ตรวจสอบ หรือ ทำลายล้าง


เมื่อเกิดการตรวจสอบ ประเมินผลการทำงาน ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงการบริหารงานงบประมาณ ภายใต้ภาพสะท้อนที่สั่นคลอนต่อองค์กรสร้างสรรค์องค์ความรู้ของประเทศไทย

แม้ไม่ชื่นชอบใน Head Line

แต่คิดว่าเนื้อความข่าวสาร

 

ล้วนสร้างผลกระทบ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. และแรงสะท้อนบางอย่าง ต่อพัฒนาการเพื่อสร้างองค์ความรู้ในประเทศไทย

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้คน ผู้ปฏิบัติงาน และผู้เชี่ยวชาญที่กำลังผลักดันกระบวนการในเชิงนโยบาย ในทิศทางของการริเริ่ม เพิ่มเติม หรือ กระทั่งกระบวนการตรวจสอบ พิจารณา และประเมินผลในเชิงนโยบาย

 

ดังนั้นจึงนำเสนอเนื้อหาข่าวสาร เพื่อร่วมฟังเสียงแลกเปลี่ยนของชุมชนแห่งการเรียนรู้ ว่ามีทัศนคติเช่นไร ต่อการผลักดัน พัฒนา และสร้างสรรค์องค์กรที่มีผลต่อการพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศไทย

 

อย่างน้อยน่าจะถอดบทเรียน ต่อการขับเคลื่อนนโยบายใหม่ในอนาคต

 

เพื่อต้องการคำตอบ - ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

จึงอยากทราบแนวคิด - ทัศนคติ - ความคิดเห็น - ต่อกระบวนการตรวจสอบในเชิงนโยบายดังกล่าว

 

อ้างอิงข้อมูล

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000064108

ล้าง"สบร."ซากระบอบทักษิณ ผลาญเงินแผ่นดินกินพุงกาง
โดย ผู้จัดการรายวัน 4 มิถุนายน 2550 01:23 น.
       คณะกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ชุดใหม่เร่งกวาดล้างซากเดนระบอบทักษิณที่เสวยสุขเปรมปรีดิ์จากภาษีประชาชน แฉ “พันศักดิ์ และพวก” ตั้งเงินเดือนกันเองแพงลิบลิ่ว ระดับผอ.รับไปเลยเดือนละ 150,000 - 300,000 บาท รวมทั้งผลประโยชน์อื่นอีกร่วมแสน แต่ฝีมือบริหารสุดห่วย ผลงานพลาดเป้าทั้งองค์กร
       

       การจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. และหน่วยงานเฉพาะด้านที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสแสวงหาความรู้และพัฒนาความรู้ความสามารถในสาขาต่างๆ ที่หลากหลาย เพิ่มพูนทักษะ ภูมิปัญญา ฯลฯ นั้น เป็นหลักการที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อสังคมไทยในภาพรวม
       
       แต่อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 3 ปี ระหว่าง 2547 – 2549 ที่ผ่านมา การดำเนินงานของ สบร. กลับไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ กระทั่งอาจสรุปได้ว่า หน่วยงานดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อให้พวกพ้องบริวารเข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ส่วนตนจากเงินภาษีของประชาชนที่ทุ่มเทลงไปให้องค์กรนี้มากกว่าความมุ่งมั่นที่จะให้ สบร. เป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้
       
       รายงานการตรวจสอบประเมินผล สบร. และหน่วยงานเฉพาะด้านของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งสรุปผลตรวจสอบเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2550 และรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานของ สบร. ภายใต้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ หรือบอร์ดชุดใหม่ เมื่อกลางเดือน พ.ค. 2550 ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หน่วยงานดังกล่าวใช้จ่ายเงินอย่างไม่ประหยัดและไม่คุ้มค่า การกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้อำนวยการของ สบร. และหัวหน้าหน่วยงานเฉพาะด้านไม่เหมาะสม
       
       ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานกรรมการ สบร. ชุดใหม่ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาอัตราเงินเดือนและผลตอบแทนของผู้บริหาร สบร. ไม่เท่ากันและมีเกณฑ์การพิจารณาต่างกัน บางแห่งรับเงินเดือนสูงมากถึง 300,000 บาท ไม่นับค่าตอบแทนอื่นๆ อีกร่วมแสนบาท ขณะที่การใช้จ่ายต่างๆ เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ มีความฟุ่มเฟือยเกินเหตุ ไม่จำกัดจำนวนคนเดินทาง หรือจำนวนครั้งที่เดินทาง นั่งเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาส พักโรงแรมระดับห้าดาว เรื่องพวกนี้บอร์ดใหม่จึงเข้ามาจัดการใหม่ให้มีบรรทัดฐานเดียวกันและให้มีความเหมาะสม มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ
       
       ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของบอร์ด สบร. ระบุว่า อัตราเงินเดือนของผู้บริหาร สบร. ในชุดที่ผ่านมา พบว่า นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานสำงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ รับเงินเดือนๆ ละ 150,000 บาท และผลประโยชน์อื่น 37,500 บาทต่อเดือน ในช่วงปี 2547 – 2549
       
       ส่วนศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ นายไชยยง รัตนอังกูร ตำแหน่งผู้อำนวยการ รับเงินเดือนในช่วงปี 2547 เดือนละ 150,000 บาท ผลประโยชน์อื่น 37,500 บาท ส่วนปี 2548 ปรับค่าตอบแทนเป็นรับเงินเดือนๆ ละ300,000 บาท ผลประโยชน์อื่น 37,000 บาท และปี 2549 อัตราเงินเดือน 300,000 บาท ส่วนผลประโยชน์อื่น ปรับขึ้นมาเป็น 75,000 บาท
       
       ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ นางงามมาศ เกษมเศรษฐ์ ในปี 2547 รับเงินเดือน 175,000 บาท ผลประโยชน์ฯ 37,000 บาท ปี 2548 – 2549 รับเงินเดือน 280,000 บาท ผลประโยชน์อื่น 70,000 บาท
       
       สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ นางสิริกร มณีรินทร์ รับตำแหน่งประธานกรรมการตั้งแต่เดือน ก.ค. 2547 และปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ เริ่มรับเงินเดือนตั้งแต่ ธ.ค. 2547 ในอัตราเดือนละ 125,000 บาท ต่อมาในปี 2548 – 2549 ปรับเพิ่มเป็นเดือนละ 143,750 บาท และผลประโยชน์อื่น 31,250 บาท
       
       ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม นางสาวนราธิป พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการ เริ่มรับเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2547 – 2549 อัตราเดือนละ 150,000 บาท ผลประโยชน์อื่น 37,500 บาท
       
       สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ เริ่มรับเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2547 ในอัตราเดือนละ 200,000 บาท จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2548 และรับผลประโยชน์อื่น ตั้งแต่ ธ.ค. 2547 – 2548 เดือนละ 50,000 บาท จากนั้น ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร ทำหน้าที่รักษาการประธานกรรมการและปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ โดยรับเบี้ยประชุมรายเดือนในฐานะประธานกรรมการ เดือนละ 25,000 บาท แต่มิได้รับเงินเดือน
       
       ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีววิทยาศาสตร์ฯ ศ.ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ทำหน้าที่รักษาการผอ. ตั้งแต่18 มิ.ย. 2547 – 28 ธ.ค. 2548 โดยรับเงินเดือนๆ ละ 162,500 บาท แต่ไม่ได้รับผลประโยชน์อื่น ปัจจุบัน ศ.ดร.พรชัย เป็นประธานกรรมการ ส่วนนายงชัย ทวิชาชาติ ผอ. รับเงินเดือนๆ ละ 260,000 บาท และผลประโยชน์อื่น 65,000 บาท
       
       ประเด็นอัตราเงินเดือนที่สูงและแตกต่างกันมากข้างต้น สตง. ระบุไว้ในรายงานการตรวจสอบว่า ให้แก้ไขใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1) ให้พิจารณาทบทวนอัตราเงินเดือนของผู้อำนวยการ สบร. ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการได้รับเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นของผอ. ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมติครม.เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2547 สำหรับอัตราเงินเดือนของผอ.สนง.ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความเป็นเลิศฯด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย หลังจากครบกำหนดสัญญาจ้างแล้วให้พิจารณาทบทวนอัตราเงินเดือนให้ไปตามเงื่อนไขดังกล่าวเช่นเดียวกัน
       
       2) ให้มีการประเมินผลงานของผอ. สบร.และหัวหน้าหน่วยงานเฉพาะด้านอย่างจริงจังเป็นประจำทุกปี และ 3) ให้นำเสนอรัฐมนตรีที่กำกับดูแล และ ก.พ.ร. ตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และหน่วยงานเฉพาะด้านว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดำเนินงาน หรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงหรือมีความซ้ำซ้อนให้พิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขตามหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนและผลตอบแทนอื่น ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 47
       
       ขณะที่การว่าจ้างผู้บริหาร สบร. ช่วงที่ผ่านมาด้วยอัตราเงินเดือนสูง แต่ฝีมือการบริหารกลับไม่มีผลงานที่ชัดเจนและเกือบทุกหน่วยงานไม่สามารถดำเนินงานหรือกิจกรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
       
       ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวว่า จากการศึกษาวิเคราะห์สถานภาพการปฏิบัติงานของ สบร. และหน่วยงานเฉพาะด้าน ซึ่งบอร์ดมอบหมายให้ที่ปรึกษาด้านวิชาการ คือ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ เป็นหัวหน้าโครงการศึกษาวิเคราะห์ ได้สรุปประเด็นผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานเปรียบเทียบกับแผนและงบประมาณที่ได้รับ พบว่าเกือบทุกหน่วยงานไม่สามารถดำเนินงาน/กิจกรรมได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้แต่ละปี ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนการใช้งบประมาณแต่ละปีค่อนข้างน้อย ทำให้มีเงินเหลือข้ามปีและสัญญาผูกพันข้ามปีหรือข้ามสองปี โดยงบประมาณที่ สบร. ได้รับในช่วง 3 ปี จำนวน 5,600 ล้านบาทนั้น มีเงินคงเหลือ ณ วันที่ 30 พ.ย. 2549 ถึง 2,466 ล้านบาท หมายถึงประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณต่ำ
       
       นอกจากนั้น การดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน ยังไม่ได้สะท้อนถึงการจัดลำดับความสำคัญของภารกิจและกิจกรรมที่ควรดำเนินการก่อนหลัง ไม่คำนึงถึงการต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้จากแหล่งความรู้และหน่วยงานอื่น รวมทั้งขาดความชัดเจนในกลุ่มเป้าหมายของกิจกรรม ทั้งยังไม่มีการประสานงานในภารกิจที่ใกล้เคียงหรือเหลื่อมกันอยู่หรือในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน รวมทั้งขาดการประสานงานการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
       
       การวิเคราะห์ผลงานของ สบร. ยังชี้ว่า ความล่าช้าในการดำเนินงาน การชะลอโครงการ การยกเลิกโครงการ รวมทั้งการไม่ได้ดำเนินงานตามภารกิจและวัตถุประสงค์การจัดตั้งหน่วยงาน มีสาเหตุจากปัจจัยสำคัญๆ เช่น ความไม่พร้อมของหน่วยงาน ความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ.

 

หมายเลขบันทึก: 100764เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2007 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท