อว่า ความรุนแรง เป็นเพียงทางออกในการก้าวผ่าน ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

 

ไม่ใช่เพราะประวัติศาสตร์ของมนุษย์อันยาวนานหรอกหรือ ที่ทำให้เรามีโอกาสเห็นบรรยากาศ ภาพแห่งความเปลี่ยนแปลง และร่องรอยเหตุการณ์ ผ่านหลังลมแห่งความเปลี่ยนผ่าน ได้ผ่านไป

 

กระแสลมที่นำความชินชา ความร้อนรุ่ม และอารมณ์ในท่ามกลางวิกฤติ ให้พัดโหมกลับไปกลับมา

 

เมื่อวานนี้ ขณะที่เห็นขบวนแถวของผู้คนจากภาพข่าว ซึ่งรายงานถึงการก้าวผ่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนไปสู่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ผมเห็นบุคคลซึ่งเคยยืนอยู่ท่ามกลามมวลชน เมื่อพฤษภาคม 2535 ในท่ามกลางความตายของผู้คน และผู้คนที่ไม่มีโอกาสหายใจในชั่วโมงนี้

 

ผมคิดถึงคำกล่าว ที่ว่า คนเราล้วนต้องเสพสิ่งต่างๆ แวดล้อมและรอบตัว เพื่อสร้างพลังแห่งการก้าวย่าง บ้างก็เสพแรงบันดาลใจเพื่อขับเคลื่อนฝัน บ้างก็เสพอาหารเพื่อเพียงพอต่อการใช้แรง บ้างก็เสพความสุขจากความอบอุ่นและความรัก เพื่อก้าวไปสู่กับความโหดร้ายภายนอก

 

แต่สำหรับวันนี้ ผมพบกับผู้คนบางกลุ่ม ที่เสพวิกฤติในสังคม เป็นดั่งภักษาหาร ที่นำมาความสูญเสีย เสียงร้องไห้ ความเจ็บปวดของผู้คน มาเป็นดั่งพลังขับเคลื่อนชีวิตเขา ไม่ต่างอะไรกับภาพพุทธทำนาย และตุงพระบฏในดินแดนทิเบต ที่ปีศาจเสพกินความฝัน เสพกินชีวิตผู้คน เพียงเพื่อข้ออ้าง ในการบรรลุสู่ดินแดนแห่งนิพพาน

 

ข้ออ้างและความจริง ล้วนได้รับการทดสอบ ตรวจสอบ และบันทึกไว้

จนเมื่อวันหนึ่งปรากฎขึ้น ทุกสิ่งก็ล้วนได้รับการตีความ

 

จนแม้วันนี้ ที่ได้มีโอกาสเห็นวิกฤติในชีวิตผู้คน วิกฤติในสังคม เป็นดั่งความชินชา เคยชินให้กับก้าวย่างของชีวิต เสพวิกฤติเหล่านั้น เพียงเพื่อเขาจะได้มีชีวิตอยู่

 

ผมไม่เข้าใจ ว่าระหว่างที่พระโคเสี่ยงทายเหล้ากับน้ำ พระโครู้ซึ้งดีถึงความเจ็บซ่านลิ้น จากความร้อนแรงของรสเหล้าเพียงใด หรือพระโครู้ดีถึงการเสพสิ้นซึ่งรสอันเร่าร้อน

 

ความตาย และการเดินทางสู่ความตาย ล้วนเป็นเรื่องราวปกติ ต่อการใช้ชีวิต เรียนรู้ และให้ชีวิตแก่กัน แต่ไม่ใช่สำหรับนำความตาย เป็นเครื่องสังเวย และบรรณาการต่อความฝันส่วนตัวเพียงลำพัง หรือนำความตาย เป็นเครื่องปลุกปลอบใจในการก้าวย่างของชีวิต ท่ามกลางความล้มเหลวของชีวิตส่วนตัว ที่ไม่สามารถค้นหาตัวตนแห่งความสุขอันแท้จริงในชีวิตของตนเองได้ จึงต้องนำ ต้องเสพความรุนแรงจากความตาย เป็นภักษาหารเล่นๆ ไปพลางก่อน

 

หรือผู้คนเหล่านี้ เสพวิกฤติ และเสพติดความตาย เป็นเรื่องปกติประจำชีวิตประจำวัน ในท่ามกลางสังคมบริโภค สังคมที่เราพร้อมจะเสพทุกอย่างในชีวิตที่ขวางหน้า ให้เป็นฐานะแห่งทรัพยากร ที่ผู้คนได้ร่วมกันอุปโภคบริโภค โดยไม่ต้องคิดให้ไกลตัวไปกว่านี้

หมายเลขบันทึก: 102310เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2007 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท