อนุทิน 20140


จำเรียง เรืองมาก
เขียนเมื่อ

6 ก.ย. 50

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วดิฉันได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรค่ายเยาวชนสดใสไร้ควันบุหรี่ให้กับโรงเรียนหนึ่ง   เป็นโรงเรียนขยายโอกาสฯ มีนักเรียนประมาณ  1 พันกว่าคน  เมื่อไปถึงดิฉันมีความประทับใจในการต้อนรับของผู้บริหารและคณาจารณ์มาก  โรงเรียนนี้มีการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพหลายอย่าง ซึ่งมีผลงานเชิงประจักษ์มากมาย   และหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนคือค่ายเยาวชนสดใสไร้ควันบุหรี่  ทีมงานของจัดทำค่ายซึ่งประกอบไปด้วย โรงเรียน ผู้ปกครอง เทศบาลทุกคนต่างตั้งใจทำงานนี้มาก  มีนักเรียนเข้าร่วม จำนวน  80  คน  หลังจากทีมวิทยากร ทำกิจกรรมละลายพฤติกรรมเด็ก   และต่อด้วยกิจกรรมการประเมินสุขภาพ  การสูบบุหรี่และการใช้สารเสพติด  พบว่าเด็กที่เริ่มสูบอายุน้อยที่สุดคือ 9 ปี ยังมีการยอมรับว่าสูบเนื้อ (กัญชา) ร่วมด้วย 1 -3 ครั้ง/สัปดาห์  ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้เข้าค่ายทั้งหมด  อีกทั้งมีการดื่มสุรา เบียร์ ยาดอง ร่วมด้วย   ระหว่างการเข้าค่ายทางโรงเรียนจัดให้มี อปพร. ตำรวจดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้นักเรียนกลุ่มนั้นลักลอบใช้ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ค่าย 5  วัน  ดังนั้นในช่วงดังกล่าว เด็กจะมีอาการถอนยา (ทั้งบุหรี่และกัญชา) คือหงุดหงิด กระวนกระวาย สมาธิลดลง ฯลฯ วิทยากรได้จัดน้ำยาอมอดบุหรี่ไว้บริการเมื่อเด็กอยากสูบบุหรี่ ซึ่งก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง  พร้อมกับจัดกิจกรรมเสริมสร้างพลังเพื่อการเลิกสารเสพติด และเสริมสร้างทักษะในการหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นเพื่อป้องกันการกลับไปใช้ซ้ำ เพื่อนำไปสู่การเลิกที่ยั่งยืน

ต้องขอชื่นชมนะคะว่าน้องๆที่เข้าโครงการต้องการที่จะเลิกสูบทุกคน  และมากกว่าครึ่งหนึ่งเคยพยายามเลิกบุหรี่ด้วยตนเองมาแล้ว  

แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือ กลุ่มย่อยที่ดิฉันรับผิดชอบ เด็ก3 คน สารภาพว่าเคยนั่งดูรุ่นพี่ที่ฉีดแป๊ะขาว (ผงขาว) และเคยเห็นรุ่นพี่ลงแดง ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้มีภาวะเสี่ยงที่จะไปลองเสพ อีกทั้งเด็กสารภาพว่าเคยมีเพศสัมพันธ์ และมีการเปลี่ยนคู่นอน โดยที่ได้ใช้ถุงยางอนามัย  ดิฉันจึง มีโอกาสที่จะเล่าเด็กในกลุ่มนั้นถึงการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดชนิดต่างๆ  รวมทั้งการดูแลป้องกันตัวเองไม่ไห้ได้รับเชื้อโรคเอดส์จากผู้อื่น ไม่ว่าทางเพศสัมพันธ์หรือจากการใช้สารเสพติด

 

การจัดทำค่ายของโรงเรียนในครั้งนี้น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับโรงเรียนอื่นได้  เพราะมีทีมงานที่แข็มแข็งมาก  ซึ่งจะเห็นได้จากการนำ ผู้ที่มีส่วนได้เสีย  เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน คือ เด็กสมัครใจเลิกเองโดยผ่านการเขียนเรียงความ  คณาจารณ์ สนับสนุนให้เกิดโครงการ  ผู้ปกครองเข้ามาฟังในวันแรกของการประชุม   เทศบาลให้งบสนับนุน  ตำรวจดูแลความเรียบร้อยและได้ข้อมูลที่เป็นจริง 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท