การประชุมการจัดขนาดโรงพยาบาลตามGIS


หากปฏิบัติไม่ได้จริงหรือเกิดปัญหามาก จะทำให้แนวคิดดีๆถูกปฏิเสธหรือล้มเหลวไปได้

                เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา ผมได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดตากร่วมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาดเพื่อเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการจัดทำข้อมูลกำลังคนด้วยระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศ(GIS) ที่ห้องประชุมชั้น 9 อาคาร 7 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากทางกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายนำระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนความต้องการกำลังคนและได้มีการนำไปใช้ในการจัดสรรกำลังคนมาระยะหนึ่งแล้ว

            ผมเดินทางจากโรงพยาบาลบ้านตากเวลาตี 3 ด้วยรถของโรงพยาบาลถึงที่กระทรวงสาธารณสุขประมาณ 2 โมงเช้า กว่าจะเริ่มประชุมก็เกือบ 10 โมงเช้า (คิดในใจคราวหน้าออกตี5ก็ทัน) การประชุมวันนั้นเป็นการชี้แจงเหตุผลความสำคัญและวิธีการนำไปใช้ในระดับเขตต่างๆโดยทีมที่เป็นผู้คิดระบบ 3 คนคือ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา นพ.นพพร ชื่นกลิ่นและนพ. เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ หลังการชี้แจงผมก็รู้แล้วว่า ชะตากรรมของโรงพยาบาลบ้านตากจะเป็นอย่างไร นโยบายนี้เป็นข้อจำกัดของการพัฒนาโรงพยาบาลบ้านตากอย่างมาก ในช่วง 11 โมงเช้า มีการแบ่งเขตเพื่อพิจารณาการจัดระดับโรงพยาบาลว่าจะเป็นทุติยภูมิระดับไหนหรือตติยภูมิระดับไหน  ก็มีการพยายามต่อรองกันโดยมีท่านผู้ตรวจหรือท่านสาธารณสุขนิเทศของแต่ละเขตเป็นประธาน เสร็จประชุมประมาณ 13.00 น. รับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้วประมาณบ่ายสองโมงก็เดินทางกลับ ถึงตากประมาณ 5 โมงสี่สิบห้า ได้แวะไปเยี่ยมลูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ผ่าตัดไส้ติ่งที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้วก็เลยไปเปิดคลินิกส่วนตัวที่บ้านตากได้ทันตอนหกโมงกว่าๆ ก็มีคนไข้มาตรวจเกือบยี่สิบคน กลับบ้านสองทุ่มแล้ว ทานอาหารเย็นแล้วก็ขึ้นไปเคลียร์งานในห้องทำงานจนถึง 4 ทุ่มครึ่ง ลงมาที่บ้านเตรียมบรรยายKMที่จะบรรยายวันรุ่งขึ้นที่เขื่อนภูมิพล กว่าจะได้นอนก็เกือบเที่ยงคืน

                แนวคิดของการนำระบบGIS เป็นสิ่งที่ดี และจะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในการเปลี่ยนการจัดสรรทรัพยากรจากจำนวนเตียงแบบเดิมที่มีลักษณะมือใครยาวสาได้สาวเอา(จริงๆก็มีเกณฑ์กำหนด แต่เมืองไทย อะไรๆก็มีข้อยกเว้น) ถ้าขนาดเตียงใหญ่จะได้งบประมาณ กรอบอัตรากำลังเยอะ แต่ถ้าเป็นระบบGISจะพิจารณาจากปัจจัยหลักในเรื่องการเข้าถึงสถานบริการ(ดูจากระยะทางและเวลาเดินทาง) กับระบบส่งต่อ(ดูจากทิศทางที่จะส่งไปสถานบริการที่สูงกว่า) และมีเกณฑ์รองก็คือความประหยัดในขนาด(ดูจากจำนวนประชากร) รายละเอียดผมได้นำเอาลงเล่าไปแล้วในรายละเอียดหลักเกณฑ์ สามารถอ่านได้ในเว็บบล็อกนี้ ระบบนี้ก็มีข้อดีมากในแง่ของการกระจายทรัพยากรอย่างเหมาะสมตามระยะทางและจำนวนประชากร แต่ก็น่าจะมีผลเสียด้วยเหมือนกัน

                ระบบนี้จะเป็นประกาศิตที่ตัดสินทิศทางการพัฒนาโรงพยาบาล มีหลายแห่งที่ผู้อำนวยการพยายามที่จะพัมนาเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลเพื่อให้ประชาชนที่ตนเองรับผิดชอบได้สิ่งที่ดียิ่งขึ้น จนสามารถขยายโรงพยาบาลรองรับการบริการของประชาชนได้ดี เป็น 60 เตียง 120 เตียง แต่พอถูกเกณฑ์นี้จับต้องเป็น 2.1 แล้วไม่สามารถมีแพทย์เฉพาะทางได้ ก็กลายเป็นข้อจำกัดที่คนในเขตอำเภอนี้ ไม่สามารถมีแพทย์เฉพาะทางมาประจำที่โรงพยาบาลได้ หลายโรงพยาบาลก็จะถูกกำหนดอัตราจำนวนเตียงที่ควรจะเป็นต่ำกว่าที่มีจริงปัจจุบัน แม้ทีมงานจะบอกว่าใครที่โตอยู่แล้ว ก็ไม่ได้ไปบีบให้ลดขนาดลง แต่เมื่อมองดูการจัดสรรเงิน จัดสรรคน ที่จัดตามที่ควรจะเป็น ไม่ได้จัดตามที่เป็นอยู่แล้ว มันก็เหมือนกับการบีบให้ลดขนาดลงทางอ้อมหรือเป็นการบอนไซกันโดยในที่สุดถ้าเป็นแบบนี้ ในอนาคตก็จะต้องลดขนาดลงอยู่ดีเพราะขาดการสนับสนุน

                ซึ่งในการพัฒนานั้น ผมมีความเห็นว่า การกำหนดกติกาใดๆ ไม่ควรมีความเป็นอุดมคติเกินไป ควรมองความเป็นจริงของสังคมด้วย ที่ไหนโตอยู่แล้ว ดีอยู่แล้วก็ควรให้เขาคงสภาพได้ดีเหมือนเดิม ส่วนที่ต้องพัฒนาก็ค่อยๆเพิ่มไปก็ได้ ไม่ใช่จะต้องให้โตอย่างก้าวกระโดด เพราะการพัฒนาโรงพยาบาลนั้น ไม่ใช่แค่อัดงบประมาณ จัดกำลังคนเข้าไปเสริมเท่านั้น ความสามารถในการบริหารจัดการของผู้บริหารและทีมงานของโรงพยาบาลก็มีความสำคัญ เพราะเรามักพบว่ามีหลายแห่งที่มีทรัพยากรอยู่มากแต่การใช้งานกับไม่คุ้มกับที่มีอยู่ ผมได้คุยกับพี่ๆผู้อำนวยการหลายคนที่พยายามพัฒนาโรงพยาบาลมานานด้วยความทุ่มเท หาเงินบริจาค ดิ้นรนมาอย่างมากจนโรงพยาบาลเติบโต พอมาเจอแบบนี้ก็เกิดอาการเซ็งไปเลย  เราจะพบว่าการกระจายทรัพยากรแบบนี้ หลายแห่งค่อนข้างจะฝืนธรรมชาติเพราะโรงพยาบาลสามารถเติบโตได้ตามเกณฑ์แต่อาจไม่ไปกับการขยายความเจริญของเมือง นโยบายทางทหารหรือฝ่ายปกครอง ก็จะส่งผลให้มีโรงพยาบาลที่โตขึ้น แต่ไม่มีหมอหรือเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะให้บริการได้มากขึ้น เป็นต้น

            ในการกำหนดกฎเกณฑ์นั้นการใช้แค่ระยะทางและจำนวนประชากร ไม่น่าจะเพียงพอและเหมาะสมที่จะใช้กับทุกพื้นที่ เพราะก็เป็นเหมือนการตัดเสื้อโหลเหมือนที่เคยเป็นมาเพียงแต่เปลี่ยนคนออกแบบใหม่และเปลี่ยนแบบเสื้อใหม่เท่านั้น  ในทางการออกกฎหมายมีคำพูดว่า “ชนชั้นใดออกกฎหมาย ก็เพื่อชนชั้นนั้น” ใครออกกฎคนนั้นก็มักจะได้ประโยชน์มากที่สุด ในการใช้ระบบนี้ควรมองที่ลักษณะของประชากร ลักษณะทางด้านสังคมและปัจจัยทางด้านยุทธศาสตร์อื่นๆด้วย เพราะหากปฏิบัติไม่ได้จริงหรือเกิดปัญหามาก จะทำให้แนวคิดดีๆถูกปฏิเสธหรือล้มเหลวไปได้
หมายเลขบันทึก: 10061เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2005 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ชญาภา เพิ่มพรสกุล

น่าจะมีการคุยแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทำงานที่เข้าร่วมประชุมที่สป. และเล่าประสบการณ์ที่พบหรือประสบ เพราะจะช่วยให้เราได้เห็นมุมมอง และจุดแข็งจุดอ่อนที่เป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างเช่น จะติดตามศึกษาจากการนำไปปฏิบัติ โดยให้ส่วนกลางผู้ริเริ่มติดตามด้วย เพราะที่ผ่านมา เรามักจะนำเทคโนโลยีของต่างประเทศ(โดยเพาะของคนตะวันตกมาใช้แบบง่ายๆ แต่ปฏิบัติยาก แล้วก็ต้องเลิกไป) ควรจะต้องศึกษาการประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย หรือใช้หลักการ เพราะการนำระบบมาใช้กับคน คงจะไม่ง่ายเหมือน ทางกลุ่มที่ทำกับพื้นที่ หรือระบบไฟฟ้า คนมีชีวิตจิตใจนะคะ ซึ่งอาจจะเหมือนการนำบุคลากรสาธารณสุขมาเป็นหนูทดลองที่ต้องเจ็บตัว และการพัฒนางานก็เหมือนจะถอยหลังอยู่เรื่อยๆ สังเกตไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท