มิติแห่งสิทธิมนุษยชนในคำปราศรัยของ มหาศาสดา(ตอนแรก)


มิติแห่งสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 9 ซุลฮิจญะต์ ฮ.ศ. 9 / 18 มีนาคม ค.ศ.631 ณ ทุ่งราบอารอฟะต์ มหานครมักกะต์ เวลาบ่ายคล้อย

สิทธิมนุษยชน เป็นคุณลักษณะหนึ่งของศาสนาที่ถูกต้องและคุณธรรมแห่งศาสดา เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงสติปัญญาที่สมบูรณ์ของมนุษย์ มุสลิมที่สมบูรณ์คือผู้ที่รู้จักคุณค่าของสิทธิของผู้อื่น การยอมรับให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ เป็นความตกต่ำทางจริยธรรมและเป็นสภาพหนึ่งของคนป่าเถื่อน

อัลลอฮ์ กล่าวความว่า
" ผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิได้เป็นการฆ่าทดแทนชีวิตหนึ่ง
หรือ(ฆ่าโดย)สร้างความเดือดร้อน ก็เป็นเสมือนการฆ่า
คนทั้งมวล " ( 32 อัลมาอิดะต์ )

ท่านศาสดา ศอลฯ กล่าวว่า

لزوال الدنيا أهون على الله من قتل رجل مسلم

"สำหรับอัลลอฮ์แล้วให้โลกนี้พินาศไปยังเป็นเรื่องเล็กกว่าการฆ่าศรัทธาชนหนึ่งคน

รายงานโดย ติรมิซีย์ นะซาอีย์ และอิบนุอบีชัยบะต์

สุภาษิตกล่าวว่า " ฆาตกรรมปกป้องฆาตกรรม "

หน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้ตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชที่มีราชาเป็นเทพเจ้า และประชาราษฎร์เป็นข้าทาสที่ไม่มีสิทธิใดๆ ในอาณาจักรต่างๆทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก และเกิดเป็นความเชื่อว่า อำนาจคือความถูกต้อง

อัลลอฮ์กล่าวถึงคำพูดของฟาโรห์ผู้โอหัง ที่ได้กล่าวกับราษฎรชาวอียิปต์ ว่า ข้าเป็นองค์อภิบาลสูงสุดของพวกท่าน ( อันนาซิอาต 24 )

และว่า ข้าไม่ทราบว่าพวกท่านมีพระเจ้าอื่นจากฉัน( อัลกิศอศ 38 )

และคำพูดของกษัตริย์นัมรูดแห่งอาณาจักรบาบิโลน (อิรัก) โบราณ ว่า
ข้าให้เป็นให้ตายได้( อัลบากอเราะต์ 258 )

เมื่อรัศมีแห่งอิสลามได้เจิดจรัสขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ 7 แล้วได้กำจัดอาณาจักรเปอเซียร์ และโรมันได้ ทำไห้สามารถปลดปล่อยมนุษยชาติมากมายให้พ้นจากความมืดมน

ในยุคนั้น นักประวัติศาสตร์ให้ชื่อว่ายุคมืด (Dark Age) ในขณะที่มนุษยชาติตกอยู่ภายใต้ราชาผู้มีอำนาจเต็ม แต่อิสลาม ได้นำมาซึ่งหลักความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ การจำกัดขอบเขตอำนาจของผู้นำ หลักนิติรัฐ มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มีการยอมรับเสรีภาพส่วนบุคคล อำนาจตุลาการที่มีอิสระ และการตรวจสอบผู้นำ

บุคคอรีย์ได้รายงานว่าอบูซัร อัลฆิฟารีย์ ได้ต่อว่าชายคนหนึ่งว่า ไอ้ลูกคนดำ ชายคนนั้นได้ไปฟ้องร้องต่อท่านศาสดา ศอลฯ ท่านจึงกล่าวว่า

อบูซัร ท่านดูหมิ่นมารดาของคนๆหนึ่ง ท่านยังมีความป่าเถื่อน

ในยุคของคอลีฟะต์อุมัร บินคอตตอบ ภายหลังจากที่ญะบะละต์ บิน อัยฮัม กษัตริย์แห่งฆอซซาน เข้ารับอิสลาม ได้มาทำการเตาวาฟที่กะบะต์ ปรากฎว่ามีชายคนหนึ่งเดินเหยียบชายผ้า เขาจึงหันไปด้วยความโกรธและตบหน้าของชายคนนั้นทันที ชายผู้นั้นกล่าวว่า ฉันจะไปร้องทุกข์ต่ออมีรุลมุมินีน อุมัรได้เรียกกษัตริย์แห่งฆอซซานเข้ามา และถามว่า จริงหรือไม่ที่ชายคนนี้กล่าวว่า ท่านตบหน้าเขา ญะบะละต์กล่าวว่า ใช่ หากว่ามิใช่อยู่ต่อหน้าบัยตุลลอฮ์ ฉันฆ่าเขาด้วยดาบนี้แล้ว

อุมัร ทำไมล่ะ

เขาเหยียบชายผ้าของฉัน ขณะที่ฉันกำลังเตาวาฟญะบะละต์ตอบ

อุมัร ฉันให้ท่านเลือกเอาระหว่างท่านจะขอโทษเขา หรือให้เขาตบท่านคืน

ท่านถือว่าเขาเท่าเทียมกับฉันหรือ ? ฉันเป็นกษัตริย์แต่เขาเป็นแค่คนรับจ้างตักน้ำ ญะบะละต์ถามด้วยความไม่เข้าใจ

อุมัร อิสลามถือว่าพวกท่านเท่าเทียมกัน ไม่มีความแตกต่างระหว่างกษัตริย์กับคนรับจ้างตักน้ำ

ญะบะละต์ งั้นให้เวลาฉันหน่อย ให้ฉันคิดก่อน

อุมัรจึงให้เวลาสามวัน พอตกค่ำ เขาก็พาพลพรรคหนีไปยังเมืองโรมัน

อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า อิสลามมีความสูงส่งที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยหลักฐานยืนยันใดๆอีกแล้ว เพราะว่าหลักฐานเหล่านั้นมีมากเหลือคณา และเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าประชาชาติมุสลิมกลับปฏิเสธคุณค่าอันสูงส่งของอิสลาม และยึดติดกับประเพณีดั้งเดิมโดยไม่สนใจคำสอนของอิสลาม วิธีการเหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์เชิงรับ ที่ทำให้ศัตรูสามารถกำหนดเกมส์ให้เราเดินตามที่พวกเขากำหนดได้ การหลงระเริงอยู่กับอดีตและประวัติศาสตร์อันน่าภูมิใจทำให้เราละเลยวิธีการและสื่อในแปรเปลี่ยนคุณธรรมคำสอนอันสูงส่งดังกล่าวสู่ภาคปฏิบัติ

มุฮัมมัด ศอลฯ ไม่ใช่คนธรรมดา หากผู้คนยอมรับกันว่า มนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อการภักดีต่ออัลลอฮ์( อีบาดะต์ ) มุฮัมมัด ศอลฯ ก็เป็นแบบอย่างอันดีเลิศผู้สยบยอมย่อความเกรียงไกรแห่งองค์อัลลอฮ์

หากคิดว่า มนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อพิสูจน์ว่าใครกันที่มีผลงานอันประเสริฐที่สุด มุฮัมมัดก็คือผู้ที่มีประวัติชีวิตที่เหล่านักปรัชญา ราชันย์และจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ใฝ่ฝันอยากเป็นแม้เพียงเศษเสี้ยวของท่าน

เราเคยศึกษาชีวประวัติของผู้นำ แม่ทัพ นักคิดนักปรัชญามามากมาย แต่ว่าผลงานพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถเทียบได้เลยกับผลงานของท่านศาสดา ท่านเป็นปุถุชนผู้สร้างสังคมใหม่ ผู้แก้ไขความผิดพลาดอันยาวนานในอดีต ทำให้ชาวโลกได้หันหาทบทวนความผิดพลาดของตนเอง

เมื่อเราได้ศึกษาคำปราศรัยครั้งสุดท้ายของท่านในการประกอบพิธีฮัจญ์อาวรณ์ เป็นคำปราศรัยสั้นๆไม่กี่นาที แต่มีนัยมากกว่าคำปราศรัยทั่วไปหลายๆชั่วโมง เพราะท่านเป็นผู้มีวาจากระชับ สรุปเฉพาะใจความสั้นๆ

อย่างไรก็ตาม มิติแห่งสิทธิมนุษยชนในคำปราศรัยครั้งสุดท้ายของท่านในการประกอบพิธีฮัจญ์อาวรณ์ มิใช่เป็นบทบัญญัติใหม่ที่ท่านสรรค์สร้างขึ้นมา แต่เป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ต่อจากศาสดาเก่าก่อนที่ศาสนาคริสต์และยิวนับถือ เป็นการนำคำสอนเก่าก่อนมาปฏิบัติ

ท่านศาสดา ศอลฯสัมผัสได้ถึงวาระสุดท้ายของท่านที่ไกล้เข้ามา ท่านเห็นแล้วว่าประชาชาติที่ท่านสถาปนาขึ้นมาได้ตั้งมั่นอยู่อย่างองอาจบนหน้าแผ่นดิน พวกเขาได้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นมาแล้ว เสียงอาซานดังกึกก้องอยู่ทั่วทุกสารทิศ การละหมาดรวมกันดำรงอยู่ทั่วไป ท่านจึงไม่หวังอะไรสำหรับตัวท่านอีกแล้ว

ในขณะที่ท่านปราศรัย ในขณะเดียวกันท่านก็ได้สั่งลาด้วยความรักและห่วงใย

มิติแห่งสิทธิมนุษยชนในคำปราศรัยครั้งสุดท้ายของท่านในการประกอบพิธีฮัจญ์อาวรณ์ มีหลักการสำคัญดังนี้

1. มนุษย์ไม่ว่ามีสีผิวอะไรล้วนเสมอภาคกัน ผิวขาวก็ไม่แตกต่างจากผิวดำ เชื้อชาติยุโรปหรือแอฟริกาก็ไม่แตกต่างกัน กรณีพิพาทเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ ล้วนเป็นเรื่องงมงายไร้สาระ

ณ ที่นี้จึงควรสำนึกว่า ณ ปัจจุบันสภาพการณ์อันน่ารังเกียจแบบนี้ยังคงอยู่ ผู้คนบางเชื้อชาติถือว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น จึงพยายามเอาเปรียบผู้อื่นทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยที่สนธิสัญญาขององค์กรกลางของโลกไม่สามารถฉุดรั้งความชั่วช้าสามานย์เหล่านี้ได้

ท่านศาสดา ศอลฯ ได้ตอกย้ำถึงความหมายอันนี้ว่า

ท่านทั้งหลาย พวกท่านมีพระเจ้าองค์เดียวกัน พวกท่านมีบรรพบุรุษเป็นคนเดียวกัน พวกท่านมาจากอาดัม อาดัมนั้นมาจากดิน ผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกท่านคือผู้ที่เกรงกลัวต่ออัลลอฮ์มากที่สุด ชาติอาหรับมิได้ดีกว่าชาติอื่นนอกจากด้วยความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ฉันได้ชี้แจงแก่พวกท่านแล้วหรือไม่

พวกเขาตอบว่า ใช่

ท่านจึงกล่าวว่า โอ้อัลลอฮ์จงเป็นพยานด้วยเถิด

นอกจากนั้นท่านยังได้ย้ำถึงความวุ่นวายอันสืบเนื่องมาจากของความเสมอภาคว่า

2. ท่านศาสดาย้ำถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ เพราะว่าเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มีความเป็นมาอันยาวนานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ บางครั้งมีการเน้นสิทธิของสังคม บางครั้งเน้นสิทธิส่วนบุคคล บ้างมีการค้าเสรี บ้างมีการค้าควบคุม แต่ไม่ว่าเป็นระบบเศรษฐกิจใด ผู้คนก็ยังคงใช้ " ความเห็นแก่ตัว " เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นยุคโบราณก่อนประวัติศาสตร์ ยุคกรีกโรมัน ยุคล่าอาณานิคม หรือยุคการค้าเสรีในปัจจุบัน ทุกคนต่างมุ่งประโยชน์ส่วนตน บรรษัทของตน ประเทศของตน กลุ่มของตนสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด โดยไม่สนใจว่าเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ที่มิใช่พรรคพวกของตน บรรษัทของตน ประเทศของตน กลุ่มของตน จะเดือดร้อนสักเพียงใดก็ตาม

ตราบใดที่โลกขาดศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ต่อให้มีกฎเกณฑ์ใดๆที่มนุษย์คิดสรรค์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ ยูเนสโก องค์กรการค้าโลก หรืออื่นๆ ก็เป็นเพียงเวทีแห่งการแก่งแย่งทรัพยากรของประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน ประเทศมหาอำนาจกับประเทศที่อ่อนแอ การต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัทข้ามชาติ การยื้อแย่ง ต่อรอง เพื่อประโยชน์สูงสุดส่วนตนเป็นหลัก

ด้วยนัยดังกล่าว ท่านศาสดาจึงกล่าวอมตะวาจาในครั้งนี้ว่า

" ไม่อนุญาตให้คนใดเอาทรัพย์ของพี่น้องของเขา นอกจากด้วยความเต็มใจจากเจ้าของ "

สภาพการณ์ที่ประเทศยากจน หรือกลุ่มคนส่วนใหญ่ในแต่ละสังคม ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากประเทศมหาอำนาจต่างชาติ หรือจากชนชั้นอภิสิทธิ์ชนคนชาติเดียวกัน ยังคงดำรงอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นสิ่งยืนยันถึงความจำเป็นที่ท่านศาสดาต้องเน้นหนักถึงเรื่องนี้ในปัจฉิมเทศนาของท่าน มันเป็นเสมือนคำเตือนว่า สิ่งนี้เป็นปัญหาสำหรับมนุษยชาติทุกยุคทุกสมัย

สมควรอย่างยิ่งที่สังคมโลกยุคใหม่จะต้องวางกฎเกณฑ์สำหรับเศรษฐกิจเสรีในเวทีการค้าโลก หรือในสังคมของประเทศนั้นๆ ว่า " ไม่อนุญาตให้คนใดเอาทรัพย์ของคนอื่น นอกจากด้วยความเต็มใจจากเจ้าของ " มิใช่การได้มาเพราะลูกเล่นทางการต่อรองหรือความเป็นอภิสิทธิ์ชนในสังคมที่เป็นผู้กำหนดกติกา

ท่านศาสดา ได้ตอกย้ำว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ไม่ต่างกับการละเมิดต่อสิ่งหวงห้ามทางศาสนา

ท่านกล่าวว่า

" มนุษย์ทั้งหลาย พวกท่านรู้หรือไม่ว่า พวกท่านอยู่ในวันอะไร เดือนอะไร และเมืองอะไร ?"

พวกเขาตอบว่า " วันหวงห้าม เดือนหวงห้าม และเมืองหวงห้าม "

ท่านกล่าวต่อไปว่า

" ชีวิตของพวกท่าน ทรัพย์สินของพวกท่าน เกียรติของพวกท่าน เป็นสิ่งที่ละเมิดมิได้ แล้วพวกท่านจะได้พบกับองค์อภิบาลของพวกท่าน เหมือนกับการหวงห้ามการละเมิดต่อวันนี้ เดือนนี้ และเมืองนี้ จนกว่าพวกท่านจะพบกับองค์อภิบาลของพวกท่าน แล้วพระองค์จะสอบสวนถึงการกระทำของพวกท่าน ฉันได้ชี้แจงแก่พวกท่านแล้วหรือไม่

พวกเขาตอบว่า ใช่

ท่านจึงกล่าวว่า โอ้อัลลอฮ์จงเป็นพยานด้วยเถิด

3. การละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเศรษฐกิจยังหมายความถึงดอกเบี้ยด้วย เพราะว่าดอกเบี้ยเป็นกลไกในการขูดรีดทรัพย์สินของผู้ที่ด้อยกว่า ในอดีตเป็นธุรกรรมธรรมดาง่ายๆ แต่ในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำระดับชาติหรือส่วนบุคคล มีทั้งกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ค่าธรรมเนียม ค่าคอมมิชชั่น หรืออื่นๆ ประเทศยากจนที่ต้องการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานใดๆ ก็ทำการกู้ยืมจากประเทศร่ำรวย โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องสั่งซื้อวัสดุจากประเทศของพวกเขา บรรษัทของพวกเขา จะต้องจ้างที่ปรึกษาและคนงานจากประเทศเหล่านั้น แล้วกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามต้องการ โดยที่เงินกู้นั้นเป็นเงินเดือนของพนักงานดังกล่าวและเป็นราคาวัสดุที่พวกเขาให้มา ให้กู้หนึ่งร้อย เพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์หลายเท่าตัว

ประเทศยากจนหลายๆประเทศในปัจจุบันจึงใกล้ล้มละลายจากการที่ต้องจ่ายคืนหนี้อันมหาศาล เพราะกฎเกณฑ์ที่เอารัดเอาเปรียบเช่นนี้

ท่านศาสดา กล่าวว่า

" ดอกเบี้ยสมัยญาฮิลียะต์(ยุคก่อนอิสลาม)เป็นโมฆะ พวกท่านมีสิทธิเฉพาะเงินต้นของพวกท่านเท่านั้น พวกท่านจะไม่มีการเอาเปรียบและไม่ถูกเอาเปรียบ อัลลอฮ์กำหนดว่าจะต้องไม่มีดอกเบี้ย ดอกเบี้ยแรกที่ฉันจะยกเลิกคือดอกเบี้ยลุงของฉัน อับบาส บินอับดุลมุตตอลิบ " ซึ่งพ่อค้าใหญ่ที่ประกอบธุรกิจดอกเบี้ย

อารยธรรมที่หลงใหลในวัตถุนิยมปัจจุบัน ไม่รับรู้นอกจากวันนี้และผลกำไรในวันนี้ ส่วนดำรัสของอัลลออ์ที่ว่า

وَإِن كَانَ ذُو عُسْرَةٍ فَنَظِرَةٌ إِلَى مَيْسَرَةٍ وَأَن تَصَدَّقُواْ خَيْرٌ لَّكُمْ إِن كُنتُمْ تَعْلَمُونَ

" หากพวกเขามีความลำบากก็จงรอจนกว่าจะสะดวก และหากพวกท่านยกให้ก็จะเป็นการดีกว่าสำหรับพวกท่าน หากพวกท่านรู้ " ( 280 อัลบากอเราะต์ )

หรือหะดิษที่ว่า

" มีชายคนหนึ่งซื้อที่ดินจากอิสรออีลคนหนึ่ง หลังจากนั้นก็ขุดพบภาชนะโบราณบรรจุทองคำมากมาย จึงเอาไปคืนเจ้าของที่ดิน แต่เขาไม่รับโดยกล่าวว่า " ฉันขายให้ท่านไปแล้ว ทั้งที่ดินและสิ่งที่อยู่ในนั้นทั้งหมด " แต่ผู้ซื้อแย้งว่า " ฉันซื้อเฉพาะที่ดินเท่านั้น " ทั้งสองฝ่ายต่างโต้แย้งกันไม่มีใครยอมใคร จึงพากันไปหาศาสดาของพวกเขา ศาสดาจึงถามว่า " ท่านมีบุตรชายหรือไม่ " เขาตอบว่า มี และถามว่า ท่านมีบุตรสาวหรือไม่ " เขาตอบว่า มี ท่านจึงให้ทั้งสองสมรสกันและมอบทองคำให้แก่ทั้งสอง

ล้วนเป็นเรื่องไร้แก่นสารสำหรับพวกเขา

4. การปกป้องชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อัลลอฮ์กล่าวว่า

" ผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิได้เป็นการฆ่าทดแทนชีวิตหนึ่ง

หรือ(ฆ่าโดย)สร้างความเดือดร้อน ก็เป็นเสมือนการฆ่า

คนทั้งมวล "

ท่านศาสดา ศอลฯ กล่าวว่า

لزوال الدنيا أهون على الله من قتل رجل مسلم رواه الترمذي

" สำหรับอัลลอฮ์แล้ว ให้โลกนี้พินาศไปยังเป็นเรื่องเล็ก

กว่าการฆ่าศรัทธาชนหนึ่งคน "

รายงานโดย ติรมิซีย์ นะซาอีย์ และอิบนุอบีชัยบะต์

สุภาษิตกล่าวว่า " ฆาตกรรมปกป้องฆาตกรรม "

อิสลามบัญญัติกฎเกณฑ์ว่าด้วยการฆ่าทดแทน ที่ทำให้อาชญากรเกรงกลัวการละเมิดต่อชีวิตและร่างกายผู้อื่น เพราะว่าหากเขารู้ว่าจะต้องถูกลงโทษทดแทนเหมือนกับที่เขาทำต่อชีวิตหรือร่างกายผู้อื่น ก็จะต้องขบคิดอย่างหนักก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไป

ปัจจุบัน ประเทศเจริญแล้วยกเลิกกฎหมายตาต่อตาฟันต่อฟันไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ แล้วทดแทนด้วยบทลงโทษเพียงเบาๆ ที่ไม่สามารถปกป้องสังคมได้ ทำให้การฆาตกรรมแพร่หลายอย่างยิ่ง

อิสลามจึงกำจัดปัญหานี้อย่างถอนรากถอนโคน ด้วยการบัญญัติกฎเกณฑ์อันยุติธรรมอย่างยิ่ง

ท่านศาสดากล่าวว่า

" การแก้แค้นทดแทนในเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน ในสมัยญาฮิลียะต์ ถูกยกเลิกภายใต้เท้าของฉันนี้ การแก้แค้นอันแรกที่ถูกยกเลิกคือ คดีของรอบีอะต์ บินฮาริษ บินอับดุลมุตตอลิบ "

5. ท่านศาสดา ศอลฯ ยังให้ความสำคัญกับสิทธิสตรี ซึ่งเป็นสิ่งที่มุสลิมปัจจุบันจะต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าจารีตประเพณี และมรดกทางวิชาการของมุสลิมในเรื่องนี้เจือปนด้วยสิ่งขัดแย้งกับบทบัญญัติของอิสลามเป็นอย่างยิ่ง ตรงข้ามกับยุโรปที่ละเลยเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิง

อาหรับเก่าก่อนไม่ยอมรับสิทธิใดๆของสตรี ส่วนหนึ่งถึงกับสังหารทารกหญิงเสียเพื่อป้องกันความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เมื่ออิสลามมาถึงก็ทำการลบล้างสิ่งเหล่านั้นเสียสิ้น อิสลามถือว่าผู้หญิงเป็นคู่ชีวิตของผู้ชาย มีความเท่าเทียมกัน แต่มีหน้าที่แตกต่างกันในบางด้าน การถือว่าผู้ชายต้องเหนือกว่าผู้หญิงด้วยเหตุผลว่าเป็นผู้ชายเท่านั้น เป็นเรื่องงมงายไร้สาระ

ด้วยเหตุดังกล่าวอิสลามจึงปฏิเสธจารีตอาหรับเก่าก่อน แล้วสถาปนาสังคมใหม่บนพื้นฐานใหม่ แต่ต่อมาความเฉไฉไขว้เขวในเรื่องสิทธิสตรีก็เข้ามาครอบงำอาหรับ พร้อมๆกับความหลงผิดอื่นๆ เช่น ความแตกแยก เผ่านิยม การสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ จารีตอาหรับที่ผิดๆ ทำให้สตรีเสียโอกาสในชีวิตอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา การประกอบศาสนกิจ การปฏิรูปสังคม และการเรียกร้องสู่ความดีงาม

ท่านศาสดาจึงกล่าวว่า

" มนุษย์ทั้งหลาย พวกท่านมีหน้าที่ต่อสตรี และมีสิทธิต่อพวกนางเช่นกัน

" สตรีเป็นผู้ช่วยของพวกท่าน นางเป็นผู้อ่อนแอมาก พวกท่านสมรสกับนางพร้องกับหน้าที่ที่อัลลอฮ์มอบหมายให้แก่พวกท่าน ท่านมีเพศสัมพันธ์กับพวกนางได้ด้วยคำของอัลลอฮ์ พวกท่านจงเกรงกลัวต่ออัลลอฮ์ในเรื่องสตรี และจงมอบสิ่งที่ดีๆให้กับพวกนาง ฉันได้ชี้แจงแก่พวกท่านแล้วหรือไม่

พวกเขาตอบว่า ใช่

ท่านจึงกล่าวว่า โอ้อัลลอฮ์จงเป็นพยานด้วยเถิด "

ข้อห่วงใยของมหาศาสดาที่มีต่อประชาชาติของท่านที่เป็นสตรี ที่ถึงกับต้องนำมาตักเตือนครั้งสุดท้ายก่อนจะกลับไปสู่อ้อมแห่งองค์ผู้ทรงเมตตา มีนัยสำคัญที่จะสื่อต่อมุสลิมปัจจุบันว่า มุสลิมมีปัญหาในเรื่องสิทธิสตรีอย่างรุนแรง ในระดับเดียวกับข้อห่วงใยเรื่องการละเมิดต่อชีวิต ทรัพย์สินและเกียรติยศ ความแตกแยกของสังคมมุสลิม และอื่นๆ

อิสลามบัญญัติให้ผู้ชายต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ผู้หญิง ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย สิ่งนี้พบหรือไม่ในสังคมมุสลิมปัจจุบัน ถ้ามีก็มีอยู่ให้ควรค่ากับความห่วงใยของท่านศาสดาบ้าง

อิสลามบัญญัติให้มุสลิมให้ความเสมอภาคระหว่างลูกๆของตน หากจะให้มากกว่าก็จงให้แก่ลูกหญิง สังคมมุสลิมตระหนักหรือไม่

ฉะนั้น คำพูดที่ว่า " จงมอบสิ่งที่ดีๆให้กับพวกนาง " จึงสื่อความหมายให้มุสลิมหวนกลับมาทบทวนข้อผิดพลาดของตนในเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที เพราะว่าในการปราศรัยครั้งนี้ท่านศาสดา ศอลฯ ให้ข้อคิดไว้ว่า

" ผู้อยู่ที่นี่จงนำไปบอกต่อกับผู้ที่ไม่มา เพราะว่าบางทีผู้รับทราบจากคำบอกเล่าอาจเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากกว่าผู้ที่ได้ยินเองก็ได้ "

 

หมายเลขบันทึก: 101307เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2007 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • อัสสะลามุอะลัยกุม ครับอาจารย์ آل حسين
  • แวะเข้ามาอ่านครับ
  • ดีใจครับที่อาจารย์เข้ามาเขียนที่นี่และขอต้อนรับสู่ gotoknow ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท